ทวารัฐ โต้ 5 ข้อ ไอเดียเปลี่ยนรูปแบบโรงไฟฟ้า อภิสิทธิ์-กรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โพสต์ข้อความ ชี้แจงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตนายกฯและรองนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ แนะนำรัฐบาลให้เปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าจากรูปแบบถ่านหิน โดยระบุว่า

ตามที่ พี่มาร์ค และพี่กรณ์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ เมื่อเช้านี้ ผมมี 5 ประเด็นที่ต้องขอชี้แจงและแสดงความเห็นต่างครับ ในภาพรวม ผมขอเรียนว่า กระทรวงพลังงานมีจุดยืนที่เห็นว่าแม้ว่าการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ก็จริง (ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนแหล่งก๊าซฯในประเทศและแหล่งจากประเทศเมียนม่าที่จะลดลงและหมดไปในอนาคตอันใกล้) แต่เราต้องตระหนักว่าก๊าซแอลเอ็นจียังมีความผันผวนด้านราคาสูง และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในระยะยาวหากประเทศไทยยังไม่ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า แถมด้วยว่าภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงสุดในด้านความมั่นคงในระบบไฟฟ้า

ส่วนประเด็นที่ผมจะขอชี้แจงทำความเข้าใจมีดังนี้ครับ

1. การนำก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี มาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นได้ก็จริง แต่สำหรับการก่อสร้าง LNG Terminal ในเขตภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยนั้นยังต้องศึกษาประเด็นทางเทคนิคเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น เนื่องจากอาจมีปัญหาเรื่องร่องน้ำลึกทำให้เรือนำเข้าไม่สามารถเข้าออกได้ ส่งผลให้ท่อที่ใช้ลำเลียงก๊าซเหลว(แอลเอ็นจี)มีความยาวเกินกว่าระยะมาตรฐาน หรือหากจะดำเนินการก็ต้องก่อสร้างในรูปแบบของคลังก๊าซฯลอยน้ำ (Floating Storage Regasification Unit : FSRU) ซึ่งก็ต้องมีการก่อสร้างโครงสร้างบังคลื่น (Breakwater) โดยเฉพาะหากจะก่อสร้างในเขตภาคใต้ตอนล่างที่เป็นเขตมรสุมที่มีช่วงเวลาที่คลื่นลมแรงมาก

Advertisement

2. สำหรับข้อเสนอให้ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น ผมเห็นว่าน้ำมันปาล์มเป็นผลผลิตการเกษตรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง และสูงเกินกว่าจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแบบถาวร แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจะได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยรับซื้อน้ำมันปาล์มมาผสมน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าเป็นการชั่วคราวในช่วงที่น้ำมันปาล์มล้นตลาดและมีราคาตกต่ำเพื่อช่วยพยุงราคามาโดยตลอด ส่วนในเรื่องต้นทุนนั้น ไม่ต้องพูดถึงครับ แพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตไฟฟ้าของประเทศเกือบสองเท่าครับ

3. ส่วนกรณีที่ พี่กรณ์ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนแนวทางการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีนั้น ผมยอมรับและเห็นด้วยว่าปัจจุบันแอลเอ็นจี มีแหล่งผลิตหลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต และมีราคาที่ลดต่ำลงมา แต่การเลือกเชื้อเพลิงสำหรับนำมาผลิตไฟฟ้ายังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา เช่นกัน เช่น ราคาแอลเอ็นจีมีความผันผวนสูง และยังอ้างอิงอยู่กับราคาน้ำมันค่อนข้างมาก ทำให้โรงไฟฟ้าอาจควบคุมต้นทุนได้ยาก นำมาสู่ความเสี่ยงในระยะยาวสูงกว่า

4. ส่วนกรณีที่ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดจะใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างสูงกว่าโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี ก็เป็นการคำนวนในระยะสั้น เพราะหากพิจารณาค่าใช้จ่ายตลอดระยะโครงการโดยคำนึงถึงการผลิตไฟฟ้าที่ต่อเนื่อง (Base Load) จะพบว่าต้นทุนไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหินจะถูกกว่าแอลเอ็นจี ถึงประมาณ 30-40% ทีเดียว

5. สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับคลังนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีอยู่เพียงคลังเดียวในจังหวัดระยองในปัจจุบันนั้น ผมต้องขอชี้แจงว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้มีแผนเพิ่มคลังนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เช่น ที่บริเวณอ่าว ก.ไก่ ใกล้ๆกับ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และฝั่งตะวันตกจากประเทศพม่าที่สามารถใช้ท่อก๊าซฯ เดิมจากแหล่งเยตากุนได้ แม้ว่าก๊าซจากแหล่งเยตากุนจะหมดไป เป็นต้น

คืนนี้ขอนำเรียนชี้แจง 5 ข้อก่อนนะครับ หากจำเป็นพรุ่งนี้จะขอมาชี้แจงเพิ่มเติมครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image