รัฐประหารซ้อน ความเสี่ยง-ความจริง ในมุมมองนักวิชาการ

แฟ้มภาพ

หลังจากเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์รายงานบทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศใดมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560?” พร้อมเสนอความเห็นว่าประเทศไทยติดอยู่อันดับ 2 ของประเทศมีความเสี่ยงจะเกิดรัฐประหารซ้อน รองจากประเทศบุรุนดี ในทวีปแอฟริกา ทำให้รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีการปฏิวัติซ้อนเกิดขึ้นแน่นอน

ฝ่ายการเมืองเองก็มองว่าการปฏิวัติซ้อนจะยิ่งทำให้ประเทศถอยหลัง

มีคำถามตามมาว่า เหตุการณ์นี้จะมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ในเมื่อประเทศไทยก็มีรัฐบาลมาจากการปฏิวัติอยู่แล้วในปัจจุบันต่อเรื่องนี้

อาจารย์สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า การที่สื่อต่างประเทศออกมาวิเคราะห์ลักษณะนี้เพราะว่าในบ้านเมืองเรา การรัฐประหารกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับว่าเป็นวิธีการที่ดีในแก้ไขปัญหาประเทศอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาประเทศเกิดความขัดแย้งรุนแรง หรือมีความสับสนวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม การรัฐประหาร ฝ่ายทหารก็คิดว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยในประเทศยอมรับจากการที่ทหารออกมาหลายครั้งแล้วไม่โดนต่อต้าน ส่วนการที่ฝ่ายทหารบอกว่าออกมาทำรัฐประหารก็เพราะประเทศเจอปัญหาหาทางออกไม่ได้ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่าประชาชนสนับสนุนเขา หลังจากนั้นก็มีผลสำรวจออกมามากมายสนับสนุน ก็ทำให้ทหารมั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นเกิดจากการเรียกร้องของประชาชน

Advertisement

ส่วนการพยากรณ์ของวอชิงตันโพสต์เขาดูจากสถิติที่ผ่านมาว่าสถานการณ์ทางการเมืองบ้านเรา แม้กระทั่งยึดอำนาจซ้อนยังเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร หรือการยึดอำนาจตัวเองสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้ต่างชาติมองว่าไทยยอมรับว่าการรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหา กระทั่งมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการสร้างเงื่อนไขเพื่อทำให้เกิดรัฐประหารขึ้น เช่น นักการเมืองเผชิญหน้ากัน มวลชนของแต่ละฝ่ายเผชิญหน้ากัน อย่างที่เราเห็นว่าเป็นการอ้างเหตุผลในการยึดอำนาจครั้งนี้

สำหรับการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และแนวคิดให้นักการเมืองร่วมลงสัญญาปรองดองนั้น ไม่ได้ทำให้ปัจจัยการทำรัฐประหารลดลง เพราะปกติเรามีกฎหมายใช้สกัดกั้นไม่ให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองอยู่แล้ว แต่ประชาชนไม่เคารพเอง เพราะฉะนั้นถึงแม้จะเซ็นข้อตกลงอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามวลชนไม่เคารพก็ไร้ประโยชน์

ส่วนที่วอชิงตันโพสต์มองไทยนั้นเป็นเพราะมองในลักษณะปัจจัยเรื่องกลุ่มทหารที่มีอำนาจอยู่ขณะนี้ คงไม่มีทางจะปล่อยให้อำนาจหลุดไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน เมื่อมองจากการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจทำให้เกิดการยึดอำนาจคืนอีกก็ได้

ถือเป็นการมองจากมุมมองคนนอกมองเข้ามา ถือว่าดี เพราะหากมองกันเพียงมุมของคนใน เราก็มักมีอคติหรือการเข้าข้างอยู่ ก็ขอให้ระวังกันบ้างก็ดี แต่เรายังมองไม่ออก จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและให้รัฐบาลเลือกตั้งบริหารประเทศก่อน ส่วนนักการเมืองวันนี้ก็คงได้บทเรียนไปทั้งสองฝ่ายว่า เมื่อเขายึดอำนาจมาแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มไหน คุณก็โดนรังเกียจอยู่ดี เหมือนการตีงูให้กากิน

