ด่านแรกโหวต‘ส.ว.’ สะท้อนกลุ่ม‘การเมือง-ทุน’จ่อยึดสภาสูง

ด่านแรกโหวต‘ส.ว.’
สะท้อนกลุ่ม‘การเมือง-ทุน’จ่อยึดสภาสูง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการสะท้อนผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับอำเภอเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการเลือกเข้าไปในระดับจังหวัด จำนวน 23,645 รายทั่วประเทศ ในจำนวนนี้รวมบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ อดีตนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ นักแสดง ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาจำนวนมาก

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ADVERTISMENT

ก ารเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ คนดังมีชื่อเสียงได้เข้ารอบตามคาด ด้วยกติกาแบบนี้ทำให้เขามีแต้มต่อตั้งแต่ลงสมัครแล้ว เพราะหากผ่านในรอบเลือกกันเอง ก็ไปต่อที่รอบไขว้ ในรอบไขว้หากไม่รู้ว่าจะเลือกใคร ก็ต้องเลือกคนที่มีชื่อเสียง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่แปลกใจ เพราะคาดการณ์ได้ตั้งแต่ต้น มีสิทธิถึงระดับประเทศหากเป็นคนดังที่เห็นหน้าตากันตามหน้าสื่อ พอไปถึงการเลือกในระดับจังหวัดก็เป็นเกมเดิม ดังนั้นจึงมีโอกาสเป็นสถานการณ์เช่นนี้ไปถึงระดับประเทศได้ แต่ก็ต้องดูเกมไปทีละสเต็ปในรอบจังหวัด

ผู้สมัคร ส.ว.ที่เป็นนักวิชาการ หรือกลุ่มคนหัวก้าวหน้าที่ผ่านเข้ารอบระดับอำเภอหลายคนเป็นสัญญาณบวกได้ในเบื้องต้น เพราะหลายคนที่เป็นคนธรรมดาสามารถผ่านเข้ารอบอำเภอมาได้แล้ว คิดว่า ส.ว. 200 คน ต้องมีคนเหล่านี้อยู่ประมาณหนึ่ง แต่ต้องประเมินไปทีละรอบก่อน

ADVERTISMENT

หากจะประเมินว่าการจัดตั้งกลุ่มบุคคล หรือการฮั้วในหลายพื้นที่เพื่อมาสนับสนุนผู้สมัคร ส.ว.ของตนเอง จะส่งผลต่อการเลือก ส.ว.ระดับประเทศได้แค่ไหนนั้น คิดว่าในรอบอำเภอและจังหวัดยังใช้กลไกเครือข่ายในพื้นที่เพื่อฮั้วกันได้ เพราะขณะนี้การเลือกตั้งระดับอำเภอผ่านมาแล้ว เห็นหน้าตาผู้สมัครกันประมาณหนึ่งแล้ว ทำให้เห็นได้ว่าผู้สมัครที่กลุ่มจัดตั้งได้วางตัวไว้เข้ารอบมาหรือไม่ ในการเลือก ส.ว.ระดับจังหวัดยังคงเห็นปรากฏการณ์บล็อกกันอยู่ แต่ในระดับประเทศจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การบล็อกกันอย่างในระดับพื้นที่ แต่จะเป็นลักษณะการช้อนซื้อ เพราะกว่าจะผ่านตั้งแต่ระดับอำเภอมาสู่ระดับประเทศ เราเห็นหน้าตาผู้สมัครว่าใครจะสามารถเป็นผู้สมัคร 200 คนสุดท้าย ต้องฝากสื่อมวลชนแล้ว เพราะก่อนจะถึงการเลือกระดับประเทศจะมีข่าวว่อนว่าจ่ายเงินช้อนซื้อกันไปเท่าไหร่ ช่วงนี้จะเป็นช่วงตะลุมบอนที่มีข่าวฮั้วกันพอสมควร

ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้รณรงค์ให้เป็นผู้สมัคร ส.ว.เพื่อเข้าไปเป็นตัวแทน หรือการสมัครเพื่อเข้าไปเลือกผู้สมัคร ส.ว.ที่เหมาะสมเข้าสภา จนทำให้ฝั่งอำนาจเก่าต้องรับมือกับคลื่นเหล่านี้กันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะระบบกติกาที่ออกแบบ กลุ่ม ส.ว.หัวก้าวหน้าจะสามารถพิชิตเข้าไปถึงฝั่งได้แค่ไหน

นี่คือสิ่งที่ต้องสู้กันในระบบกติกาตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดเอาไว้ วันนี้ยังตอบไม่ได้ว่า “ว่าที่ ส.ว.” ทั้ง 200 คน จะมีกลุ่มคนหัวก้าวหน้าเข้าไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยกติกาที่ถูกเขียนให้เป็นอุปสรรค
เชื่อว่า ส.ว. 200 คน ต้องมี ส.ว.ที่ยึดโยงประชาชนอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่มีทางที่จะสามารถบล็อกคนไว้ได้ทั้ง 200 คนแน่ๆ ด้วยโมเมนตัมที่ออกมาเช่นนี้ ก็พอเห็นเค้าลางว่าหลายคนน่าจะหลุดรอดเข้าไปได้ถึงรอบประเทศได้

ส่วน ส.ว.ชุดใหม่ที่กำลังจะรับเลือกมายังยึดโยงกับกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มทุน จะส่งผลทางการเมืองระหว่างขั้วอำนาจเก่าและใหม่อย่างไรนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้สมัคร ส.ว.ก็มีมาจากกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มจัดตั้งอยู่แล้ว อยู่ที่ว่า 200 คนสุดท้ายเป็นสายไหน หากยังเป็นกลุ่มที่ยึดโยงอำนาจเดิม การเมืองไม่เปลี่ยนไปจาก 4-5 ปีที่ผ่านมา คงมีกระบวนการล็อบบี้ การบล็อกเพื่อช้อนซื้อกันได้อีก เคยเกิดการเลือก ส.ว.ปี 2540 ซึ่ง ส.ว. 200 คนสุดท้ายอาจจะไม่ได้ออกมาเป็นบล็อกสูตรสำเร็จ แต่อาจจะมีการเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยนบล็อกกันก็ได้ อำนาจที่สำคัญของ ส.ว.ชุดนี้ คือการแก้รัฐธรรมนูญและการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่จะเป็นการกำหนดภูมิทัศน์ทางการเมือง 5 ปีข้างหน้า ทั้งการเลือกองค์กรอิสระและแก้รัฐธรรมนูญ

ข้อควรระวังในการเลือก ส.ว.อีก 2 รอบถัดไป พอพูดถึงการฮั้วหรือการบล็อกกันอย่าคิดว่าจะมีการบล็อกกันคนได้แค่แบบเดียว แต่มีการพลิกแพลงกลยุทธ์กันตลอดตั้งแต่เริ่มสมัครเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เลือก ส.ว.ระดับอำเภอก็มีการฮั้วกันอยู่ แต่อย่าไปคิดว่าระดับจังหวัดหรือระดับประเทศจะยังคงเป็นการฮั้วรูปแบบเดิม

ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อ กกต. การเลือกระดับจังหวัด, ระดับประเทศ เพื่อให้ได้ ส.ว.ที่ยึดโยงประชาชนแท้จริง สิ่งที่ กกต.ทำได้ดีที่สุด คือการออกระเบียบ แต่ขณะนี้ กกต.ก็ยังมีการออกกฎระเบียบรายวัน จนสร้างความสับสน แต่การจัดการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอยังพบปัญหาคือแนวปฏิบัติการให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ บางพื้นที่ก็ให้สังเกตการณ์จากจอ CCTV หน้าสถานที่เลือกตั้ง แต่บางพื้นที่ก็ให้เฝ้าอย่างใกล้ชิดได้ ซึ่งก็มีกลุ่มที่เก็บข้อมูลสำรวจแล้วมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของ กกต. ทั้งจากการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ กลายเป็นว่าแนวปฏิบัติไม่เหมือนกันทั้งประเทศ อยากเรียกร้องได้ในการเลือก ส.ว.ระดับจังหวัดและระดับประเทศ คือนำบทเรียนจากระดับอำเภอมาปรับปรุงใหม่ในการสังเกตการณ์ของสื่อและประชาชน ให้เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

