สมาคมนัก กม.สิทธิ ลุยเพิกถอนระเบียบกกต. แม้จะแก้แล้ว ปชช.ชู 2 มือส่งกำลังใจผู้สมัครส.ว.

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยันเดินหน้าฟ้องยกเลิกระเบียบ กกต. แม้จะแก้ไขแล้ว-ปชช.ร่วมชูสองมือส่งกำลังใจให้ผู้สมัคร ส.ว.

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่สโลว์คอมโบ ซอยจุฬา 48 เขตปทุมวัน เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม “สมัครเพื่อเปลี่ยน จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 17.00 ตัวแทนนิสิตนักศึกษาอ่านแถลงการณ์เชิญชวนผู้มีสิทธิสมัคร ส.ว. จากนั้นเวลา 17.10 น. เปิดวงเสวนา “เสียงจากคนไม่มีสิทธิถึงคนมีสิทธิ” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ น.ส.ปนัดดา ศิริมาศกุล นักกิจกรรมทางการเมือง นายฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงาน น.ส.จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้บริหาร SpokeDark TV น.ส.จันทนา วรากรสกุลกิจ นักกิจกรรมทางการเมือง  ดำเนินรายการโดย นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์การเมือง

เวลา 18.10 น. นายชล คีรีกูณฑ์ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้แถลงความคืบหน้าคดีขอเพิกถอนระเบียบ กกต.จากศาลปกครองวันนี้ว่า ตอนนี้ดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ในข้อที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 11 อนุ 2 อนุ 5 ซึ่งเมื่อวานนี้ทาง กกต.ได้มีการแก้ระเบียบที่ 7 ที่ 8 ไปแล้ว แต่ผู้ฟ้องก็จะมีการขอให้เพิกถอนระเบียบตามข้อที่กล่าวไว้ดังเดิม

ADVERTISMENT

โดยเหตุผลเบื้องต้นคือการออกระเบียบไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นมาตรการในการจำกัดสิทธิเสรีภาพทั้งผู้สมัคร ผู้รับสมัคร และผู้ที่จะเลือกคนอื่น รวมถึงประชาชนที่จะเข้าตรวจสอบด้วย

ชล คีรีกูณฑ์

“เมื่อชั่งน้ำหนักการจำกัดสิทธิเสรีภาพไปเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับ กลับไม่มีผลได้มาเลยซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน” นายชลกล่าว

ADVERTISMENT

นายชลกล่าวว่า เมื่อไปดูระเบียบข้อที่ 5 ระเบียบนี้ใช้กับผู้ที่ประสงค์ที่จัสมัคร ส.ว. ถามว่าผู้ประสงค์ที่จะสมัครมีใครบ้าง แค่ไหนถึงเรียกว่าผู้ประสงค์ที่จะสมัคร ในระเบียบนี้ไม่มีการให้คำนิยามไว้ สมมุติถ้าตนอยากสมัคร แต่ตนเปลี่ยนใจไม่สมัคร นี่เรียกว่าเป็นผู้ประสงค์ที่จะสมัครหรือไม่ ซึ่งเมื่อย้อนไปที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.ส.ว.) ก็ไม่ได้ให้อำนาจในการออกข้อห้ามผู้ประสงค์ที่จะสมัคร

นายชลกล่าวต่อว่า สำหรับบรรยากาศภายในห้องพิจารณาศาลปกครอง กกต.มีการนำเสนอต่อศาลว่าระเบียบที่ออกมาเป็นไปด้วยความเท่าเทียมและความเสมอภาค โดยเน้นในเรื่องของการแนะนำตัว ผู้แนะนำตัวเยอะจะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกัน เลยอยากให้มีการแนะนำตัวให้น้อย ซึ่งตนมองว่าไม่เมคเซนส์ในการเลือก ส.ว.

“ความย้อนแย้งในหลายหลายอย่างไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะมากำหนดได้ขนาดนั้น ขณะเดียวกัน กกต.ก็ไปล้อกับมาตรา 16 และ 36 แห่งพ.ร.ป. ส.ว. คิดว่าเป็นการแนะนำตัวแบบเดียวกันแต่เมื่อเรานำมาตีความจะเป็นการแยกออกจากกัน” นายชลกล่าว

นายชลกล่าวว่า เอกสารประกอบการสมัครก็เรื่องหนึ่ง วิธีการแนะนำตัวก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็คิดว่าเป็นแบบเดียวกันก็เลยไปล้อกับมาตรา 16 แห่ง พ.ร.ป. ส.ว. แต่จริงๆ เป็นสิทธิของทุกคนโดยชอบธรรม เป็นสามัญสำนึก และเพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือก ส.ว. ทุกคนควรแนะนำตัวให้ได้มากที่สุด ก็ไม่แปลกที่คนจะแนะนำตัวเยอะ เพราะมีความสามารถเยอะ เราอยากได้คนมีความสามารถเยอะ ไม่ใช่อยากได้คนที่มีความสามารถน้อย

“ศาลได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เพื่อสรุปสำนวนคดีทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นไปตามคำขอ ที่เราขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นคดีเร่งด่วน” นายชลกล่าว

จากนั้นเวลา 18.25 น. มีการแสดงสแตนด์อัพคอมเมดี้หยอกล้อการเมืองและ ส.ว. แต่งตั้ง พร้อมชวนคนไปสมัคร ส.ว. โดย ยอยอ ยืนเดี่ยว และ นิ มาดามดูมี ยืนเดี่ยว

ต่อมาเวลา 19.00 น. ประชาชนผู้ร่วมงานร่วมชูสองมือ ส่งต่อความหวังและพลังใจให้กับผู้มีสิทธิสมัคร ส.ว.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image