‘ภัทรพงษ์’ ผิดหวังรบ. แก้ฝุ่นไม่คืบ แถมให้งบป้องกันไฟป่าน้อยมาก เหน็บ ‘เศรษฐา’ ทำงานแพ้แก๊งต้มตุ๋น เหตุ sms alert ไม่คืบ 

‘ภัทรพงษ์’ ผิดหวังรบ. แก้ฝุ่นไม่คืบ แถมให้งบป้องกันไฟป่าน้อยมาก เหน็บ ‘เศรษฐา’ ทำงานแพ้แก๊งต้มตุ๋น เหตุ sms alert ไม่คืบ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เป็นวันที่ 2

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ในการแก้ฝุ่นพิษและผลลัพธ์แตกต่างกัน โดยจะแจกแจงไว้ดังนี้ 1.ไฟเกษตร รัฐบาลได้ตั้งเป้าว่าจะลดการเผาในภาคการเกษตร 50 เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายเลย และในปีนี้เราพบอ้อยไฟไหม้กว่า 24 ล้านตัน หรือเป็นพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ สัดส่วนอ้อยไฟไหม้ในปีนี้ลดลงจากปี 66 ไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ กว่านายกฯ จะตกใจหีบอ้อยก็จะปิดอยู่แล้ว เพราะไม่มีงบ ที่จะภาคการเกษตรเลย จึงไม่แปลกใจที่ผลงานไม่เปลี่ยนไปจากรัฐบาลเดิม

2.ไฟป่า ตามที่นายกฯ ได้ย้ำว่าสามารถลดจุดฮอตสปอตในเดือน ม.ค.-ก.พ. ได้กว่า 90% พื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะแบ่งเป็นพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ดูแลโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเขตป่าสงวน ดูแลโดยกรมป่าไม้ ซึ่งภารกิจไฟป่าถูกโอนจากกรมป่าไม้ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตนเคยชี้ให้นายกฯ เห็นแล้วทั้งสองครั้ง ว่าท้องถิ่นได้ของบไป 1,709 ล้านบาท แต่รัฐบาลชุดนี้ให้ไปแค่ 50 ล้านบาทในการป้องกันไฟป่า หนำซ้ำยังมีการประกาศจากคณะกรรมการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นเข้าไปช่วยดับไฟในเขตป่าสงวนอีก ซึ่งจุดฮอตสปอตจาก 5 จังหวัดภาคเหนือ ก็ไม่ได้ลดลงและยังเพิ่มขึ้นกว่าเดิม การเตรียมการรับมือปัญหาก็ไม่มี กรมอุทยานฯ บางแห่งที่มีพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ แต่มีเจ้าหน้าที่พร้อมดับไฟกว่า 30 คน อุปกรณ์ก็ไม่พร้อม ยิ่งไปกว่านั้น คือการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบกลับเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นแค่ว่า วันนี้ฝนตก ฝุ่นไม่มีแล้ว ขนาดเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลประเด็นนี้โดยตรง ยังให้เราพึ่งพาธรรมชาติ

Advertisement

3.ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน ประเทศไทยส่งออกเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละไม่ต่ำกว่า 14,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในต่างประเทศกว่า 5 ล้านไร่ และไม่ต่ำกว่าในเมียนมากว่า 2.2 ล้านไร่ เราต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ 1.5 ล้านตัน 90 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าก็มาจากเมียนมา และพื้นที่ป่าที่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เผาข้าวโพดในเมียนมา ก็มีแต่จะเพิ่มเป็นหลักล้านไร่ ไม่แน่ใจว่านายกฯ รู้ตัวช้าไป 6 เดือน หรือใครแกล้งบอกให้ลืมหรือไม่ เพราะวันที่ 16 มี.ค. ก็เพิ่งพูดว่าต้องมีมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากการเผา แต่วันที่ 19 มี.ค. กลับกลายเป็นว่า ต้องชะลอมาตรการออกไปก่อน ต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ไม่เช่นนั้นจะผิดหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก แต่เรามีมาตรการที่สามารถทำได้ทันที

