อลงกรณ์ชวนช่วยกันออกแบบรธน. ดีกว่าปล่อยเลือกตั้งไป แล้วปชต.ไม่รอด

‘อลงกรณ์’ชี้ข้อเสนอ ครม.ไม่ใช่เรื่องใหม่-ไม่สืบทอดอำนาจ แนะ กรธ.แก้ร่าง รธน.บัญญัติส่วนแรกให้เป็น ปชต.เต็มใบ ชงบทเฉพาะกาลแก้เรื่องเฉพาะกิจ พร้อมเสนอทางออกให้ฝ่ายการเมืองช่วยคิดร่วมกัน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญหลังจากรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วนเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ก่อนถึงวันลงประชามติในวันที่ 31 กรกฎาคม ตามโรดแมปสู่การเลือกตั้งในปีหน้าถือว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากของ กรธ.ว่าจะปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ตอบสนองข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะความเห็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งให้ กรธ.ทั้ง 16 ข้อ ที่มีโจทย์ใหญ่คือ จะมีมาตรการอะไรไม่ให้ประเทศเผชิญวิกฤตการณ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า ข้อห่วงใยของ ครม.นั้น ตรงกับความกังวลของคนส่วนใหญ่ที่ไม่แน่ใจว่าหลังเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เป็นวิกฤตของประเทศ ดังนั้น ตนจึงขอเสนอต่อ กรธ.ดังนี้

1.ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญส่วนแรกที่ใช้บังคับเป็นการถาวรให้ยึดแนวทางประชาธิปไตยที่เป็นหลักสากล เช่น นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ส่วนที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยวางระบบถ่วงดุลและตรวจสอบบนฐานอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เป็นหลัก รวมทั้งกำหนดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจน เป็นมาตรฐานสากลและการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่าให้ยากจนเกินควร และ 2.เรื่องเฉพาะกิจในระยะเปลี่ยนผ่าน ให้บัญญัติในบทเฉพาะกาล เช่น ที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. รวมถึงมาตรการและกลไกป้องกันวิกฤตมิให้ซ้ำรอยเหตุการณ์รัฐประหาร โดยเขียนระยะเวลาและขั้นตอนกระบวนการให้ชัดเจน ซึ่ง กรธ.ควรเชิญตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งมาหารือเฉพาะประเด็นสำคัญในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกิจเฉพาะกาล

Advertisement

“การแก้ไขปัญหาความแตกแยก ขัดแย้งทางการเมืองเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดองไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ แม้แต่รัฐธรรมนูญบังคับให้เกิดขึ้นได้ เว้นแต่จะให้ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งมีส่วนในการช่วยคิดช่วยทำและตระหนักถึงปัญหานี้ที่ต้องรับผิดชอบอนาคตของประเทศร่วมกัน ตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านอำนาจในประเทศเมียนมาเป็นตัวอย่างที่ดี ที่เห็นเป็นประจักษ์ใกล้ตัวที่สุด ดังนั้นข้อกังวลของ ครม.จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจมองข้าม หรือละเลยไม่ใส่ใจและไม่ใช่เป็นข้อห่วงใยของ ครม.แต่ฝ่ายเดียว หากเป็นข้อกังวลของทุกฝ่าย และไม่ใช่ประเด็นที่จะมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจแต่อย่างใด ผมคิดว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศและของทุกคน เคยถามนักการเมืองพรรคใหญ่ว่า มั่นใจแค่ไหนว่าเลือกตั้งแล้วจะไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงหรือวิกฤตอีก ปรากฏว่าไม่มีใครมั่นใจแม้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้นต้องช่วยกันออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันหรือแก้ไข มิใช่ปล่อยให้ไปตายเอาดาบหน้า สูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ บ้านเมืองแตกแยกและประชาธิปไตยไปไม่รอด” นายอลงกรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image