นักวิชาการชำแหละ ครม.จี้รื้อรธน.16ข้อ

ยอดพล เทพสิทธา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพรวมของข้อเสนอปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 16 ข้อ ของ ครม. จริงๆ ก็ไม่มีอะไรพิเศษ อย่างที่รู้กันก็คือโรดแมปทั่วไป

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ข้อสุดท้าย จะเป็นกลไกสำคัญจะทำให้ไปสู่โรดแมปได้ง่ายยิ่งขึ้น คือกรณีกำหนดให้มีช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญแล้วให้มีการใช้อำนาจพิเศษต่อไปอีก ถ้าพูดตามอารยประเทศอื่นๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านเขาไม่ทำแบบนี้ เพราะมีหลายประเทศมีช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เขาก็เปลี่ยนผ่านตามระบบปกติ คือเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ใช้ระบบการเมืองปกติ แต่ของเราไม่เข้าใจว่าทำไมถึงจะต้องมีการใช้อำนาจพิเศษนี้

Advertisement

อีกอย่างหนึ่ง คือ เราไม่รู้เลยว่าหลังจากประกาศรัฐธรรรมนูญแล้ว มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ระยะเวลาที่อำนาจพิเศษยังอยู่จะคร่อมรัฐบาลใหม่ด้วยหรือไม่ เพราะในข้อเสนอไม่ได้ระบุว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ตัวอย่างคือในบทเฉพาะกาลอย่างนี้ควรจะระบุไว้เลยว่า 1 ปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้จะสิ้นสุดอำนาจพิเศษ เพราะผมคิดว่าหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว 1 ปี ควรจะมีรัฐบาลใหม่ได้แล้ว

การที่ ครม.มีข้อเสนอนี้ออกมา มองว่าเพื่อต้องการให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ในข้ออื่นๆ ก็อาจจะมีปัญหาบ้างแต่ไม่ชัดเท่าข้อสุดท้าย อาจจะมองได้ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจต่อ เพราะตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามด้วยบทเฉพาะกาล จนมาถึงข้อเสนอ ครม. ทุกอย่างมีแผนขั้นตอนมาเรื่อยๆ เพื่อรักษาอำนาจของ คสช. อีกทั้งยังมองได้หลายอย่างว่า ส่วนนี้มีไว้เพื่อกำกับรัฐบาลใหม่หรือเปล่า ถ้ามองในแง่ขององค์ประกอบอื่นในตัวรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ ใช่ เราจะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจค่อนข้างกว้างขวางแล้วยังประกอบกับองค์กรอิสระอื่นอีก

ส่วนการที่หลายฝ่ายออกมาติงข้อเสนอทั้ง 16 ข้อของ ครม.นั้น ตอบยากว่าจะทำให้ข้อเสนอเหล่านี้ไม่เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญได้ในที่สุด เพราะต่อให้ข้อเสนอนี้ไม่เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญตรงๆ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในตัวรัฐธรรมนูญก็มีบทเฉพาะกาลคล้ายแบบนี้อยู่ อาจจะไม่ใช่ลักษณะให้อำนาจพิเศษ แต่เป็นการให้หัวหน้า คสช.มีอำนาจต่อไปอีก 1 ปีเพื่อปฏิรูป ดังนั้น เลยแทบไม่ต่างกัน เพราะทุกอย่างถูกวางไว้ในบทเฉพาะกาลอยู่แล้ว

Advertisement

สุดท้ายถ้าจะให้ประเมินตัวรัฐธรรมนูญว่าจะผ่านหรือไม่ ผมมองว่าโอกาสจะเฉียดฉิวเหมือนรัฐธรรมนูญปี 50 มีมติ 49 กับ 51

ชำนาญ จันทร์เรือง

นักวิชาการอิสระ

ส่วนตัวติดใจข้อ 16 มากที่สุด ข้ออื่นธรรมดา คืออาจจะเป็นการหาคะแนนใส่ตัวเองหน่อย กรณีให้ศาลอาญาสามารถอุทธรณ์ได้ เห็นด้วยว่าระบบศาลต้องอุทธรณ์ได้ แต่ข้ออื่นรับไม่ได้ เพราะไม่เข้าข่ายส่งเสริมประชาธิปไตย ทั้งยังมีลักษณะล้าหลัง ตามหลังเยอะแยะ เข้าใจว่าปกติรัฐบาลทหารหรือ คสช. มีที่มาจากชนชั้นหัวกะทิ คือเรียนเก่ง มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการ สมัยก่อนการเรียนเข้าเตรียมทหารก็มีการแข่งกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนเรียนเก่งพอคิดจะทำอะไร ดีก็ดีมาก แย่ก็แย่มาก

