9.00 INDEX สถานการณ์ “ปรองดอง” วาเลนไทน์ บทบาทสัตยาบัน และ สัญญาประชาคม

คำว่า “สัตยาบัน” คำว่า “สัญญาประชาคม” อาจไร้ความหมายหากนำมาเป็น “บรรทัดฐาน”ในสังคมไทย
บทสรุปเช่นนี้มี “ความจริง” รองรับ
และอย่าคิดว่า “ความจริง” อันเลวร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้นแต่ในกลุ่ม “นักการเมือง”
เหมือนที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เคย”พลิ้ว”
กระนั้น หากติดตามบทบาทของกลุ่มบุคคลที่มิได้เป็น”นักการเมือง”ก็ปรากฏให้เห็นเหมือนกัน
อย่างกรณีที่หลายคนออกมาพูดเรื่อง “รัฐประหาร”
บรรดาผู้ที่มีส่วนร่วมกับ “รัฐประหาร” ล้วนแล้วแต่เคยออกมาให้คำมั่นต่อสังคมว่า
“จะไม่ทำรัฐประหาร”
แต่แล้วก็เกิด “รัฐประหาร”ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ว่าจะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ไม่ว่าจะเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
สังคมจึงยังมากด้วยความหวาดระแวง คลางแคลงใจ

ความหวาดระแวงนั้นนับแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา “น้ำหนัก”อาจเอนเอียง
เอนเอียงไปทาง “นักการเมือง”
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เพราะรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นั้นเองทำให้สายตาที่มองไปยังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แปรเปลี่ยน
แปรเปลี่ยนไปในทางหวาดระแวง คลางแคลงใจ
แทนที่จะพุ่งไปยัง “นักการเมือง” หากาแต่ยังพุ่งไปยัง”ทหาร” และรวมไปถึง “นักธุรกิจ”
ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามต่อ “ทหาร” และ”นักธุรกิจ”
เป็นคำถามในลักษณะที่ว่า ทำไมต้องพุ่งไปยัง”นักการเมือง” เพราะ “ทหาร”และ”นักธุรกิจ”ก็ตกเป็นเป้าเหมือนกัน
จำเป็นต้องร่วม”สัตยาบัน” จำเป็นต้องทำ”สัญญาประชาคม”

แม้จะหวาดระแวง แม้จะคลางแคลงใจ แต่”แนวโน้ม”สำคัญ เป็นแนวโน้มที่เริ่มเห็นด้วยกับบทสรุป
อันมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แม้จะเป็นบทสรุปที่กัน “ทหาร” ออกไป แม้จะเป็นบทสรุปที่มิได้รวมเอา “นักธุรกิจ”เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสัตยาบันและสัญญาประชาคม
แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ สายตา “ประชาคม”
ในเมื่อขบวนการ “ปรองดอง” กระทั่งกลายมาเป็น “สัตยาบัน” กลายมาเป็น “สัญญาประชาคม”
อยู่ในสายตาของ “ประชาคม”
ไม่ว่าใครจะ “ลงนาม” ไม่ว่าใครจะ “ไม่ลงนาม” แต่ที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ “ความรับรู้” ของประชาชน
นี่คือ “สัจจะ” อันยากยิ่งที่จะ “ละเมิด”
ไม่ว่าจะเป็น “นักการเมือง” ไม่ว่าจะเป็น “ทหาร” ไม่ว่าจะเป็น “นักธุรกิจ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image