ดุลยภาค งัดไม้ตาย ผ่าสมรภูมิรบ ‘เมียนมา’ เปิดปมตัวแสดงเดือดบู๊ ’มินอ่องลาย’ หลังรัฐประหาร

ดุลยภาค งัดไม้ตาย ผ่าสมรภูมิรบ ‘เมียนมา’ เปิดปมตัวแสดงเดือดบู๊ ’มิน อ่อง ลาย’ หลังรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ห้องคริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท อาคารเกษรทาวเวอร์ แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์มติชนจัดมติชนฟอรั่ม หัวข้อ Thailand 2024 : Surviving Geopolitics

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. บุคคลต่างๆ จากหลากแวดวงทยอยเดินทางเข้าร่วม โดยมีผู้บริหารในเครือมติชนให้การต้อนรับ นำโดย นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ นสพ.มติชน, นายสุพัด ทีปะลา บรรณาธิการบริการ นสพ.มติชน, นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ และนายวุฒิเทพ เตชะภัทร บรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด และนายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เป็นต้น

Advertisement

โดย เวทีเสวนา “Thailand 2024 : Surviving Geopolitics” นำโดย นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์มากมาย อาทิ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พร้อมด้วย รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายคุณากร วณิชย์วิรุฬห์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์โลกและภูมิรัฐศาสตร์

Advertisement

เวลา 10.30 น. รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นบรรยายหัวข้อ “ผ่าเมียนมา ทะลุไทยและอาเซียน วิเคราะห์จุดเดือดสมรภูมิรบภูมิรัฐศาสตร์”

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า ตนขอใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ตรงนี้ ให้เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงที่สนุกสนาน และสร้างคุณูปการต่อทุกท่าน ตนขอใช้แนววิเคราะห์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งผสมผสาน 3 สิ่งด้วยกัน คือ ภูมิศาสตร์ การทหาร และรัฐศาสตร์ รวมถึงการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกลุ่มผู้มีอำนาจพม่าหลังรัฐประหาร และนำเอาตัวแสดงเหล่านี้ เข้าไปจัดวางลงไปในระบบโครงร่างทางภูมิรัฐศาตร์ของพม่าอย่างเป็นระบบระเบียบ

“รวมถึงจะใช้ท่าไม้ตายที่พิเศษ คือ วิชาภูมิศาสตร์พม่าและอาณาบริเวณศึกษา ซึ่งเป็นวิชาที่เน้นการพรรณนาและให้ภาพเฉพาะ ในแต่ละพื้นที่ของพม่าและอื่นๆได้อย่างลงตัวและลุ่มลึก” รศ.ดร.ดุลยภาคเผย

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า นักวิเคราะห์พูดกันมากถึงโครงสร้างพม่าหลังรัฐประหาร ‘มิน อ่อง ลาย’ มีรูปพรรณสัณฐานอย่างไรกันแน่ ในมุมของตนคิดว่าเป็นแบบสามก๊ก 3 ขั้วอำนาจ

“ก๊กแรก คือ ก๊ก SAC คือรัฐบาลทหาร นำโดยสภาบริหารปกครองรัฐโดยผู้ที่มีอำนาจสูงสุด พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย รองลงมา คือ พล.อ.อาวุโสโซ วิน กลุ่มนี้มีฐานอำนาจ คือ กองทัพทหารพม่า Tatma daw, BGF กองกำลังทหารพิทักษ์ชายแดน และกองทหารต่างๆ เยอะมาก

เมื่อเราดูพันธมิตรระหว่างประเทศ เราจะพบว่า รัสเซีย กับ เกาหลีเหนือ ที่เริ่มมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากขึ้นทุกที ซึ่งตามจริงแล้วความสัมพันธ์กับรัสเซีย และเกาหลีเหนือ กับ กองทัพพม่า มันวางไว้ก่อนที่มิน อ่อง ลาย รัฐประหารแล้ว ตั้งแต่ยุคนายพลตานฉ่วย” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวต่อว่า ส่วนด้านสหประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีประเทศไทย สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ที่ค่อนข้างจะเงียบเชียบในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่า แต่จะมีกิจกรรมทางการทูตบางอย่างที่นำไปสู่การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเจรจา เพื่อสร้างสันติภาพในพม่ามากด้วย