สำหรับคำว่าเสียของ หลายคนพูดถึงการรัฐประหารครั้งที่แล้ว แต่หากผลการเลือกตั้งออกมาก็อาจจะเกิดความรู้สึกเสียของตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็ได้ สุดท้ายอาจนำไปสู่สถานการณ์เดิมเพื่อดึงอำนาจกลับคืนมา

ขณะที่ นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สิ่งที่ปรากฏในวอชิงตันโพสต์ เป็นการศึกษาการเมืองในแบบเชิงปริมาณ ผู้นำทหารไทยหรือบรรดา คสช.อาจจะไม่มีความคุ้นเคย การศึกษาแบบนี้คือการเอาค่าสถิติของปัจจัยต่างๆมาประมวลผล เพื่อบ่งบอกถึงแนวโน้มในอนาคต

วิธีการศึกษาแบบนี้เป็นเรื่องปกติ คนตะวันตกทำทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ผลจะเกิดขึ้นอย่างที่ค่าสถิติบ่งชี้หรือไม่เป็นคนละประเด็น แต่อย่างน้อยผลจากการประมวลปัจจัยต่างๆ ได้บ่งชี้ถึงแนวโน้ม ดังนั้น ถ้าผู้นำทหารชอบอ้างผลโพลในบ้าน โพลก็เป็นการศึกษาเชิงปริมาณเดียวกัน ถ้าผู้นำทหารชอบโพล ก็ไม่ควรไปโกรธผลการศึกษาเชิงปริมาณของนักวิชาการต่างประเทศ

อีกประเด็นหนึ่งคือไม่ว่าผลรวมของค่าสถิตินี้จะทำให้เราพอใจหรือไม่ ค่าของปัจจัยตัวอื่นๆ ถูกนำมาใช้ในการประมวลผลนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปัจจัยทางเศรษฐกิจ หรือปัจจัยทางการเมือง ดังนั้นผลที่เกิดขึ้น เราอาจจะเห็นว่าแนวโน้มของรัฐประหารประเทศบุรุนดีสูงกว่าไทย คือ 12% ผลของการศึกษานี้ ผู้นำทหารไทยควรทำความเข้าใจ และการจะไปปฏิเสธว่าจะไม่เกิดอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เป็นการตอบคำถามเวทีโลก

สิ่งที่ทำให้ไทยถูกจับตามองมาก คิดว่าเราต้องยอมรับว่าในหลายปีที่ผ่านมารัฐประหารเกิดในหลายประเทศ แต่แทบจะไม่มีประเทศไหนมีรัฐประหารเกิดซ้ำกัน 2 ครั้ง ประเทศที่เกิดมีเพียง 3 ประเทศหลัก คือ ฟิจิ ไทย และบูกิร์นาฟาโซ กรณีของไทยเกิดกันในระยะห่างไม่ถึง 10 ปี สภาพแบบนี้ค่าสถิติของไทยสูงแน่ ไม่ว่าจะชอบเชิงปริมาณหรือไม่ แต่ค่าปัจจัยเชิงปริมาณทำให้เราเห็นคำตอบไม่ต่างกัน เพราะ 1.สถานการณ์การเมืองของไทยไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร รวมถึงกฎหมายลูก 2.การปรองดองที่พูดกันในสังคมไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะมีการตั้งเงื่อนไขหลายอย่าง จนดูเหมือนว่าการปรองดองเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง 3.การเลือกตั้งที่พูดถึง ไม่ว่าจะอยู่ในโรดแมปหรือไม่อยู่ในโรดแมป เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

4.ปัญหาสิทธิ เสรีภาพในสังคมไทยเป็นประเด็นใหญ่ถูกจับตามองในเวทีโลก เมื่อถูกนำไปรวมเป็นค่าสถิติย่อมส่งผลกระทบให้สถานะของตัวเลขมีผล 5.ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจะเห็นว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในสภาวะที่ดี จะทำให้ค่าตัวเลขของไทยดูดีขึ้น

