การปรากฏ ข่าวลือ ในเรื่อง “ปรับ ครม.” หรือแม้กระทั่งการโยนหินถามทางในเรื่องดึง พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติในทางการเมือง
ยิ่งเมื่อเข้าสู่บรรยากาศแห่งการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปที่แม้จะไม่มีการลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจก็ตาม
กระนั้น ที่ข่าวลือถูกปล่อยถึงขั้น “รัฐประหาร” นับว่าแปลก
จะรัฐประหารได้อย่างไร ในเมื่อสังคมเกิดความมั่นใจสูงอย่างยิ่งว่า พรรคก้าวไกล จะต้องถูกยุบอย่างแน่นอน เส้นทางของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายชัยธวัช ตุลาธน ย่อมสะดุด
จะรัฐประหารได้อย่างไร ในเมื่อภาพที่เห็นจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ด้านหนึ่งคือ นายทักษิณ ชินวัตร กลับมา ด้านหนึ่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ ยกมือให้ พรรคเพื่อไทย
และตลอดระยะเวลานับแต่เดือนสิงหาคม 2566 จนถึงเดือนเมษายน 2567 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็เดินหน้าต่อยตีกับทุกก้าวย่างอันมาจากพรรคก้าวไกลอย่างแน่วแน่และมั่นคง
คำถามที่ต้องให้ความสนใจก็คือ ข่าวลือเรื่องรัฐประหารถูกปล่อยออกมาอย่างไร จากภายนอก หรือจากภายใน
จุดเปลี่ยนเป็นอย่างมากในทางการเมืองเริ่มจากวาระที่ สมาชิกวุฒิสภา อันมาจากการแต่งตั้งโดยอำนาจแห่ง “รัฐประหาร” จะต้องหมดบทบาท
แม้จะมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงในกฎและกติกาอันกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่ก็เริ่มหวั่นไหว แปรปรวน
เป็นความหวั่นไหวเพราะสัมผัสได้ในบรรยากาศแห่งความตื่นตัวของสังคมที่เริ่มชัดเจนว่าอาจเกิดขบวนการเข้าไปย้อนศรในการเลือกตั้งอย่างแยบยล
ฝันร้ายจากสถานการณ์เลือกตั้ง #บอร์ดประกันสังคม ยังไม่ทันจางคลาย ก็เริ่มเกิดอาการฝันร้ายจากกรณีของการคัดสรรสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่
เป็นฝันร้ายที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นฝันร้ายที่อาจเกิดการป่วนและพลิกกระแสขึ้นได้จนมิอาจควบคุม
ทำนองเดียวกับสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566
ยิ่ง นายทักษิณ ชินวัตร เคลื่อนไหวยิ่งสร้างความหวาดกลัว เป็นความหวาดกลัวที่เกรงว่าสถานการณ์อาจมิอาจควบคุมบานปลาย
ข่าวลือในเรื่อง “รัฐประหาร” จึงถูก “ปล่อย” ออกมาเตือน
ภายในคำถามว่าด้วยแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหาร ท่าทีของกองทัพจึงได้รับการเฝ้ามองอย่างเป็นพิเศษว่าจะเลือกใช้วิธีรัฐประหารในการบริหารจัดการปัญหาหรือไม่
นี่คือบรรยากาศที่รัฐบาลกำลังประสบ นี่คือปัญหาที่พรรคเพื่อไทยจักต้องทำความเข้าใจและเผชิญหน้าอย่างรู้เท่าทัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง