พริษฐ์ ยก 3 ข้อ ‘แข่งขันไม่เข้มข้น’ คาใจ กล้องไม่ครบมุม ฝากการบ้าน กกต. แก้ระดับจว.
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่หอประชุมใหญ่ชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เขตจตุจักร ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับอำเภอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเวลา 09.15 น. มีการประกาศเริ่มการลงคะแนนกับผู้สมัครเลือก ส.ว. โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบร้อย และมีการนับคะแนนตามระดับถัดไปหลังจากการเลือกเสร็จสิ้น
ในช่วงเวลา 09.45 น. ได้มีการนับคะแนนในรอบแรกเกิดขึ้น โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
นายกษิระ ศรีเจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับอำเภอเขตจตุจักร ได้กล่าวว่า ในการนับคะแนนครั้งนี้หากกลุ่มใดมีผู้เลือกสมัคร ส.ว.ไม่ถึง 5 คน สามารถผ่านเข้ารอบถัดไปได้
และกลุ่มไหนมีผู้สมัครเกินกว่า 5 คน จะวัดผลจากการนับคะแนน โดยที่หากคะแนนภายใน 5 คนมีเท่ากัน จะนำสู่ขั้นตอนการจับสลากต่อไปว่าผู้ใดจะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปได้
จากนั้นเจ้าหน้าที่เขตจตุจักรได้ชี้แจงต่อในการรับเลือก ส.ว.ว่า การนับคะแนน ให้นับสถานที่เลือก โดยเริ่มภายหลังการปิดลงคะแนนแล้ว ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 5 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่มีผู้สมัคร หรือผู้มารายงานตัวไม่เกิน 5 คน ให้เป็นผู้ได้รับเลือกในขั้นต้นของกลุ่มนั้น
ขณะที่กรณีผู้สมัครกลุ่มใดได้รับคะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 5 คน ให้ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันดำเนินการจับสลากกันเอง เพื่อหาผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น และกรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 5 คน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้สมัครที่ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น
ในช่วงเวลา 11.10 น. เจ้าหน้าที่เขตเข้ามาติดรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบในรอบถัดไป จำนวน 19 กลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 5 คน โดยนายพริษฐ์เข้าร่วมการดูคะแนน และสังเกตการนับคะแนนอย่างใกล้ชิด
โดยทางเขตจตุจักรมีผู้สมัคร 96 คน ไม่รายงานตัว 1 โดยผลการคัดเลือกในรอบแรกมีผู้ผ่านเข้ารอบ จำนวน 67 คน
จากนั้นเข้าสู่กระบวนการจับกลุ่มแบ่งสาย 19 กลุ่ม แบบแบ่งสาย ในการดำเนินการแบ่งสายและการจับสลากเพื่อแบ่งสาย ให้ผู้ที่ได้รับเลือกในขั้นต้นของแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนเพื่อจับสลากแบ่งสาย จำนวนไม่เกิน 4 สาย สาย ก. จำนวน 5 กลุ่ม สาย ข. จำนวน 5 กลุ่ม สาย ค. จำนวน 5 กลุ่ม สาย ง. จำนวน 4 กลุ่ม โดยผู้จับสลากคือตัวแทนของแต่ละกลุ่ม จำนวน 19 กลุ่มนั่นเอง
โดยผลการจับสลากกลุ่มดังนี้
สาย ก ได้แก่ กลุ่ม 2, 5, 9, 16 และ 18
สาย ข ได้แก่ กลุ่ม 7, 11, 12, 15 และ 20
สาย ค ได้แก่ กลุ่ม 1, 4, 8, 13 และ 14
สาย ง ได้แก่ กลุ่ม 3, 10, 17 และ 19
โดยการลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันได้กลุ่มละ 1 คน โดยจะลงคะแนนให้ผู้สมัครกลุ่มเดียวกันไม่ได้ หรือเลือกตนเองก็ไม่ได้ ซึ่งหมายถึง เลือกในสายเดียวกัน แต่ไม่เลือกในกลุ่มตนเอง
ส่วนการนับคะแนนให้นับสถานที่เลือก เริ่มภายหลังการลงคะแนนแล้ว โดยให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ที่ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มนั้น กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 3 คน ให้ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันดำเนินการจับสลากกันเอง เพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอกลุ่มนั้น หรือกรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 3 คน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอ
โดยในตอนหนึ่ง นายพริษฐ์ได้สรุปภาพรวมการเลือก ส.ว.ในรอบแรก กล่าวว่า ในข้อสังเกตที่ 1 ในเขตจตุจักรมีการจัดพื้นที่และมีผลคะแนนติดประกาศเอาไว้ แต่การติดตามสถานการณ์ในแบบใกล้ชิดเป็นไปได้ยาก แม้ว่ามี CCTV ก็ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกมุม ซึ่งบทเรียนหนึ่งที่อยากเรียกร้องไปทาง กกต.เพื่อปรับในการเลือกระดับจังหวัด เพื่ออยากให้ประชาชนได้เข้าไปสังเกตการณ์ได้อย่างใกล้ชิด จะสามารถทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อเรียกร้องหลัก
ในข้อสังเกตที่ 2 มาตรฐานการปฏิบัติบางอย่าง อาทิเช่น หลังจากการจับสลากว่าสายหนึ่งจะมีกลุ่มไหนแล้ว ในแนวปฏิบัติก็จะมีสายเดียวกันในการพูดคุย แนะนำตัวกันหรือไม่ นานเท่าไหร่
ข้อสังเกตที่ 3 ต้องถอดเป็นบทเรียน เรื่องการสมัครรับเลือก ส.ว.เป็นไปค่อนข้างน้อย แม้ว่าเขตจตุจัตรจะดูเยอะมาก แต่พอเวลาแบ่งกลุ่มก็มีเพียง 19 กลุ่ม มีเพียงแค่ 8 กลุ่ม ที่คัดเลือกกันเอง ที่เหลือ 11 กลุ่ม สามารถผ่านเข้ารอบได้ เพราะน้อยกว่า 5 คน และผู้ลงคะแนนหาก 2 คะแนนขึ้นไป ก็ดูเหมือนจะเข้าได้เลย เหมือนเป็นการแข่งขันที่ไม่เข้มข้น