เบื้องลึกวงกินข้าว ‘สื่อ’-สปท. ถกร่าง กม.ควบคุม

รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวความคิดปฏิรูปประเทศ หนึ่งในนั้นมีเรื่องปฏิรูปสื่อรวมอยู่ด้วย

ภายหลังตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการเปิดรับสมัครสมาชิก สปช. ซึ่งในส่วนของสื่อ หารือกันว่าสมควรเข้าร่วมหรือไม่ เนื่องจากไม่ไว้ใจ

ที่สุดได้ข้อสรุปว่า หากไม่เข้าร่วมแล้วแนวทางปฏิรูปสื่อออกมาไม่เป็นผลดีกับสื่อ ยากจะแก้ไขภายหลังเหมือนที่ผ่านมา จึงตัดสินใจเข้าร่วมปฏิรูปประเทศ สมาคมนักข่าวฯส่งนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ เข้าไปเป็นตัวแทนใน สปช.

ขณะเดียวกันได้ทำคู่ขนาน โดยแต่งตั้งคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป มาจาก 5 องค์กรหลักคือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เพื่อติดตามเรื่องนี้

Advertisement

วันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวฯ เล่าว่า ในฐานะคณะทำงานสื่อ มีโอกาสเข้าไปคัดค้านและให้ข้อเสนอแนะต่อ สปช.หลายครั้ง เพราะทราบว่ามีการเสนอให้ตั้งสภาวิชาชีพ โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รับรองไว้ กระทั่ง สปช.ล้มเลิกไป และมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ามาสานต่อแทน งานด้านสื่อได้มีการแยกส่วนเป็นด้านสิ่งพิมพ์ ด้านวิทยุโทรทัศน์ ด้านสื่อออนไลน์ เป็นต้น

เริ่มเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลมากยิ่งขึ้น

วันชัยบอกว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกพับ มีการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ คณะกรรมการสื่อได้คัดค้านการตั้งสภาวิชาชีพต่อเนื่อง ในที่สุดนายมีชัยเห็นด้วยว่าเรื่องนี้ไม่ควรจะมี ควรจะเป็นเรื่องของสื่อจัดการกันเอง รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยจึงมีการตัดเรื่องนี้ออก

“นี่เป็นการยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก”

แต่หลัง สปท.เข้ามาดูเรื่องปฏิรูปสื่อ คณะด้านสิ่งพิมพ์ได้มีการส่งกฎหมายให้พิจารณา 2 เรื่องคือ ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตั้งสภาวิชาชีพ เรื่องนี้คณะทำงานสื่อได้เกาะติดมาตลอด เพราะรู้ว่ามีความพยายามจะผลักดันให้เกิดมาตั้งแต่แรก

ที่สำคัญ นอกจากตั้งสภาวิชาชีพแล้ว ยังจะให้มีการออกใบอนุญาตสื่อ แต่ทั้ง 2 เรื่องนี้ตัวแทนสื่อที่เข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการได้พยายามคัดค้านมาต่อเนื่อง

“ในระหว่างที่มีการดำเนินการเรื่องนี้ใน สปท. คณะทำงานสื่อได้ไปยื่นเรื่องคัดค้านอยู่หลายครั้ง ทุกครั้ง พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตรประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. มีท่าทีเหมือนจะรับฟัง แต่ช่วงนั้นก็มีข่าวภายในออกมาว่ายังมีความพยายามออกให้มีสภาวิชาชีพให้ได้ จึงมีแนวคิดว่าจะต้องขอคุยกับคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกัน จึงเป็นที่มาของการขอนัดคณะกรรมาธิการรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านช้อนเงินช้อนทอง ถนนพระราม 6 ในช่วงก่อนปลายปี 2559 ฝ่ายนั้นก็บอกว่าพร้อมจะรับฟัง และอยากอธิบายเหตุผลของเขาด้วย”

วันชัยเล่าว่า ที่โต๊ะอาหารวันนั้นแชร์ค่าอาหารคนละครึ่ง ตัวแทนสื่อมีนายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปเป็นแกนนำ ยืนยันชัดเจนว่าคัดค้านการตั้งสภาวิชาชีพ ซึ่งในการพูดคุยอยู่บนพื้นฐานของการที่ยังไม่มีทั้งเรื่องใบอนุญาตและการให้มีผู้แทนจาก 4 กระทรวงในโครงสร้างสภาวิชาชีพแต่อย่างใด