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ก๊กที่ 2 คือ ฝ่ายประชาธิปไตย นำโดย รัฐบาล NUG รัฐบาลเอกภาพชาติ กลุ่มนี้ได้ฟอร์มสถาบันการเมืองทางทหารที่น่าสนใจหลังรัฐประหาร เช่น CRPH เทียบแล้วดูเหมือนกับรัฐสภา หรือสถาบันนิติบัญญัติ

“มีการฟอร์มตัว NUG เป็นรัฐบาลเงา รัฐบาลคู่ขนาน แข่งขันรัฐบาลทหารเมียนมา และมี NUCC คล้ายกับสภาที่ปรึกษา คล้ายแพลตฟอร์มที่ให้ตัวแทนของ CRPH กับ NUG ดึงกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มเข้ามาออกแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย

ถือเป็นความก้าวหน้าในการออกแบบสถาบันทางการเมืองในฝั่งนี้ ฝั่งประชาธิปไตย ฉะนั้นจะมีการฟอร์มตัวของกลาโหม และมีการจัดตั้งระเบียบกองกำลัง กองทัพปกป้องประชาชน PDF และกองกำลังท้องถิ่นเรียกว่า LDF” รศ.ดร.ดุลยภาคระบุ

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศยุโรป รัฐบาลจาการ์ตาในอิโดนีเซีย เทน้ำหนักมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายประชาธิปไตย

“ส่วนก๊กที่ 3 คือ กองติดอาวุธชาติพันธุ์ ที่มีอยู่กันเป็น 10 กลุ่ม ความยากในการวิเคราะห์คือ เราจะจัดประเภทกองกำลังกลุ่มน้อยอย่างเป็นระบบระเบียบอย่างไร ผมก็จะจัดแบ่งประเทศให้เป็น 3 กลุ่มหลัก

กลุ่ม 1. กลุ่มคนที่ลงสัญญาหยุดยิงแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2015 เช่น NCA RCSS หรือ KNU 2. กลุ่มแรดิคอล (Radical) คือ ไม่อยากจะเจรจาต่อรองกับทางการพม่า แต่อยากจะทำสงครามอภิวัฒน์เพื่อสร้างสหพันธรัฐพม่า เรียกว่า UNFC มีสมาชิกสำคัญ KNPP และกลุ่มสุดท้ายอยู่แถบชายแดนจีน-พม่า ซึ่งมีความได้เปรียบค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับกองกำลังชาติพันธุ์อื่น คือ UWSA ว้าแดง และ FPNCC กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ นี่คือภาพรวมของโครงสร้างอำนาจหลังรัฐประหารของระบบ 3 ก๊ก” รศ.ดร.ดุลยภาคระบุ

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า วันนี้รัฐในพม่ามีความยุ่งเหยิงในทางภูมิรัฐศาสตร์มาก การปะทุของจุเดือดของการสู้รบ มีลักษณะแพร่ระบาดเหวี่ยงวงสวิงกระจายไปทั่วประเทศ และพบฐานที่มั่นเขตปลอดปล่อย ปฏิวัติ ไปตามแนวปกครองของชาติพันธุ์เกาะกลุ่มกันไปตามกระดูกภูเขาแนวเกือกม้า ที่ตีนทะแยงขึ้นไปจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า คือ รัฐยะไข่ เข้าไปรัฐฉิน รัฐคะฉิ่น ตีตวัดลงทางรัฐฉาน ลงมาผ่านถนนธงชัยชายแดนไทย-พม่า ไปถึงแนวเทือกเขาตะนาวศรี

“แนวโค้งของภูเขาแนวเกือกม้า เป็นฐานกำลังของฝ่ายต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รบชนะกองทัพทหารของพม่ามากขึ้น สร้างเขตปลดปล่อยได้มากขึ้นเรื่อยๆ และได้เกิดการกระชับวงล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อบีบอัดทอนกำลัง ให้กองทัพพม่าที่อยู่ตรงไข่แดง ที่ต้องอยู่บริเวณ Heartland ที่อยู่กลางประเทศ เกิดลักษณะตั้งรับ หรือ ย่นย่อมากขึ้นเรื่อยๆ จนเสียเปรียบฝ่ายต่อต้าน

สิ่งนี้คือเค้าโครงร่างหรือตัวตนของพม่าที่น่าจะชัดที่สุด ที่เราจะมองอย่างลึกซึ้งหลังช่วงรัฐประหาร แต่มันมีภาพที่ทับซ้อนและยุ่งเหยิงกว่านั้น คือ ภาพกองกำลัง 3 ก๊ก กำลังขับเคี่ยวช่วงชิงพื้นที่ เช่น บริเวณใจกลางของประเทศ พื้นที่ทหารพม่าประทะ กับกองกำลัง NUGF มีกองกำลังชาติพันธุ์เข้ามาหนุนเสริมบ้างแต่ไม่มาก” รศ.ดร.ดุลยภาคชี้

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ส่วนอาณาบริเวณที่อยู่ติดกับชายแดนไทย เป็นจุดที่เดือดมาก มีการประทะทางกำลังทหารที่เข้มข้น และมีการแย่งชิงถนนกัน เช่น แถวแม่สอดกับเมียวดี เป็นเส้นที่กองกำลังทหารและกองกำลังชาติพันธุ์เข้ามาพยายามจะแย่งชิง แต่บางพื้นที่ที่กลุ่มต่อต้านมักยึดครองช่วงอาณาดินแดนหุบเขา ซึ่งเป็น War scape ที่เป็นภูมิทัศน์สำคัญ ที่จะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวอีกว่า จุดเดือดอาณาบริเวณที่มีการเคลื่อนทัพต่อต้าน จะเป็นลักษณะลูกศรสวนพุ่งขึ้นไปดินแดนตรงกลาง ซึ่งเป็นฐานอำนาจของทหารพม่าอยู่ที่เนปิดอว์

“ยกตัวอย่างเช่น กองทัพกะเหรี่ยง KNU พันธมิตร และ PDF ซึ่งจะยึดจากเมียวดี กอกะเร็ก อาจจะเข้ายึดมะละแหม่ง ถ้าเข้มแข็งชนะเรื่อยๆ ก็อาจจะเข้าย่างกุ้ง เขตลุ่มสะโตง หรือ พยายามจะยึดรอยต่อให้ได้ ทัพคะฉิ่นก็จะบุกจากเหนือลงใต้จะเจาะทะลวงเข้าปริมณฑลของเนปิดอว์ได้ในเขต Burman Heartland

รวมถึงทิศทางการขยายอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจของประเทศจีนภายใต้กรอบ One Belt One Road เป็นเส้นทางที่เข้ามาทางชายแดนพม่า ลงมามัณฑะเลย์ และออกไปทะเลท่าเรือน้ำลึกที่รัฐยะไข่ นี่คือภาพที่เห็นชัดที่สุดเกี่ยวกับความสลับซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์ของพม่า” รศ.ดร.ดุลยภาคชี้

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ตนขอยกตัวอย่าง สมรภูมิรบที่ให้เห็นภาพพอสังเขป คือ 1. สรภูมิ Dry Zone คือ เขตร้อนแห้งของประเทศพม่า ในทางประวัติศาสตร์ หากเขารวบรวมกองทัพในเขตนี้ได้ ก็จะเกิดการแผ่อำนาจจากเขตนี้ ไปยึดเขตปากน้ำและจะทำให้เกิดอำนาจสุดแสนวิเศษที่ยิ่งใหญ่ ที่มีกำลังพลล้นเหลือจนส่งออกไปรบนอกบ้านได้

“จุดนี้เป็นจุดที่ทางกองทัพพม่ารับรู้และมักจะประชุมหลังรัฐประหาร เพื่อที่จะปกป้อง Dry Zone มีเมืองภูมิรัฐศาสตร์สำคัญเช่น ตองอู เนปิดอว์ มัณฑะเลย์ ชเวโบ เป็นต้น ซึ่งชเวโบหรือ รัตนสิงห์ เป็นอีกจุดรบที่ดุเดือดเห็นข่าวอยู่บ่อย อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นจุดที่ฝ่ายต่อต้านพยายามเข้าไป แต่กองทัพพม่ายอมไม่ได้ สะสมกำลังไล่ตีกลับ

ถ้าหากกองทัพพม่าพ่ายแพ้ จะเป็นการสูญเสียหัวใจทางประวัติศาสตร์ จะถูก take over ด้วยฝ่ายต่อต้าน ซึ่งจะผสมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเข้ามาด้วย ฉะนั้น Dry Zone จึงเป็นพื้นที่ที่กองทัพพม่าปะทะฝ่ายต่อต้านได้ลึก เยอะ และกระจัดกระจายในหลายห้วงบริเวณ แต่ภาพรวมกองทัพพม่ายังมีสมรรถนะในการยึดจุดยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่ตรงนี้ได้ต่อไป” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image