ก ารเลือกตั้ง ส.ว.ระดับอำเภอมีตัวเต็งเข้ารอบกันอย่างมากมายตามคาดการณ์เอาไว้ เห็นได้ว่ากลุ่มคนที่มีชื่อเสียง ผ่านระดับอำเภอเข้าไปสู่ระดับจังหวัดจำนวนมาก เป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ เพราะมีผู้สมัครเรือนหมื่น ที่สำคัญจะรู้จักกันยากมาก ภายใต้ข้อจำกัดการแนะนำตัวไม่เป็นที่กว้างขวาง จึงทำให้คนที่รู้จักในระดับท้องถิ่น ผ่านการเลือกตั้งได้ง่าย เสมือนมีการจัดตั้งไว้แล้ว เห็นได้จากบางกลุ่มมีผู้ลงสมัครน้อยมาก จึงทำให้ผ่านเข้าไปสู่ระดับจังหวัดได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

สำหรับการเลือก ส.ว.ระดับจังหวัดจะเป็นการฮั้วหรือการบล็อกโหวตได้ง่าย เพราะการเลือกระดับอำเภอเป็นการสกรีนเบื้องต้น จะมีคน 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มคนที่มีชื่อเสียง และ 2.กลุ่มคนที่มีอำนาจและเครือข่าย พอมาระดับจังหวัด กระบวนการบล็อกโหวตจะเริ่มต้นที่นี่ อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรกับคนที่วางตัวเอาไว้ สามารถเป็นตัวแทนจังหวัด เพื่อไปเลือกในระดับประเทศต่อไป ต้องมาดูการเลือก ส.ว.ระดับจังหวัดจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เมื่อมีการฮั้วหรือบล็อกโหวตระดับจังหวัดจะมีผลต่อการเลือก ส.ว.ระดับประเทศแน่นอน เมื่อมาถึงระดับประเทศก็จะผ่านฉลุย

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าวางตัว ส.ว.ระดับประเทศไว้แล้วนั้นกระแสข่าวนี้มีมาตลอด แต่กระบวนการทั้งหมดจะชอบธรรมก็ต่อเมื่อหลังจากการเลือกตั้งระดับจังหวัด เชื่อว่าจะควบคุมสภาพได้ เหมือนที่กล่าวไปแล้ว รู้หน้า รู้หลัง รู้ชื่อ รู้กลุ่มที่เป็นตัวแทนตัวเองในระดับอำเภอ และเข้าสู่จังหวัด ทำให้มองได้ว่าโอกาสเข้าสู่ระดับชาติ หรือที่เรียกกันว่า “ส.ว.เมืองทอง” จะง่ายมากยิ่งขึ้น

การที่กลุ่มทุนหรือกลุ่มการเมืองจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ มองว่าธรรมชาติการเมืองไทยที่อยู่ภายใต้กลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจการเมือง เมื่อโครงสร้างเป็นแบบนี้ การยึดกุมพื้นที่ในสนามอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ส.ส. หรือพื้นที่ ส.ว. กลุ่มทุนธุรกิจการเมืองจะต้องเข้าไปยึดกุม จะไม่ให้พื้นที่ตกไปอยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะอาจจะมีผลในการขับเคลื่อนนโยบาย ผลักดันข้อเรียกร้องที่กระทบกับผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นกลุ่มธุรกิจการเมืองจะต้องเอาคนของตัวเองเข้าไปให้มากที่สุด เพื่อเข้าไปปกป้องผลประโยชน์ตัวเองในพื้นที่ ส.ว.

โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่า หากดูจากการเลือกตั้งระดับอำเภอ จะเห็นตัวแทนของกลุ่มทุน กลุ่มบ้านใหญ่ และนักการเมืองจะมีความเป็นไปได้สูงที่จะยึดวุฒิสภาอีกครั้ง หากกล่าวง่ายๆ คือจะต้องยึดครองทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจ ข้าราชการ รวมทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ให้ได้ เพราะหากยึดไม่ได้ จะไม่มีผลเต็มที่ ทั้งแต่งตั้งบุคคลเข้ามาในองค์กรอิสระ การแก้ไขกฎ ระเบียบ อาจจะขัดผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมือง เพราะฉะนั้นการที่จะยึดครองพื้นที่ให้เบ็ดเสร็จ จะต้องได้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ไปด้วย

มองไปแล้วเพื่อความชอบธรรมทางการเมือง ควรจะมี ส.ว.ในภาคประชาสังคมอยู่บ้างประมาณไม่เกิน 50 คน เพราะจะทำให้มองว่าการเลือก ส.ว.ครั้งนี้มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้ามา หากกลุ่มธุรกิจการเมืองเข้าไปมาก คนเหล่านี้ก็จะไม่ให้ความร่วมมือกับภาคสังคม อาทิ การเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะรักษาสถานะอำนาจคนกลุ่มนี้เอาไว้ และคนเหล่านี้จะหวงแหนรัฐธรรมนูญไว้ ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็รู้ว่า หากได้ไป 70-80 เสียง โอกาสเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญคงเป็นไปไม่ได้ จึงเกิดการระดมแข่งขันทำอย่างไร จะให้ภาคประชาชนหรือภาคสังคมให้เกิน 70 เสียงให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับการทำงานของ กกต.นั้นภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ตัวเอง เห็นได้จากเปิดให้ประชาชนเข้ามาสังเกตการณ์ ส่วนที่ลึกลงไป กกต.คงลำบากใจจะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในฐานะที่ กกต.เป็น
ผู้บริหารการเลือกตั้งจะต้องทำงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประชาชนมีสิทธิอย่างเดียวคือไปสังเกตการณ์ แต่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเลือกตั้งได้ กกต.ใช้กฎหมายเป็นข้ออ้าง อาจจะตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากลได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการร่างกฎหมายที่กีดกันประชาชนมาตั้งแต่ต้น คือต้องการให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งความชอบธรรม แต่ไม่ใช่เป็นหัวใจในการมีส่วนร่วม หากมองเรื่องการฟ้องร้องเชื่อว่ามีผลเหมือนกัน เชื่อว่าประชาชนที่มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลือกตั้ง ส.ว.ในระดับอำเภอ จังหวัด ก็จะมีการร้องเรียนอย่างแน่นอน

หาก ส.ว.ผ่านการเลือกตั้งระดับประเทศ เชื่อว่าจะมีการร้องเรียนอย่างแน่นอน แต่ กกต.ก็จะใช้วิธีการเดิมรับรองไปก่อน แล้วไปสอยที่หลัง และการสอยจะมีปัญหามาก ถ้ามีข้อร้องเรียนจะมีความผูกพันไปตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับชาติ ซึ่งจะแตกต่างจากการเลือก ส.ส.ที่เขตใครเขตมัน หากมีการแขวน หรือสอย ส.ส.จะมีการเลือกตั้งได้ง่าย ดังนั้นอาจจะทำให้ กกต.ปล่อยผ่านไปเลย เพราะทำอะไรไม่ได้ เหมือนกับ ส.ส.ที่บอกว่ารับรองไปก่อน แล้วสอยที่หลัง แต่ก็ปล่อยเลยตามเลยหรือเงียบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image