“เบสท์ริน”ร้องผู้ตรวจฯ เผย แจ้งความ 3 จนท.กรมศุลฯ แต่งข้อความใบขนสินค้า

“เบสท์ริน”ร้องผู้ตรวจฯ ปมส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวี ชี้เป็นเหตุสุดวิสัยหลังติดปัญหา เผย แจ้งความ 3 จนท.กรมศุลกากร หลังแต่งเติมข้อความใบขนสินค้าขาเข้า ทำขสมก.เข้าใจผิดไม่รับรถ จ่อเปิดโปงรายละเอียดอีกครั้ง ศุกร์นี้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายคณิสสร์ ศรีวัชระประภา ประธานบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายธาวิน อินทร์จำนงค์ รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทฯได้ทำสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คันกับขสมก. ซึ่งมีกำหนดส่งมอบรถยนต์ทั้งหมดภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา ขณะนี้ทางบริษัทได้ส่งมอบรถยนต์ให้ขสมก. แล้วจำนวน 274 คัน แต่คณะกรรมการตรวจรับรถมิได้มีการตรวจรับ และเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจรับฯได้มีมติให้ชะลอการตรวจรับรถยนต์ไว้ก่อนโดยไม่มีกำหนด ทำให้บริษัทเดือดร้อน ไม่ได้รับการชำระราคารถยนต์โดยสารที่ได้ส่งมอบไปเสร็จสิ้นตามสัญญาแล้ว จึงขอให้ผู้ตรวจฯแจ้งไปยังขสมก.ให้สั่งการให้คณะกรรมการตรวจรับรถยนต์ที่ส่งมอบไปแล้วโดยเร็ว สำหรับรถยนต์ส่วนที่เหลือให้บริษัทส่งมอบต่อไป และในระหว่างที่ผู้ตรวจฯตรวจสอบขอให้ขสมก.ชะลอการยกเลิกสัญญาจนกว่าจะได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ นายคณิสสร์ กล่าวว่า รถยนต์เข้ามาตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ที่เราส่งมอบไม่ได้ เพราะมีข้อสงสัยจากกรมศุลกากร ซึ่งเราได้พยายามหารือกับขสมก. จนล่าสุดมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการตรวจรับฯ และมีแผนว่าจะมีการส่งมอบรถรวมเป็น 4 งวด งวดสุดท้ายวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะครบ 489 คัน ซึ่งเราก็มีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการตรวจรับฯจนปัจจุบันสามารถส่งมอบรถไปแล้ว 390 คัน มีการนำไปจดทะเบียนแล้ว 274 คัน ถือว่าอยู่ในการครอบครองของขสมก.แล้ว ส่วนอีก 99 คัน เราก็ได้ส่งหนังสือให้กรมศุลกากรเพื่อให้ดำเนินการเอารถออกมาให้เราส่งมอบรถให้ได้ตามสัญญา ซึ่งที่ยังไม่สามารถส่งมอบได้เรามองว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ จึงอยากร้องขอให้ขสมก.ขยายสัญญาให้กับบริษัท และให้หน่วยงานกลางอย่างผู้ตรวจฯ เข้ามาร่วมตรวจสอบว่าการจะบอกเลิกสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อถามว่า หากมีการยกเลิกสัญญาจะเอารถทั้งหมดไปดำเนินการอย่างไร นายคณิสสร์ กล่าวว่า เราอยากให้ดูว่าการบอกเลิกสัญญาเป็นไปตามกฎหมายและเป็นการผิดสัญญาหรือไม่ ถ้าการยกเลิกเป็นการที่ผู้ขายทำผิด ไม่สามารถส่งมอบรถได้ อันนั้นถือเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเราก็ยอมรับ และจะมีการจัดการกับรถในส่วนนี้ออกไป แต่ถ้าไม่มีการยกเลิกตามข้อกำหนด ไม่เป็นไปตามสัญญาเราก็ต้องเรียกร้องสิทธิตามที่เราทำได้ ส่วนที่กรมศุลกากรอ้างว่าบริษัทเอารถจดประกอบจากจีน ไม่ได้เป็นรถจากมาเลเซียตามที่ตกลงไว้นั้น ตนเห็นว่าประเด็นดังกล่าวศุลกากรพูดตั้งแต่การแถลงข่าวครั้งแรก แต่จริงๆแล้วเคยมีเอกสารที่กรมกศุลกากรทำถึงขสมก.ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ระบุชัดเจนว่ายังอยู่ระหว่างการดำเนินการสนอบถามข้อเท็จจริงจากทางมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันข้อเท็จจริงนี้ก็ยังไม่ชัดเจน แต่กลับมีการพูดในลักษณะกล่าวหาบริษัทว่านำรถจดประกอบจากจีนมา ทำให้เราตกเป็นจำเลยและถูกสังคมพิพากษาแล้วในการที่ว่าหลบเลี่ยงภาษี

Advertisement

“ผมอยากจะถามว่าเหตุจูงใจในการกล่าวหาว่าผมหลบเลี่ยงภาษีคืออะไร ในเมื่อบริษัทจะต้องมาแบกรับความเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมาย ทั้งที่เรามีการทำสัญญากับขสมก.ซึ่งก็มีจำนวนเงินที่มากกว่าภาระภาษีที่อาจจะมีการเกิดขึ้นในภายหลัง ผมมองไม่เห็นเจตนาที่จะทำอย่างนั้น เหตุผลที่กรมศุลกากรบอกว่าเราฉ้อฉลภาษี อยากจะถามว่าการฉ้อฉลที่ว่านั้นบริษัทเข้าไปสมรู้ร่วมคิดกับกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซียหรือผมไปร่วมมือกับเขาในการทำเอกสารปลอมขึ้นมาอย่างนั้นหรือ ถ้าใช่อย่างนี้เรียกว่าฉ้อฉล แต่ผมติดต่อซื้อขายกับมาเลเซียไม่ได้ติดต่อซื้อขายกับจีน เอกสารต่างๆก็ได้มาจากผู้ขาย ผู้ขายก็ได้มาจากหน่วยงานราชการของประเทศเขา แล้วอย่างนี้ผมฉ้อฉลตรงไหน แล้วยังมีคำถามที่ผมยังติดใจเพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ยัดเยียดมา อย่างการอ้าง พ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ.2481 ซึ่งควบคุมเฉพาะสินค้าหัตถกรรม แต่รถยนต์เกี่ยวกับสินค้าหัตถกรรมอย่างไร เพราะไม่ใช่รถยนต์กงเต็กเป็นเหล็กทั้งคัน ซึ่งข้อสงสัยเหล่านี้เราสงสัยและคาใจมาตลอดแต่ศุลกากรก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างกับเราได้เสียที ทั้งหมดนี้เราจึงมองว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่เราไม่สามารถส่งมอบรถได้”นายคณิสสร์ กล่าว

เมื่อถามว่า กรมศุลกากรได้เปิดเผยภาพรถยนต์ทั้งคันที่นำมาจากจีนและลงเรือมาที่มาเลเซีย นายคณิสสร์ กล่าวว่า หน้าที่กรมศุลกากรต้องตั้งข้อสงสัยอยู่แล้ว แต่การจะตรวจสอบต้องทำตามขั้นตอน ซึ่งต้องทำตามประกาศกฎระเบียบของกรมศุลกากร ที่ระบุว่าหากมีข้อสงสัยต้องทำหนังสือไปสอบถามยังหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไปแล้วหรือยัง อาจจะทำแล้วและได้คำตอบมาแล้ว แต่ทางบริษัทยังไม่ได้รับแจ้งหนังสือนี้ ส่วนที่ว่าตามภาพรถวิ่งมาจากจีนผ่านมาเลเซียและเข้าไทยนั้น ตนไม่มีข้อสงสัย เพราะท่านยืนอยู่จุดเดียวแล้วมองไป แต่กว่ารถคันนี้จะวิ่งมาจากจีนมีขั้นตอนอย่างไร ท่านรู้หรือไม่ ซึ่งศุลกากรต้องไปสืบหาข้อเท็จจริงว่าก่อนที่รถจะวิ่งมาจากจีนนั้นมีสัดส่วนของชิ้นส่วนที่อยู่ในมาเลเซียอยู่แล้วมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ตามกฎความตกลงการค้า สินค้าของอาเซียน ดังนั้นมาเลเซียมีสิทธิที่จะออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องอธิปไตยของมาเลเซียซึ่งทางศุลกากรต้องไปถามเขาว่าออกหนังสือมาได้อย่างไร และถ้าท้ายที่สุดพิสูจน์ได้ว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอม ทางบริษัทต้องไปฟ้องร้องหน่วยงานที่ออกเอกสาร เพราะตนเอาเอกสารเท็จมาใช้ก็เป็นเหยื่อเหมือนกัน และต้องมีการรายงานไปยังเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงอยากเรียกร้องให้ทางศุลกากรทำตามขั้นตอน ถ้ามีสิทธิพิสูจน์ก็ต้องทำตามกฎหมาย

ด้านนายธาวิน กล่าวว่า การร้องเรียนเกี่ยวกับขสมก.และกรมศุลกากร ถือเป็นหน่วยงานรัฐที่อยู่อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะตรวจสอบ โดยในการตรวจสอบขสมก.จะต้องดูเรื่องสัญญา เรื่องข้อตกลงการส่งมอบรถ ขณะที่กรมศุลกากรจะต้องดูในเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่ารถยนต์ดังกล่าวเข้าเงื่อนไขกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยคาดว่าประมาณ 15-20 วัน จะมีความชัดเจนในเรื่องของขั้นตอนการสอบสวน รวมถึงจะพิจารณาว่าจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงหรือไม่

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นช่วงบ่าย นายคณิสสร์ ศรีวัชระประภา พร้อมด้วย นายชนิด ศุทธยาลัย ที่ปรึกษากฎหมาย ให้สัมภาษณ์พร้อมแสดงเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่อ้างว่ามีเจ้าหน้ากรมศุลกากรแก้ไขต่อเติมด้วยข้อความที่ระบุว่า รถยนต์โดยสารที่นำเข้ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน ซึ่งทำให้ขสมก.เข้าใจผิดและไม่รับรถของทางบริษัท ทั้งนี้ การบันทึกข้อความดังกล่าวของใบขนส่งสินค้า หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีความเห็นอื่นใด จะต้องลงบันทึกด้านหลัง ไม่ใช่มากรอกไว้ด้านหน้า ซึ่งเป็นส่วนของผู้นำเข้า ทั้งนี้ ตนและที่ปรึกษากฎหมายจึงได้ไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำนวน 3 คน แต่อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 3 คน สามารถแก้ไขเอกสารดังกล่าวได้ น่าจะมีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง ซึ่งในวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ เวลา 13.30 น. ทางบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จะแถลงข่าวเพื่อชี้แจง และเปิดโปงรายละเอียดทั้งหมด ที่ร้านอาหารเพลิน ถ.วิภาวดี

“ทางบริษัทมั่นใจว่ามีกระบวนการเบื้องหลังกลั่นแกล้งบริษัท เราพยายามอดทน ขสมก.พยายามที่จะยกเลิกสัญญา โดยเอาเหตุการณ์การสร้างเอกสารเท็จมาขอยกเลิกสัญญา ที่ผ่านมาได้มีการทำเอกสารเท็จขึ้นมาถึง 3 ครั้ง แต่เราก็ยังเฉย แต่ที่ออกมาครั้งนี้ เพราะไม่มีที่จะถอยแล้ว” นายคณิสสร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image