‘ชุติพงศ์’ชี้อธิบดีกรมโรงงานฯ ไม่ได้ผิดคนเดียว เหตุไฟไหม้รง.สารเคมี ยังหาข้อสรุปไม่ได้

‘ชุติพงศ์’ เผยไฟไหม้ โรงงานสารเคมี  ระยอง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าวางเพลิงหรือไม่ ห่วงควันสารเคมีกระทบปชช. หลังพบป่วยแล้วกว่า 600 คน มอง กระแสข่าวเด้งอธิบดีกรมโรงงานฯ ไม่ได้ผิดแค่คนเดียว เพราะหลายส่วนยังรับมือสถานการณ์ไม่เต็มที่

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส.ส.ระยอง พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความคืบหน้าโรงงานกากเคมีไฟไหม้ ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ว่า ล่าสุดยังอยู่ในการควบคุมเพลิง รวมถึงสารเคมีที่ต้องดูแลจัดการไม่ให้ไฟลามมาติด ส่วนหน้างานหน่วยดับเพลิงเอกชนได้ถอนกำลังออกไปแล้ว ซึ่งควันสารเคมีที่ปะทุออกมาไม่ได้รุนแรงในระดับที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์

ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเพราะควันยังไม่ดับสนิท โดยปัญหาหลักๆ คือเรื่องควันสารเคมีภายในโรงงานเริ่มมีสารเคมีเกินค่ามาตรฐานไหลออกมาสู่ชุมชนเยอะมาก ซึ่งเช้านี้ตนได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็พบว่ามีประชาชนเจ็บป่วยเนื่องจากสารพิษแล้วประมาณ 600 คน รวมตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าประชาชนเหล่านี้จะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทางสาธารณสุข จ.ระยอง ก็จัดทีมมาตรวจสุขภาพประชาชน แต่ไม่แน่ใจว่าหากพบว่าป่วยแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ ซึ่งในช่วงบ่ายนี้ตนจะประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) อุตสาหกรรม น่าจะมีคำตอบในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น

ส่วนกรณีไฟไหม้โรงงานกากสารเคมีที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีความเชื่อมโยงกับไฟไหม้โรงงานกากสารเคมีที่ จ.ระยองหรือไม่ เพราะพบว่าเป็นเจ้าของเดียวกัน นายชุติพงศ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง มีคำสั่งให้โรงงานขนย้ายกากสารเคมีออก แล้ววันที่ 22 เมษายน ก็เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งยังไม่ทราบข้อสรุปว่าเป็นการวางเพลิงหรือไม่ ทราบเพียงแต่ว่าโรงงานกากสารเคมีที่อยุธยาเป็นการวางเพลิง ทั้งนี้ ตนได้จี้ไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ว่าต้องขนกากสารเคมีที่เหลือมากกว่าครึ่งออกให้ได้ ซึ่งเบื้องต้นในวันที่ 7 พฤษภาคม จะมีคำตอบว่าจะใช้งบประมาณส่วนไหนในการขนย้ายกากสารเคมีออกจากโรงงาน เพื่อไปกำจัดอย่างถูกต้อง

Advertisement

นายชุติพงศ์กล่าวต่อว่า เริ่มแรกทางโรงงานได้แจ้งวัตถุประสงค์ ว่าเป็นสถานที่ไว้จัดเก็บกระดาษและเศษวัสดุเหลือใช้ ต่อมาในปี 2553 เริ่มมีการลักลอบนำกากสารเคมีเข้ามาเก็บ ซึ่งทางรัฐบาลในขณะนั้นก็คัดค้าน ต่อมาในปี 2559 มีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำให้มีการออกใบอนุญาตจัดเก็บกากสารเคมีได้โดยง่าย ทำให้ในปี 2560 โรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตถูกต้องแม้จะถูกคัดค้านมาตลอด ซึ่งผลที่ตามมาก็ทำให้เกิดสารเคมีรั่วไหลหนักกว่าเดิม จึงมีการคัดค้านและฟ้องร้องกันเกิดขึ้น

เมื่อถามว่า ต่อไปจะมีการเตรียมรับมือหรือเฝ้าระวังโรงงานอื่นๆ ที่เก็บกากสารเคมีอย่างไรบ้าง นายชุติพงศ์กล่าวว่า เราจะพยายามติดตามทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และต้องตรวจสอบให้เจอว่ามีโรงงานเหล่านี้ซุกอยู่อีกกี่แห่งเพราะเท่าที่ทราบมีมากกว่า 2,000 โรงงาน ซึ่งเราจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้หาคำตอบให้ได้

ส่วนกระแสข่าวที่จะเด้งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเนื่องจากลงพื้นที่ล่าช้านั้น นายชุติพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหากันหลายภาคส่วน ซึ่งการเผชิญรับมือเหตุการณ์เหล่านี้ ทางจังหวัดก็ไม่มีแผนรับมือที่ชัดเจน กลายเป็นว่าพอเกิดเหตุการณ์แล้ว คนที่รับมือหน้างานก็เป็นภาคเอกชนร่วมมือและการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ช่วยกันประสานงานเพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่ง จ.ระยองเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมโรงงาน แต่เรามีแผนรับมือที่ไม่รัดกุม ตนว่ามันควรจะรับมือได้ดีกว่านี้ได้ เราต้องถอดบทเรียนว่ามันมีความผิดพลาดตรงไหนบ้าง อาจจะไม่ใช่แค่ส่วนของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image