โดยประสบการณ์แล้วเข้าใจว่ารัฐบาลกำลังพยายามเลียนแบบประเทศเมียนมา เพราะรัฐบาลทหารเมียนมายื้อครองตำแหน่งได้ตั้ง 50 ปี แล้วปัจจุบันออง ซาน ซูจี ชนะคะแนนเสียงถล่มทลายก็จริง แต่ก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก คิดว่ารัฐบาลเราเขาก็พยายามศึกษาประเด็นนี้ อย่างสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร เลียนแบบประเทศอินโดนีเซียนั้นมีข้อผิดพลาดเยอะ เวลานี้คิดว่ารัฐบาลพยายามศึกษาประเทศเมียนมาว่ารัฐบาลอยู่ได้อย่างไรถึง 50 ปี แม้จะคลาย ปล่อยอำนาจแล้วก็ปล่อยไม่หมด เหมือนทำในข้อ 16 คือให้ได้คุมหน่อย คิดว่ารัฐบาลฉลาด เพียงแต่กระแสโลก กระแสความจริงทานไม่ได้ รัฐบาลเองก็รู้ว่าจะถืออำนาจไว้ตลอดไม่ได้จึงหย่อนลงมา และปรากฏในข้อเสนอข้อ 16 นั่นเอง

อย่างข้อ 7 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงศึกษาธิการเสนอความเห็น ระบุว่า มาตรา 27 ควรมีข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ ชัดเจนดังเช่นมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ ไว้ชัดเจนและสอดคล้องกับหลักสากล การไม่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยถือว่าอยู่ในบังคับมาตรา 25 แล้ว อาจไม่เด่นชัด ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและ บิล ออฟ ไรท์ส (Bill of Rights) ของนานาประเทศ มาตรา 50 ลดสิทธิสวัสดิการทางการศึกษาที่เคยมีลงมาเหลือแค่ตามภาคบังคับคือ 9 ปี แต่ปัจจุบันรัฐจัดการศึกษาให้ไม่น้อยกว่า 12 ปีอยู่แล้ว ควรพิจารณาทบทวนไม่ให้เป็นการลดสิทธิของบุคคล และเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยังขาดบทบัญญัติคุ้มครอง คนยากไร้ พิการ ทุพพลภาพ เด็กเยาวชนที่ไม่มีผู้ดูแล คนอายุ 60 ปี แรงงานเด็ก แรงงานสตรีอาจเป็นจุดอ่อนให้ถูกต่อต้าน มาตรา 51 อาจถูกตีความว่าลดสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของผู้ยากไร้ด้วย

คิดว่าเป็นการพยายามหาคะแนนนิยม และสำรวจมาแล้ว รู้ว่าชาวบ้านหรือเอ็นจีโอต้องการอะไร อย่างอยากได้เรื่องสิทธิชุมชนและการปกครองท้องถิ่น เขาก็เริ่มอ่อนให้ กระแสแรงต้านจึงลดลง

ข้อ 9 ในมาตรา 190 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่ควรจัดเป็นระบบศาลเดียวนั้น มีมาตรา 14 ข้อ 5 ของ ดิ อินเตอร์เนชั่นแนล โคเวแนนท์ ออน ซิวีล แอนด์ โพลิติคัล ไรท์ส (The International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR) เป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยไปทำสัญญาไว้ ระบุว่า 5.เอเวอรี่วัน คอนวิคท์ ออฟ อไครม์ แชล แฮฟ เดอะ ไรท์ ทู ฮีส คอนวิคชั่น แอนด์ เซนเทนซ์ บีอิ้ง รีไวด์ บาย อะ ไฮเออร์ ทริบูนอล แอคคอดดิ้ง ทู ลอว์ (Everyone convicted of a crime shall have the right to his conviction and sentence being reviewed by a higher tribunal according to law) ระบบศาลต้องไม่ยึดอยู่ศาลเดียว ต้องมีศาลมากกว่า 1 ชั้นศาล

พัฒนะ เรือนใจดี

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

มองข้อเสนอรายข้อ อย่าง ข้อ 2 ให้ใช้คำว่า “ภาวะสงครามหรือการรบ” แทน “ภาวะสงคราม” ในมาตรา 30 และมาตรา 35 วรรคสาม ผมไม่เห็นความแตกต่าง ก็เติมไปได้ตามที่ ครม.เสนอ เหตุผลก็อาจจะตามที่เขาบอก การรบกับสงครามคนละอย่างกัน สงครามต้องเป็นประเทศต่อประเทศ รบกันหมายถึงคนไทยหรือเปล่า คุณมีชัยอาจใส่มาแค่คำว่า “สงคราม” แต่ ครม.ต้องการคำว่า “การรบ” ด้วย ผมเห็นว่าไม่เป็นไร เติมตามที่ ครม.เสนอได้ เพราะว่าท่านก็คงอยากให้กว้างขวางครอบคลุม