นายภัทรพงษ์กล่าวต่อว่า โดยประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 63-66 รัฐบาลชุดที่แล้วไม่ได้ให้ความชัดเจนกับสิ่งแวดล้อม เราจึงเจอปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ตนเคยตั้งกระทู้สดแนะสิ่งที่ควรจะเพิ่มในประกาศการนำเข้าข้าวโพดฉบับใหม่ คือการให้ผู้นำเข้าระบุพิกัดแปลงปลูกข้าวโพดในต่างประเทศ เพื่อให้ไทยสามารถใช้ดาวเทียมตรวจสอบย้อนกลับได้ การที่เราไม่เพิ่มเนื้อหานี้นี่เป็นการเลือกปฏิบัติกับเกษตรกรไทย ที่มีเงื่อนไขเยอะกว่าหรือไม่ เพราะพอต่างประเทศจะนำเข้าข้าวโพดแบบปลอดภาษี กลับไม่ต้องทำอะไร เมื่อถึงวันที่ 28 ธ.ค. ประกาศการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ออกโดยรัฐบาลชุดนี้ที่ถูกเซ็นรับรองโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน และการจะนำเข้าข้าวโพดปลอดศัตรูพืชจะต้องมีเอกสารอะไรมารับรอง รัฐบาลชุดนี้ขอเพียงแค่มีคำรับรองว่า มีการตรวจจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้วว่าปลอดศัตรูพืช และมีการรมยากำจัดแมลงแล้ว นี่เป็นใบรับรองสุขอนามัยพืช ไม่เกี่ยวอะไรกับสุขภาพประชาชนเลย

นายภัทรพงษ์กล่าวว่า โดยมาตรการข้อยกเว้นไม่นำเข้าสินค้าที่มาจากการเผา มีอยู่สองข้อ ข้อแรก จะใช้ได้หากจำเป็นต่อการปกป้องชีวิตหรือสุขภาพคน สัตว์ พืช ที่จริงรัฐบาลสามารถใช้ข้อนี้ในการห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากการเผาได้เลย แต่รัฐบาลไม่เคยตีความว่าการเผาข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

Advertisement

“ทั้งที่นายกฯ ยอมรับปัญหานี้ และระบุว่าต้องหามาตรการห้ามนำเข้า แต่การกระทำสวนทางกันชัดเจน ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลชุดที่แล้ว” นายภัทรพงษ์กล่าว

ข้อสอง สามารถยกเว้นได้หากสินค้านั้นกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป สามารถใช้เป็นข้อยกเว้นได้ เราสามารถบังคับใช้ได้ทั้งสองข้อ ไม่ต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด นอกจากนี้มาตรการอื่นๆ อีกมายมาก แล้วทำไมเราไม่สามารถนำเข้าสินค้าที่มีการเผาในต่างประเทศ ในขณะที่เกษตรกรไทยต้องเจอมาตรการเยอะแยะมาก แต่นายทุนใหญ่ส่งออกเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปลูกต่างประเทศโดยไร้มาตรการควบคุม และนำเข้าโดยปลอดภาษี ถามตรงๆ แบบนี้ รัฐบาลเพื่อใครกันแน่” นายภัทรพงษ์กล่าว

นายภัทรพงษ์กล่าวต่อว่า โดยนายกรัฐมนตรีได้บอกว่าเราประกาศไม่ได้เพราะจะกระทบการท่องเที่ยว สูญเสียเม็ดเงินทางเศรษฐกิจมหาศาล และผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งบอกว่า ประกาศไปทำไมเงื่อนไขเยอะใช้เงินไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด โดยตรงนี้ขอแบ่งการอภิปรายเป็น 3 ส่วน

