พริษฐ์ ทวงถาม รบ. จะหนุน ส.ส.ร. จากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ แนะทบทวนคำถามประชามติ

พริษฐ์ ทวงถาม รบ. จะหนุน ส.ส.ร. จากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ แนะทบทวนคำถามประชามติ

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พฤษภาคม ทางพรรคเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างไรบ้าง ว่า ในภาพรวมของการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ มีบรรจุในระเบียบวาระอยู่แล้วทั้งสองร่าง ร่างแรก คือร่างของพรรค ก.ก. และร่างที่ 2 ของพรรคเพื่อไทย (พท.) และเข้าใจว่าทาง ครม. จะเสนอร่างของตัวเองเข้ามาประกบด้วยเป็นร่างที่ 3 ซึ่งภาพรวมของเนื้อหาก็สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 3 ร่างอยู่แล้ว

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่สำคัญ คือการเร่งพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ทางวิป 3 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกันว่า จะเปิดประชุมสภาวิสามัญเพื่อพิจารณาการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ในวันที่ 18 มิถุนายน 1 วันก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 19-21 มิถุนายน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ตนก็หวังว่าร่างของ ครม. จะเข้ามาทัน เพื่อพิจารณาพร้อมกันทั้ง 3 ร่าง และทางวิปรัฐบาลก็ให้คำมั่นสัญญาว่า หากร่างของ ครม. เข้าไม่ทันที่ประชุมจริงๆ วิปรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่า ควรให้เดินหน้าพิจารณาร่างประชามติทั้ง 2 ร่างทันที

เมื่อถามว่า ทางพรรคจะเสนอรัฐบาลเพิ่มเติมในประเด็นใดบ้าง นายพริษฐ์กล่าวว่า ภาพรวมเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ถือว่าสอดคล้องกันแล้วแต่ หากลงรายละเอียดในร่างของพรรค ก.ก. จะมี 3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก กติกาเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น หรือ double majority ให้เป็น single majority จะทำให้การจัดทำประชามติมีความเป็นธรรมมากขึ้น และไม่เปิดช่องให้ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชามติผ่าน ใช้วิธีการอยู่บ้านเพื่อลดจำนวนเสียงของผู้ที่ไปใช้สิทธิ์

Advertisement

2. เราต้องการปลดล็อกให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำประชามติในวันเดียวกันกับวันเลือกตั้งระดับต่างๆ ให้สะดวกขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณ และเวลาที่ประชาชนต้องเดินทางไปใช้สิทธิ

3. อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ที่ต้องการเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติ ที่ต้องรวบรวมรายชื่อให้ได้ 5 หมื่นรายชื่อ สามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่ยังเห็นต่างอยู่ และอยากเรียกร้องไปถึงรัฐบาล ประกอบไปด้วย 2 ประเด็น ประเด็นแรก เราอยากให้ทบทวนคำถามประชามติ ให้เป็นคำถามที่เปิดกว้าง เพื่อให้การลงคะแนนเสียงมีเอกภาพ จากฝ่ายที่อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชามติ ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ประเด็นที่ 2 อยากให้รัฐบาลออกมายืนยันว่า จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทั้งร่างของพรรค ก.ก. และ พท. ยืนยันหลักการว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรายังไม่ได้รับคำยืนยันจากฝั่งรัฐบาล ว่าจะสนับสนุนหลักการนี้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image