‘พริษฐ์’ มอง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ขัดแย้งกว่าอดีต ยกแนวทาง 3 R ให้ไทยมีตัวตนบนเวทีโลก

‘พริษฐ์’ มอง ปัญหา Geopolitics ปัจจุบันขัดแย้งรุนแรงกว่าอดีต-การร่วมมือระหว่างประเทศยากกว่าเดิม ยกแนวทาง 3 R ให้ไทยมีตัวตนบนเวทีโลก

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่เกษร ทาวเวอร์ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญขีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมงาน ‘มติชนฟอรั่ม หัวข้อ Thailand 2024 : Surviving Geopolitics’ ว่า หากพูดถึงสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เราจะเห็นสองแนวโน้ม ที่เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วก็ถือว่าน่ากังวลอยู่เช่นกัน

เรื่องแรก เราเห็นว่าในปัจจุบัน ความขัดแย้งอยู่ในจุดที่สูงกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ ปัญหาสงครามในภูมิภาคต่างๆ ทั้งในตะวันออกกลาง รัสเซีย-ยูเครน หรือใกล้ประเทศไทยขึ้นมาอีกก็เป็นประเทศเมียนมา เราจะเห็นว่าความขัดแย้งในระดับโลกสูงขึ้น ซึ่งการร่วมมือกันระหว่างประเทศก็อาจจะเจอความท้าทายมากกว่าทุกครั้ง

Advertisement

เรื่องที่สอง โลกกำลังเจอความท้าทายหลายด้าน ที่ส่งผลให้ความร่วมมือระหว่างกัน มีความจำเป็นมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เช่นภาวะโลกรวน ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง ก็ต้องอาศัยการร่วมมือกันกับทุกประเทศ หรือมลพิษทางอากาศที่ชาวภาคเหนือเผชิญ ที่ส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ต้องใช้กลไกแก้ไขที่ไปไกลกว่าที่ใช้ในประเทศ หรือหากมองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างเอไอที่เข้ามา ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ในหลายมิติ แต่อีกมุมอย่างการจะจำกัดกติกาหรือดูแลเรื่องนี้ ก็เป็นกติกาที่ต้องมาร่วมกำหนดกันระหว่างประเทศ

เมื่อถามว่า ทฤษฎีการทูตแบบไผ่ลู่ลมยังคงได้ผลท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากกว่าในอดีตหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในมุมของพรรค ก.ก. เคยพูดถึงแนวทางต่างประเทศ 3 R

Advertisement

1. Rebalance การหาสมดุลในการแข่งขันของสองมหาอำนาจ เราเห็นความตึงเครียดจากประเทศมหาอำนาจ จะทำอย่างไรให้ไทยยังสามารถคงบทบาทของตัวเองได้ท่ามกลางสองมหาอำนาจ โดยไม่ให้เราเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

2. Rule based foreign policy การมีท่าทีนโยบายต่างประเทศที่อิงหลักเกณฑ์เป็นหลัก ตนคิดว่าสิ่งที่จะทำให้เรามีบทบาท และตัวตนบนเวทีโลกได้ คือการที่เรามีหลักการที่ชัดเจน ว่าเราให้ความสำคัญกับคุณค่าอะไร เช่นหากเราให้คุณค่ากับหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เราก็ควรยึดถือคุณค่านั้น ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นระหว่างใครกับใคร

3. Relevance คือการจะทำอย่างไรให้ไทยกลับมามีบทบาทบนเวทีโลก ในเมื่อหลายปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายประเทศ และขนาดประเทศไทยเอง ก็ไม่ได้ใหญ่เทียบเท่าประเทศมหาอำนาจ ซึ่งสิ่งที่เราต้องมาทบทวน คือทำอย่างไรให้กลไกระหว่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศอย่างอาเซียน เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการแก้ไขปัญหาที่กระทบมากกว่าหนึ่งประเทศ

ทำอย่างไรที่จะให้เราออกแบบ หรือคิดแนวทางการปฏิรูปกลไกอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาภายในภูมิภาคได้มีอย่างประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของอาเซียนมีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาท ต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image