รดน้ำ-รุมถามนายกฯ ‘ค่าจ้าง 400 กี่โมง?’ ทวง 10 ข้อ ฉลองวันแรงงาน ประจันหน้าตร.

รดน้ำ-รุมถามนายกฯ ‘ค่าจ้าง 400 กี่โมง?’ ทวง 10 ข้อ ฉลองวันแรงงาน ประจันหน้าตร.

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันแรงงานสากล หรือ MAY DAY ซึ่งประเพณีนับร้อยปีที่ผู้ใช้แรงงานจากทุกสาขาอาชีพ เพศสภาพ สัญชาติ จะออกมาร่วมเดินขบวนเฉลิมฉลอง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงคงสมสมานฉันท์กับขบวนการแรงงานสากล และเรียกร้องความเป็นธรรมที่ยังคงขาดหายในสังคมปัจจุบันนั้น

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ถนนพิษณุโลก เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับ กลุ่มไรเดอร์และคนโรงงาน, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, กลุ่ม Bright Future (แรงงานชาวเมียนมา) สหภาพแรงงานไทยคูราโบ และกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา, จัดกิจกรรม ‘มหาสงกรานต์ แรงงานสากล’ เดินขบวนกลางกทม. จากถนนพิษณุโลก ซอย 7 ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งเสียงของแรงงงานในไทย

Advertisement

บรรยากาศเวลา 09.00 น. ที่ถนนพิษณุโลก ซอย 7 คนทำงานทยอยเดินทางมาต้้งขบวน บรรยากาศเต็มไปด้วยสีสัน มวลชนกรรมกร ตั้งแถวพร้อมถือป้ายของกลุ่ม โดยมี นางศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, นายเจษฎา ศรีปลั่ง หรือเจมส์ แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมต่างถือป้ายข้อเรียกร้องเป็นภาษาต่างๆ ทั้งภาษาไทย พม่า และเขมร พร้อมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชนชาติ อาทิ ชุดชนเผ่าพื้นเมือง โดยผู้ชายนุ่งโสร่ง ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น บางรายเตรียมปืนฉีดน้ำและขันเพื่อเล่นน้ำสงกรานต์ ก่อนร่วมเปล่งเสียงเป็นภาษาพม่า และเริ่มเดินหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรถโมบายตามขบวน ตลอดการเดินขบวน ผู้ชุมนุมชาวเมียนมาส่งเสียงประณาม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ต่อมาเวลา 09.35 น. เมื่อขบวนมาถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ธนพรกล่าวบนรถโมบาย ตอกย้ำถึงปัญหาของแรงงานข้ามชาติ และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก หากไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก่อนตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ไรเดอร์ และคนโรงงาน สลับกันขึ้นปราศรัย บอกเล่าปัญหาที่ประสบอยู่

ผู้ชุมนุมนำปืนฉีดน้ำ ฉีดไปยังสแตนดี้ของนายเศรษฐา พร้อมประแป้งสงกรานต์และรดน้ำดำหัว

จากนั้นเวลา 10.12 น. ตัวแทนแรงงานชาวเมียนมาเริ่มประกาศแถลงการณ์หลากภาษารวมพลังทุกข้อเรียกร้อง เนื่องในวันแรงงานสากล 2567

โดยเริ่มจากภาษาพม่า ท่ามกลางแรงงานชาวเมียนมา ร่วมถือภาพของ นางออง ซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งถูกกองทัพเมียนมาคุมขังอยู่ในขณะนี้ พร้อมภาพและข้อความที่สะท้อนการประณาม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา โดยบางรายใช้ฝ่าเท้าเหยียบไปยังรูปภาพ

จากนั้น เวลา 10.23 น. น.ส.ธนพรนำอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย พร้อมยื่นหนังสือผ่านสแตนดี้ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยแถลงการณ์ดังกล่าว มีเนื้อหาดังนี้

วันนี้วันที่ 1 พฤษภาคม นับเป็นวันกรรมกรสากล หาใช่วันแรงงานแห่งชาติใดชาติหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2429 คนทำงานเมืองชิคาโก้ออกมาชุมนุมนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงาน ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือที่เรียกกันว่า “ระบบสามแปด” แต่ว่าต่อมาเกิดเหตุปะทะกับตำรวจ จนส่งผลให้แกนนำจำนวน 7 คนถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ขบวนการแรงงานสากล จึงลุกฮือขึ้นสานต่อการต่อสู้ของคนงานเมืองชิคาโก้ โดยการประกาศทุกวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันกรรมกรสากล

ความตายของแรงงานจำนวนหนึ่งจึงบังเกิดเป็นเสียงเรียกร้องที่ดังกึกก้องไปทั่วทุกมุมโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมาถึงวันนี้ สิทธิแรงงานยังคงขาดหาย ค่าแรงไม่พอกิน เวลาการทำงานมากล้น การจ้างงานไม่มั่นคง อำนาจต่อรองถดถอย รัฐบาลตระบัดสัตย์ ผิดคำสัญญา นักประชาธิปไตยถูกคุมขังเต็มเรือนจำ ไม่ต่างไปจากอดีต เราจึงต้องลงถนนจนกว่าความยุติธรรมจะบังเกิด

ในนามของกรรมกรทุกอาชีพและสัญชาติเราขอเรียกร้องต่อรัฐไทย ดังนี้

1.ต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครอง
สิทธิเสริภาพการรวมกลุ่มสำหรับคนทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียม

2.คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในการแสดงออกทางการเมือง และระงับการร่วม
มือกับเผด็จการในเมียนมา กัมพูชาและรัฐบาลเผด็จการอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องการปราบปราม
ประชาชนชาวต่างชาติภายในประเทศไทย

3.ต้องบังคับใช้กฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกรณี
ของการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง ค่าแรง เงินประกันสังคม เป็นต้น

4.ต้องยืนหยัดในประชาธิปไตยสากล ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ปกป้องสิทธิในการ
แสดงออก เดินหน้าการกิจด้านมนุษยธรรมและผลักดันสันติภาพไร้พรมแดน

5.ต้องรับรองหลักการค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต โดยปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพียงพอ
สำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของคนทำงานและครอบครัว

6.ต้องผลักดันสิทธิลาคลอด 180 วันแบบแบ่งกันลาได้ จนเป็นกฎหมายบังคับใช้

7.ต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมแรงงานทุกอาชีพและอัตลักษณ์เท่าเทียมกันรวมถึงการปรับลดเพดานชั่วโมงการทำงานโดยไม่ลดค่าจ้างจากเดิม

8.เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและภาษีมั่งคั่งเพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าของทุกคน

9.ยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี คุ้มครองผู้ค้าบริการในฐานะแรงงาน

10.ต้องผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งหมด โดยปราศจากการจำกัดควบคุมเนื้อหาการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น

Bright Future, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567

จากนั้น ผู้ชุมนุมนำปืนฉีดน้ำ ฉีดไปยังสแตนดี้ของนายเศรษฐา พร้อมประแป้งสงกรานต์และรดน้ำดำหัว

นายเจษฎาชักชวนผู้สื่อข่าวถามคำถาม ต่อหน้ารูปของนายเศรษฐา โดยมีผู้สอบถามถึงค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นจำนวนมาก

“ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ กี่โมงคะท่านนายกฯ ตอบหน่อย”

400 บาทที่บอกว่าเป็นรัฐบาลแล้วจะให้อยู่ที่ไหน “ไม่ใช่ประกาศแค่เฉพาะ 10 จังหวัดเท่านั้น มันไม่เท่าเทียม”

ด้าน น.ส.ธนพรกล่าวว่า “ค่าจ้างปริญญาตรี 20,000 บาท กี่โมงคะท่านนายกฯ”

นอกจากนี้ ยังมีผู้ส่งเสียงถามถึงการลดค่าครองชีพและขนส่งสาธารณะอีกด้วยว่า “รถเมล์ 20 บาทได้หรือยัง”

“โรงงานลอยแพแรงงานเยอะมากเลย ท่านอยู่ไหน” ผู้ชุมนุมชายกล่าว

ด้านนางศรีไพรกล่าวว่า ค่ารอบของไรเดอร์ว่าอย่างไร สิทธิแรงงานข้ามชาติว่าอย่างไร ประกาศออกมาได้แล้ว เราร้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image