“วันนั้นตัวแทนสื่อบอกชัดเจนว่าเราขอปฏิรูปกันเองและมีเหตุผลชัดเจน ส่วนฝ่ายคณะกรรมาธิการพยายามอธิบายเหตุผลของเขา และบอกว่าจะให้มีการออกใบอนุญาตเหมือนอาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ หรือการมีใบอนุญาตขับขี่ แต่เรายืนยันว่าอาชีพสื่อไม่เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ไม่ใช่วิชาชีพเฉพาะเหมือนแพทย์ แต่คนทำงานด้านสื่อมาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ฝ่ายคณะกรรมาธิการมีทั้ง พล.อ.อ.คณิต พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ และที่ปรึกษาที่ติดตามมาอีก 3-4 คน ในจำนวนที่ปรึกษานี้มีคนหนึ่งมาจากภาคเอกชน ทำงานบริษัทเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่มีความคิดด้านสื่อสุดโต่งมาก มองไปถึงการคุมสื่อออนไลน์ทุกประเภท แต่คณะทำงานสื่อโต้แย้งว่าไม่ควร การสนทนาครั้งนั้นจบลงที่คณะกรรมาธิการยืนยันว่าอย่างไรเสียต้องมีการออกกฎหมาย และขอให้สื่อยื่นข้อเสนอเข้าไป จึงเป็นที่มาว่า คณะทำงานสื่อจะเสนอร่างกฎหมายฉบับปี 2552 ขององค์กรวิชาชีพสื่อไปประกอบการพิจารณา ซึ่งฉบับนี้อิงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 ที่รับรองในเรื่องของสิทธิเสรีภาพสื่อ”

วันชัยเล่าต่อว่า แต่หลังจากนั้นยังไม่ทันไร ได้ข่าวว่าคณะอนุกรรมาธิการได้เสนอกฎหมายเข้าคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ และมีการดัดแปลงเพิ่มเรื่องการออกใบอนุญาตเข้ามา และเพิ่มโครงสร้างให้มี 4 ปลัดกระทรวงโดยตำแหน่ง ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของการเข้ายื่นหนังสือคัดค้านที่รัฐสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560

“ผมต่อว่าคุณคณิต ไหนบอกว่าจะรอกฎหมายฉบับของสื่อ แต่เขาอ้างว่าแม้จะสรุปไปแล้ว แต่สามารถนำกฎหมายของสื่อไปแนบท้ายเพื่อพิจารณาพร้อมกันได้ แต่ผมได้โต้แย้งว่าแบบนี้ไม่มีความหมาย เพราะจะกลายเป็นแค่ความเห็นเสริมเท่านั้น เขาจึงสรุปว่าจะนำกฎหมายของเราเข้าไปพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นเขาเรียกคณะทำงานสื่อเข้าชี้แจง ก็เหมือนเดิมคือคัดค้าน แต่รอบนี้เขาไม่รับฟัง ยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมคือมีใบอนุญาตและสภาวิชาชีพ หากเป็นแบบนี้ โอกาสที่อำนาจรัฐจะเข้าไปแทรกแซงสูงมาก ยิ่งมีอำนาจออกและเพิกถอนใบอนุญาตยิ่งเป็นอันตรายสำหรับสื่อ เพราะหากสื่อจะตรวจสอบคนของรัฐ ตัวอย่าง ตรวจสอบปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างกรรมการชุดนี้ หากมีการตั้งหน้าม้าไปร้องเรียนก็จะทำให้การทำงานของสื่อไม่ราบรื่น อาจจะมีปัญหามากถึงขั้นเซ็นเซอร์ตัวเอง ทุกวันนี้ในยุค คสช. สื่อก็เซ็นเซอร์ตัวเองกันอยู่แล้ว เพราะไม่อยากมีปัญหา เพราะมีดจี้คอหอยอยู่”

วันชัยสรุปว่า การเจรจาวันนั้นถือว่าเป็นไปด้วยดี แต่อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจคนละด้าน

“เรายอมรับการกำกับ ขั้นที่ 1 คือ กำกับกันเองในแต่ละสื่อ ขั้นที่ 2 กำกับโดยองค์กรวิชาชีพสื่อ แต่หากจะมีขั้นที่ 3 คือสภาวิชาชีพและใบอนุญาต เราไม่เห็นด้วย เราเสนอว่าให้ยึดตามกฎหมายปี 2552 เรายืนยันว่าเราไม่ได้ไปตกลงด้วย”

จะว่าเหมือนคณะทำงานสื่อถูกหักหลังหรือไม่ วันชัยยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะไม่ได้ไปตกลงอะไรกันตั้งแต่ต้น เพียงแต่ก่อนเจรจาคณะทำงานสื่อมองโลกในแง่ดีว่าเขาจะรับฟัง

“แต่มาตอนนี้รู้สึกผิดหวังที่เขาไม่รับฟัง แถมยังกลับเอาการเจรจาในครั้งนั้นไปให้ข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำเหมือนเรารับรู้และเห็นชอบกับเรื่องนี้ เสียความรู้สึกมาก อย่างกรณีนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ที่เป็นหนึ่งในกรรมาธิการ สปท.คนเดียวของสื่อ และได้รับมอบหมายให้ดูด้านสิ่งพิมพ์ วันนั้นก็ไม่ได้ไปร่วมในโต๊ะอาหารด้วย แต่ถูกเอาชื่อมาอ้าง ทั้งๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะทำงานสื่อแค่เรื่อง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์เท่านั้น และขณะนี้ก็ถูกกดดันอย่างหนักเช่นกัน”

วันนี้ชัดเจนว่าสื่อไม่เอาด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ตื่นตัวกับเรื่องนี้อย่างมาก ส่วนจะยกระดับคัดค้านในประเด็นนี้อย่างไรต่อไป ต้องติดตาม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image