ข้อเสนอศาลถึงกรธ. ยื่น8ปมแก้’ร่างรธน.’

หมายเหตุ – นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงข้อสังเกตร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม รวม 8 ประเด็น ที่เสนอกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์

ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสร็จเป็นเบื้องต้น และได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อให้พิจารณาและเสนอแนะความคิดเห็นตามความในมาตรา 39/1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 ศาลยุติธรรมพิจารณาร่างบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวแล้ว มีข้อสังเกตเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในโอกาสต่อไป ดังต่อไปนี้

(1) ตามร่างมาตรา 190 วรรคสี่ และวรรคห้า ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สามารถอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ในปัญหาข้อกฎหมาย หรือในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และกำหนดให้การวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน

ในกรณีดังกล่าวนี้ บทบัญญัติขาดความชัดเจนว่าอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีขององค์คณะตามความในวรรคห้า กับการพิจารณาอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่มีความแตกต่างกันอย่างไร องค์คณะดังกล่าวจะมีอำนาจหน้าที่เพียงพิจารณาเสนอความเห็นในลักษณะเดียวกับที่กำหนดในระเบียบที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในปัจจุบัน หรือทำหน้าที่พิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์ด้วย นอกจากนั้นหากองค์คณะตามความในวรรคห้ามีอำนาจพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์ด้วย จะมีผลเป็นการจำกัดผู้ที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์เฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในการคัดเลือกองค์คณะในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งคดีส่วนใหญ่องค์คณะจะประกอบด้วยผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในศาลฎีกา เช่น รองประธานศาลฎีกา และประธานแผนกต่างๆ

Advertisement

การจำกัดองค์คณะในลักษณะดังกล่าวจึงมีผลทำให้ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาเป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาที่อาจตัดสินโดยองค์คณะที่มีตำแหน่งและอาวุโสสูงกว่า กรณีต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นกระบวนพิจารณาที่สามารถไปกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามที่ร่างวรรคหกกำหนดไว้อยู่แล้ว จึงควรตัดความในวรรคห้าออก อนึ่ง ตามร่างมาตรา 190 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดจำนวนองค์คณะในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้จำนวนเก้าคน แต่ในทางปฏิบัติที่มีคดีที่ต้องใช้องค์คณะจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และอาจมีกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ซึ่งทำให้ในการพิจารณาบางนัดผู้ที่เป็นองค์คณะไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณาได้ การกำหนดองค์คณะพิจารณาไว้อย่างเคร่งครัดจึงทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาเมื่อมีเหตุจำเป็นดังกล่าวอันจะทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า จึงควรเปิดโอกาสให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับองค์คณะในการนั่งพิจารณาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

(2) ตามร่างมาตรา 191 กำหนดให้การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ โดยโครงสร้างและจำนวนที่เป็นองค์ประกอบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ การกำหนดในลักษณะดังกล่าวแม้จะเป็นการทำให้รัฐธรรมนูญกำหนดในเชิงหลักการและให้ส่วนที่เป็นรายละเอียดกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง แต่โดยปกติกฎหมายลำดับรองย่อมสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เสมอและเป็นไปตามความคิดเห็นของฝ่ายการเมืองในแต่ละช่วงเวลา หากฝ่ายการเมืองต้องการเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมมากขึ้น ก็อาจกำหนดให้มีอัตราส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวมากขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว จึงควรพิจารณากำหนดจำนวนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมให้มีความชัดเจน โดยให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการไม่เกินสองคนตามแนวปฏิบัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านมา

นอกจากนั้น กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาลสมควรมีข้อความต่อเนื่องว่า “…ในสัดส่วนที่เหมาะสม” ด้วย และเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในระหว่างที่ดำเนินการให้มีคณะกรรมการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดใหม่ จึงควรมีบทเฉพาะกาลรองรับไว้ด้วย

Advertisement

(3) ตามร่างมาตรา 231 วรรคเจ็ด กำหนดให้นำกระบวนพิจารณาในมาตรานี้ไปใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 230 (3) หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าเพื่อไม่ประสงค์แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นด้วยโดยอนุโลม แต่ในปัจจุบันบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความหมายครอบคลุมถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย ทำให้มีคดีที่บุคคลเหล่านี้ถูกฟ้องร้องต่อศาลฎีกาเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะที่ศาลฎีกามีบุคลากรจำนวนจำกัดและมีภารกิจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายประการทำให้หากต้องพิจารณาพิพากษาคดีที่บุคคลดังกล่าวถูกฟ้องด้วยจะไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

(4) ในรัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 มีบทบัญญัติกำหนดเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนของข้าราชการตุลาการไว้ด้วย แต่ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามที่ยกร่างขึ้นใหม่นี้ไม่ได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย ตามหลักการสากลในเรื่องความอิสระของฝ่ายตุลาการนั้นประกอบไปด้วยความมั่นคงในการดำรงตำแหน่ง ความมั่นคงในค่าตอบแทน และความอิสระในการบริหารงาน การไม่ได้กำหนดเรื่องค่าตอบแทนไว้จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญขาดองค์ประกอบของหลักประกันความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในเรื่องดังกล่าวไป จึงควรพิจารณากำหนดหลักประกันในเรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนของข้าราชการตุลาการไว้ด้วย

(5) หลักประกันความอิสระของตุลาการ ความอิสระในการบริหารงานเป็นองค์ประกอบที่สำคัญดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีงบประมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ แม้ในร่างมาตรา 136 จะได้กำหนดไว้แล้วว่ารัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการด้วย แต่อาจมีกรณีที่ในการจัดสรรงบประมาณตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าจำนวนเงินที่ได้รับจัดสรรนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้บริหารงานอย่างมีอิสระและสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยังไม่มีกลไกที่จะให้ศาลสามารถท้วงติงการจัดสรรดังกล่าวได้

(6) เดิมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 142 (3) กำหนดให้ศาลอาจเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลเป็นผู้รักษาการ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดกรณีดังกล่าวไว้ ทำให้อาจเกิดข้อขัดข้องในการที่ศาลต้องการแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยและทำให้อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น จึงเห็นควรกำหนดให้มีบทบัญญัติที่ให้สิทธิในการเสนอกฎหมายในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

(7) ตามร่างมาตรา 195 (1) ซึ่งกำหนดองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวนสามคนนั้น เนื่องจากในปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งระยะสั้น เพราะเมื่ออายุครบหกสิบห้าปีต้องไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส จึงทำให้ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการคัดเลือกมีจำนวนน้อย

และ (8) การดำเนินคดีเลือกตั้งตามร่างมาตรา 222 มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาสิบปี ดังนั้น สมควรให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสามารถที่จะอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลในลำดับที่สูงกว่าตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง โดยกำหนดให้คดีเลือกตั้งดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เริ่มต้นที่ศาลชั้นอุทธรณ์ และเมื่อศาลชั้นอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิอาจขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image