1.ก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ ทุกท่านอาจจะลืมไปหรือเปล่า เรามีงบทดลองราชการ ในส่วนของการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติจังหวัดละ 10 ล้านบาท ไม่ต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแถมเงื่อนไขการใช้เงินง่ายมากๆ จัดหาอาสาสมัคร จัดจ้างได้หมด ซื้อซ่อมแซมอุปกรณ์ จัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงได้หมด ยิ่งนายกฯได้บอกว่าเราประกาศไม่ได้ กลัวจะกระทบการท่องเที่ยว ในส่วนนี้ยิ่งต้องรีบใช้เลยทำไมจึงไม่ใช้มันเกิดอะไรขึ้น

2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการระบุชัดเจนว่า หากมีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงมากกว่า 150 ไมโครกรัม ติดต่อกัน 5 วัน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเขตประสบภัยพิบัติ นายกฯ อาจจะไม่ทราบภาคเหนือไม่ได้มีแค่เชียงใหม่ และที่เชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลกทุกปีเพราะเว็บไซต์เหล่านั้นไม่มีเครื่องวัด อยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย น่าเสียดายอยากให้ต่างประเทศได้รู้จริงๆ ว่าเชียงรายโดยเฉพาะ อ.แม่สายที่มีค่า PM2.5 สูงที่สุดของปี เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ และค่าฝุ่นของ 2 จังหวัดนี้เกินมาตรฐานที่จะต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติไปนานแล้ว โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนถ้ารอบแรกไม่ประกาศเข้ารอบที่ 2 แล้วทำไมเราไม่ทำอะไรเลย เราจะอยู่แบบนี้กันจริงๆ หรือ work from home ไม่มี มาตรการปิดโรงเรียนไม่พูด ส่วนจังหวัดลำปาง จังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วย มะเร็งปอดสูงสุด หากดูค่าฝุ่นรายวันแม้ไม่ได้สูงมาก แต่หากเราดูตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. จนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่า ชาวลำปางมีสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาดเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ไม่แน่ใจว่านายกฯ มีข้อมูลตรงนี้หรือเปล่า หรือใส่ใจปัญหาจริงๆ หรือเปล่า หรือสนใจแค่เชียงใหม่

3.ส่วนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบอกว่าเงื่อนไขเยอะใช้เงินไม่ได้ง่าย จะประกาศไปทำไม ตนว่า ผู้นำที่ดีควรเห็นปัญหาและหาทางแก้ และนายกรัฐมนตรีก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่แล้ว แก้ระเบียบสิครับจะไปยากอะไร ท่านก็นั่งทานข้าวกันริมน้ำปิงอยู่แล้ว ต้องบอกปัญหาประชาชนที่ต้องเจอและแนวทางแก้ไขสิครับ

“และที่น่ากังวลมากๆ คือ คืนนั้นนายกฯ เศรษฐาทวีตว่า อากาศเชียงใหม่คืนนี้ดีกว่าที่คิด ค่าฝุ่น 193 มันดียังไง แค่นั้นว่าหนักแล้วยังไม่พอวันรุ่งขึ้น นายกฯ อยากปั่นจักรยานโชว์ คือการที่ท่านปั่นจักรยานมันเป็นสิทธิของท่าน ปอดของท่าน ผมไม่ก้าวล่วงจริงๆ แต่การที่ท่านมาประชาสัมพันธ์ในฤดูฝุ่น ท่านคิดอะไรอยู่ เราต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชนหรือเปล่า เพราะปัญหาที่เราเจอทุกวันนี้คืออะไร คือประชาชนเริ่มอยู่ในสภาวะที่จำยอม กับปัญหา ยอมรับว่า New Normal ที่พวกเขาต้องเจอไปตลอดชีวิต ทั้งๆที่ไม่ควรเป็นแบบนั้น เพราะฝุ่นพิษ กำลังทำลายชีวิตของพวกเขาไปอย่างช้าๆ”