ข้อ 9 มาตรา 190 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่ควรจัดเป็นระบบศาลเดียว ควรแก้ให้การอุทธรณ์เป็นสิทธิทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อให้เป็นระบบสองศาล ถ้าอย่างนี้ก็ดี เป็นประโยชน์กับฝ่ายการเมือง เพราะว่าเวลาตัดสินศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ศาลเดียวจบ แต่ควรขยายไปถึงเรื่องเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย อันนี้จะสำคัญมาก เพราะในวิธีพิจารณาความจะมีเรื่องคำฟ้อง คำให้การ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การยื่นพยานหลักฐาน หรือแม้กระทั่งการควบคุมการใช้ดุลพินิจของศาล พวกนี้จะเป็นสิ่งที่อยู่ในวิธีพิจารณา

พูดง่ายๆ คือ ต้องปรับปรุงวิธีพิจารณาคดีของศาลฎีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดให้มาตรฐานเป็นเหมือน ป.วิอาญา หรือ ป.วิแพ่ง จะเป็นหลักประกัน เข้าใจว่าท่านต้องการความรวดเร็ว แต่ว่ารวดเร็วแล้วต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ ความรอบคอบและสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาด้วย เพราะบางครั้งไม่ครอบคลุม นำไปสู่การกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง ยังไม่นับว่าเขาจะกำหนดว่าใครควรจะมาเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ที่มา จำนวน วาระ คุณสมบัติ โครงสร้างตรงนี้ต้องรื้อใหม่ ท่านอาจใส่ไว้ว่า ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติก็ได้ แล้วก็ไปจัดทำหรือไปแก้ไข พ.ร.บ.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นด้วยกับข้อเสนอ ครม. แต่เรื่องวิธีพิจารณาความที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นความจำเป็น

ข้อ 12 หมวด 14 เสนอให้เปลี่ยนชื่อหมวด “การปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็น ?การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น? อันนี้ไม่เป็นไร แต่ให้คง อบต.-อบจ.-เทศบาลไว้ก็แล้วกัน

ข้อ 13 มาตรา 268 การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจไม่อาจใช้หลักอาวุโสแต่อย่างเดียว ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ สมรรถนะ สุขภาพและอื่นๆ ด้วย อันนี้เห็นด้วย เพราะว่าระบบยึดแต่อาวุโสอย่างเดียวโดยไม่ได้ดูความรู้ความสามารถ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะไม่รู้จะขยันไปทำไม คนมาก่อนก็ต้องได้รับตำแหน่งก่อน เห็นว่าไม่ถูก เพราะงานตำรวจเป็นการบริการสาธารณะ เกี่ยวข้องกับประชาชน ถ้าเอาประสิทธิภาพในการทำงาน จำนวนคดี การสั่งฟ้อง ความรวดเร็วในการปฏิบัติหน้าที่ ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ประโยชน์สนองกับประชาชน เรื่องสิทธิผู้ต้องหา การจัดลำดับโรงพัก มาคำนึงถึงด้วยจะเป็นประโยชน์มาก

ส่วนข้อ 15 การเสนอให้ กรธ.ทำตามโรดแมปจัดทำเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเท่าที่จำเป็นก่อน ถูกต้องแล้ว โดยหลักๆ มี พ.ร.บ. 3 ฉบับ คือ 1.กกต. 2.พรรคการเมือง 3.การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.

และข้อ 16 การให้บังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วงเวลา โดยมีช่วงเฉพาะกิจก่อน อันนี้มีปัญหา เพราะว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายต้องใช้ในทันที ส่วนไหนท่านให้คงไว้ หรือเป็นปัญหา ท่านควรนำไปใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล ไม่ควรจะมาแบ่งรัฐธรรมนูญเป็นสองตอน กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเป็นหลักการสำคัญและใช้ตลอด ถ้าแบ่งเป็นสองตอนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ในสองปีแรกแล้ว ส่วนที่เหลือให้ใช้ในส่วนนี้ อันนี้ไม่ถูก ขัดวิธีการในการจัดทำกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ควรจะแบ่งแบบนี้ แต่มีส่วนทำได้คือบทเฉพาะกาล

ถ้า ครม.ข้องใจ อยากสงวนอะไรไว้ตรงไหน จะรักษาอะไรกันไว้ ก็เอาไปใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล ท่านจะทำอะไรไปทำตรงนั้น แต่ตัวรัฐธรรมนูญ เมื่อประกาศออกมาควรมีผลบังคับใช้ทุกมาตรา ไม่ใช่ว่ามาตรานี้ให้ใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่มาตรานี้ให้ใช้ตอนนี้ มาตรานี้ให้ใช้อีก 4 ปีข้างหน้า จะลักลั่นกันไปหมด เขาเรียกว่าประกาศ ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีใครเขาทำแบบนั้น มีแต่ใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image