6.การคงบทบาทของทหารในอนาคตมีความชัดเจน ขณะที่ทั่วโลกมีการเรียกร้องให้ทหารลดบทบาทลง การคงบทบาททหารในการเมืองไทยอยู่ในบริบทของยุทธศาสตร์ 20 ปี ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ คสช. หรือรัฐบาลทหารมีอำนาจได้ต่อไป เท่ากับว่ารัฐบาล คสช.จะมีอำนาจเท่ากับ 5 สมัยของการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาว และทำให้ต่างชาติมองว่าแนวโน้มของการเมืองไทยยังเป็นแนวโน้มที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร

7.โครงสร้างอำนาจหลังการเลือกตั้งของฝ่าย คสช. หรือฝ่ายทหารนั้นมีความชัดเจนอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากยุทธศาสตร์ 20 ปี คือการคง ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้ง หากเป็นอย่างนั้น พรรคการเมืองจะเกิดขึ้นเป็นพรรคแรกหลังการเลือกตั้งคือพรรคทหาร อยู่ในรูปแบบของ ส.ว. ประเด็นนี้ถูกจับตามองจากต่างชาติว่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่า คสช.จะยังคงอำนาจไว้ในการเมืองต่อไป 8.แนวโน้มที่เกิดขึ้นจากสาระที่เราเห็นในร่างรัฐธรรมนูญ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต อาจเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ และไม่สามารถกำหนดนโยบายได้ด้วยตัวเอง และถูกกำกับ ควบคุมโดย ส.ว. 250 คน ดังนั้น การเลือกตั้งในไทยจะถูกจับตามองว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความหมายอย่างแท้จริง

9.ความรู้สึกของประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่เรียกร้องเสรีภาพ มีเป็นจำนวนมากนั้นถูกกดดันจากการใช้มาตรการในรูปแบบต่างๆ ของ คสช. ปัจจัยนี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัจจัยที่ต่างประเทศยังจับตามองไทยอยู่มาก 10.แรงกดดันจากปัจจัยภายนอก หรือองค์กรระหว่างประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีความคาดหวังอยากจะเห็นการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว แต่เราก็ไม่มีสัญญาณชัดเจน และ 11.อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เป็นปัจจัยถูกจับตามองอย่างมาก คือ การตัดสินใจเปลี่ยนหรือย้ายข้างทางการเมืองระหว่างประเทศของผู้นำทหาร พยายามจะเดินทางเข้าไปใกล้ชิดกับจีน และละทิ้งความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

ส่วนที่ถามว่า ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากให้ประเมินว่าการรัฐประหารในปี 2560 จะมีโอกาสเกิดขึ้นแบบที่สื่อนอกวิเคราะห์หรือไม่นั้น ผมมองว่าการประเมินรัฐประหารในไทยเป็นอะไรที่ตอบไม่ได้ แต่สถานการณ์ที่เห็นต่อเนื่องหลังการรัฐประหารปี 57 ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยมีความผันผวน ต้องยอมรับว่าความผันผวนเป็นปัจจัย หรือเป็นเงื่อนไขสำคัญนำไปสู่การรัฐประหาร เพราะถ้าการเมืองยังผันผวนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังมีปัญหามากขึ้นก็อาจจะมีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลแบบไม่ปกติ แต่สิ่งที่คนมีความหวังมากกว่าคือ ผู้คนอยากเห็นสภาวะการเมืองไทยกลับสู่ปกติ ไม่อยากเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะกลายเป็นปัจจัยทำให้ประเทศถดถอย และเป็นปัจจัยทำลายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น ผู้คนยังเชื่อว่า ถ้าวันนี้ต้องเลือก ก็คงอยากเห็นประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติ หวังว่าการเมืองในภาวะปกติจะเป็นเงื่อนไขของการสร้างอนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นเงื่อนไขของการลงทุนทางเศรษฐกิจจากภายนอก ทั้งนี้ การจะเกิดหรือไม่รัฐประหาร อาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือค่าสถิติตัวนี้ สะท้อนถึงความผันผวนของการเมืองไทย

ทั้งหมดคือคำตอบจากนักวิชาการต่อสถานการณ์ไทยจะมีปฏิวัติซ้อนเกิดขึ้นได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image