นายภัทรพงษ์กล่าวว่า การแจ้งเตือน SMS alert มาถึงปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย เคยหลงดีใจมาครั้งหนึ่งที่มีผู้แทนจาก คณะรัฐมนตรีได้พูดว่า ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ และ จ.สงขลา จะมี SMS แจ้งเตือนค่าฝุ่นแต่มาจนถึงวันนี้ไม่มีอะไรเลย สอบถามไปยัง ผอ.กองสิ่งแวดล้อมของ กทม. เมื่อสัปดาห์ก่อน ทาง ผอ.ได้แจ้งว่าไม่มีมาตรการในส่วนนี้ช่วยเหลือจากภาครัฐ ทุกท่านคิดว่าน่าผิดหวังไหมครับ ที่รัฐบาลของพวกเรา กำลังทำงานแพ้แก๊งต้มตุ๋นที่ส่ง SMS หลอกลวงพวกเราทุกวัน การที่เราจะเป็นผู้นำต้องกล้าตัดสินใจถ้าใช้อำนาจ ยิ่งปัญหาที่ซับซ้อนแบบนี้ ท่านนายกรัฐมนตรียิ่งต้องทำความเข้าใจในช่วงของเวลา ของปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน อยากให้นายกรัฐมนตรีถอยมาก้าวหนึ่ง และมองปัญหากลับเข้าไปใหม่ มองในฐานะ CEO ผู้บริหารบริษัทเอกชนคุณเศรษฐา ทวีสิน ไม่ใช่ท่านนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดๆเลย แล้วมองโครงสร้างการบริหาร โครงสร้างของอำนาจรัฐบาลชุดนี้ งบกลางที่สามารถใช้ได้ในกรณีเร่งด่วน แต่กลับใช้ไปแค่ 300 ล้าน และ 300 ล้านตรงนั้นก็ใช้ไปช้ามากๆ ทั้งๆ ที่ท่านเข้าใจปัญหาดีอยู่แล้ว ท่านจะรู้ว่าคืออะไร และต้องใช้เงินอย่างไรตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน ท่านจัดการได้ แต่ท่านเลือกที่จะหลบ หลบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปนั่งหัวโต๊ะ กับประเด็นปัญหาที่ท่านยกเป็นวาระแห่งชาติ ตนไม่โทษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯที่ไม่มีความสามารถ แต่โทษท่านนายกรัฐมนตรีที่มอบตำแหน่งสำคัญขนาดนี้ให้กับคนที่ไม่มีความพร้อม ผมโทษท่านนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งรัฐมนตรีโควต้ามาดูแลปัญหาภัยพิบัติที่เชียงใหม่ ที่กรณีไฟป่ากี่ครั้งกี่ครั้งก็ไม่เคยมา แต่พอนายใหญ่มาเชียงใหม่ครั้งเดียวรีบมาทันที ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร

ต่อมา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชี้แจงกรณีว่า ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ ให้ความสําคัญเรื่องสุขภาพของประชาชน และปัญหาภาคการท่องเที่ยว จากปัญหา PM2.5 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พยายามติดตามว่าจะดําเนินการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ การนําเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องพิจารณารอบด้าน และดูว่าขัดต่อข้อตกลง WTO ของอาเซียนหรือไม่ รวมถึงจะแก้ปัญหา PM2.5 ได้จริงหรือไม่ ในส่วนเรื่องเขตภัยพิบัติ ต่อให้เราประกาศ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหา PM2.5 ได้ เพราะยังมีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน

นายนภินทรกล่าวว่า แม้จะออกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ตนก็ไม่เห็นด้วยที่จะไปห้ามเกษตรกรเผาอ้อย ข้าวโพด หรือซังข้าว เพราะเป็นการโยนภาระ แต่เราควรทําให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มมูลค่าผลผลิต ส่งเสริมการเลี้ยงโค และควรอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานพลังงานชีวมวล ดังนั้น เราควรมีการพัฒนา และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์กําลังดําเนินการอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image