09.00 INDEX คำถาม แหลมคม ต่อ ‘กกต.’ เบื้องหน้า ส.ว.ภาคประชาชน

ยิ่งใกล้วันที่ 13 พฤษภาคม อันเป็นวันที่ กกต.กำหนดวันรับสมัครเพื่อนำไปสู่การเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภา บรรยากาศการเมืองเนื่องแต่การหมดวาระของ 250 สมาชิกวุฒิสภายิ่งเข้มข้น

เป็นความเข้มข้นภายใต้การถกเถียงต่อ บทบาทของ กกต. ว่าจะดำเนินไปและดำรงอยู่อย่างไร

การตีความ พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง “ส.ว.” จะเป็นเช่นใด

จะเป็นไปอย่าง “เปิดเผย” มีความ “โปร่งใส” สามารถตรวจสอบได้ หรือว่าจะเป็นไปอย่าง “ปิดลับ” สะท้อนความต้องการที่จะ “ซ่อนเร้น” ให้พ้นไปจากความรับรู้ของสังคม

Advertisement

การโต้แย้งระหว่าง กกต.กับภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ไม่ว่าจะเป็น คณะก้าวหน้า ปรากฏขึ้นอย่างเข้มข้น

เมื่อประสานกับการเคลื่อนไหวของบางส่วนภายใน 250 สมาชิกวุฒิสภาเดิม การเคลื่อนไหวของนักร้องที่ต้องการรั้งดึงมิให้กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปอย่างราบรื่น

สังคมสัมผัสได้ใน 2 ทิศทางในหัวเลี้ยวแห่งการสิ้นสุดของ 250 สมาชิกวุฒิสภา กับการได้มาของ 200 สมาชิกวุฒิสภาชัดขึ้น

Advertisement

คำถามอยู่ที่ว่าบทบาทของ กกต.จะเป็นอย่างไร

 

หากติดตามบทบาทของ “ภาคประชาชน” อย่างเปรียบเทียบกับบทบาทอันสะท้อนจากบางส่วนแห่ง 250 สมาชิกวุฒิสภาเดิม ก็จะประจักษ์ในความต่าง

ภาคประชาชนเรียกร้องต้องการให้ประชาชนที่มีสิทธิในการสมัครเข้าร่วมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้มากและกว้างขวาง

ถึงกับตั้งชื่อแคมเปญของตนว่า “ส.ว.ประชาชน”

ขณะเดียวกัน ภาคอันเป็นเงาสะท้อนแห่ง 250 สมาชิกวุฒิสภาเดิม หากไม่ต้องการต้านกระแส ก็พยายามที่รั้งดึงมิให้ทุกการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนเป็นไปอย่างราบรื่น

ฝ่ายหนึ่งต้องการ “เปิด” ต้องการเห็นการเข้าไปมี “ส่วนร่วม” ของประชาชน อีกฝ่ายหนึ่งต้องการสกัดต้องการขัดขวางถึงขั้นที่ไม่อยากเห็นการเลือกได้บังเกิดในทางเป็นจริง

ยิ่งการปะทะ ยิ่งการตอบโต้ เผยแสดงออกแจ้งชัดมากเพียงใด ยิ่งจะเป็นประโยชน์ในทางความคิด ทางการเมือง

 

ต้องยอมรับว่ารากฐานการได้มาของสมาชิกวุฒิสภาสะท้อนเจตจำนงของรัฐประหาร เจตจำนงของรัฐธรรมนูญชัดเจน

เพียงแต่เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2567 ก็แปรเปลี่ยน

ประชาชนอาศัย “ช่องทาง” อย่างจำกัดภายใต้บทบัญญัติอันสลับซับซ้อนจากกลุ่มอำนาจรัฐ “พันลึก” เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อสู้และกำหนดผลแห่งการเลือก

จึงกลายเป็นโจทย์อันแหลมคมยิ่งต่อ กกต.ว่าต้องการสร้างความโปร่งใส ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือว่าปิดกั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image