“ครูหยุย”ตั้งกระทู้ถามจนท.หย่อนยานปล่อยตั้งสถานบริการในเขตต้องห้าม

“ครูหยุย”ตั้งกระทู้ถามเจ้าหน้าที่หย่อนยานปล่อยตั้งสถานบริการในเขตต้องห้าม ด้านมท.2 ยันบังคับใช้กม.เข้ม เพื่อแกปัญหาสังคม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีการตั้งกระทู้ถามสดเรื่องมาตรการการควบคุมสถานบริการให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า ปัจจุบันปัญหาการเปิดสถานบริการจำหน่ายสุราในพื้นที่ต้องห้ามยังคงมีอยู่ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด แม้จะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2558 รวมถึงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา แต่มาตรการทางกฎหมายเหล่านี้อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกทม.หย่อนยานที่สุด จากการปล่อยปะเลยจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ตั้งสถานบริการ เพราะปัญหาเกิดจากการเพิกเฉยของผู้บังคับใช้กฎหมาย และการตั้งใจฝ่าฝืนของผู้ขออนุญาต

“อยากถามว่า บทบัญญัติตามกฎหมายต่างๆที่ใช้ควบคุมการเปิดสถานบริการมีเพียงพอหรือไม่ที่ใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้การควบคุมสำเร็จผลมากกว่าปัจจุบันหรือไม่ รวมทั้งแนวทางจัดโซนนิ่งสถานบริการในกทม. และต่างจังหวัด ต้องจัดระบบให้ชัดเจนมากกว่าเดิมหรือไม่” นายวัลลภ กล่าว

ด้าน นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงถึงบทบัญญัติ ของกฎหมายที่ใช้บังคับทั้ง พ.ร.บ.สถานบริการ2509 และแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 50 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2502 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับและปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน รวมถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2515 เช่นเดียวกัน และคำสั่งคสช.2 ฉบับล่าสุดก็สอดคล้องกับปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นถือว่ากฎหมายที่มีอยู่พอเพียงสำหรับแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การทำงานของกระทรวงมหาดไทยได้เน้นนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยลดอบายมุข สร้างสุขให้สังคม รวมถึงนโยบายที่รัฐบาลและคสช.ให้มา โดยผลสัมฤทธิ์ที่ทุกหน่วยการราชการดำเนินการร่วมกัน การตรวจสถานบริการในทุกจังหวัดรวมถึงกทม.ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจำนวน 22,344 ครั้ง ตรวจร้านจำหน่ายสุราทั้งหมด102,309 ครั้ง การดำเนินการตามตามพ.ร.บ.สถานบริการ ประกอบคำสั่งคสช.ที่ 22/2558 ได้ปิดสถานบริการ 5 ปี จำนวน 245 แห่ง การดำเนินการตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 50 ปิดสถานบริการ 2 แห่ง และสถานประกอบการ 94 แห่ง

Advertisement

นายสุธี กล่าวต่อว่า สำหรับสถานบริการในปี 2558 จำนวน 2,991 แห่ง ในกทม.จำนวน 470 แห่ง ในภูมิภาค 2,521 แห่ง และในปี 2559 หลังจากที่เราเข้มข้นในเรื่องของกฎหมาย บูรณาการร่วมกัน ทำงานเป็นทีมทำให้สถานบริการลดลงเหลือ 2,801 แห่ง แม้เราจะมีชุดปฏิบัติการทำงาน โดยได้รับข้อมูลจากศูนย์ดำรงธรรม สำนักนายกฯ กระทรวงยุติธรรม รวมถึงภาคประชาสังคมที่แจ้งข้อมูลมา สำหรับโซนนิ่งของสถานบริการ ครม.ได้มีมติที่ผ่านมาให้มีการทบทวนเรื่องโซนนิ่งโดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ 27 แห่ง โดย 13 แห่งใน 13 จังหวัดภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโซนนิ่งสถานบริการ โดยได้ผ่านความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว กำลังเสนอให้ครม.พิจาณา ส่วนอีก 14 จังหวัด คณะกรรมการร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาปรับถ้อยคำเพื่อให้จังหวัดได้ทบทวน เมื่อเสร็จก็จะเสนอให้ครม.ให้ความเห็นชอบ เพื่อจะได้ประกาศโซนนิ่งต่อไป ส่วนในกทม.แม้จะอยู่ในความรับผิดชองของกรองบัญชาการตำรวจนครบาลแต่ก็ได้ประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยโซนนิ่งของกทม. 50 เขต พื้นที่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงใช้โซนนิ่งเดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2545-2547 ส่วนจ.บึงกาฬ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ขอปรับปรุงขึ้นมาด้วย ก็คงจะดูตามความเจริญของพื้นที่ และความสงบเรียบร้อยของพื้นที่ ดังนั้นยืนยันว่ารัฐบาลและคสช.ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image