รำลึก 30 วัน ‘บุ้ง เนติพร’ ล้อมวงถกปมสิทธิประกัน ทนายลั่น ‘ความยุติธรรม คือ กม.สูงสุด’
ในวาระครบ 30 วัน การเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง กลุ่มทะลุวัง ซึ่งอดอาหารเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และนับเป็นเวลากว่า 260 วันที่ นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว รวมถึงนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ อีก รวม 42 คนในเรือนจำ
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม (สี่แยกคอกวัว) เขตพระนคร กรุงเทพฯ Thumb rights, สหภาพคนทำงาน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมสากลและประชาธิปไตย, องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.), องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และทะลุแก๊ซ ร่วมจัดงานเสวนา ‘สิทธิประกันตัวสู่ปฏิรูปยุติธรรม’
บรรยากาศเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ ‘สิทธิประกันตัวสู่ปฏิรูปยุติธรรม’ โดยมี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักกิจกรรมอิสระ, น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ กลุ่มทะลุวัง, นายสมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชน และที่ปรึกษาอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ เมย์ ทนายความ ประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย นายอภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นักกิจกรรมกลุ่ม Thumb Rights และนายกฯ อบจ.
นายสมชายกล่าวว่า ในทางวิชาการกระบวนการยุติธรรม มี 3 ชั้น คือชั้นพนักงาน ตำรวจ และอัยการ ซึ่งในชั้นตำรวจ มีหน้าที่สอบสวน หาความจริง ซี่งต้องรับฟังพยานหลักฐานจากทุกฝ่าย แต่ตนมองว่า ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเน้นสอบสวนเพื่อหาความผิด
“ในชั้นที่ 2 พนักงานอัยการ มีหน้าที่สั่งคดีว่าจะฟ้อง ตามที่ตำรวจเสนอมาหรือไม่ แต่ตามกฎหมายจริงๆ แล้ว พนักงานอัยการไม่ได้มีหน้าที่หรืออำนาจ แค่พิจารณาสำนวนที่ส่งมาเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบว่า ที่เสนอมานั้น ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ โดยหลักแล้ว มีความเป็นอิสระมากพอสมควร และสามารถอำนวยความยุติธรรมได้” นายสมชายกล่าว
นายสมชายกล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ผู้ต้องหาคดีอาญาส่วนใหญ่ เป็นคนชายขอบ คนยากคนจน ชนชาติพันธุ์ ไม่มีพรรคพวกที่จะไปวิ่งเต้นคดีต่างๆ ได้ ไม่มีความรู้ ไม่มีทนาย พนักงานอัยการจึงต้องปกป้องสิทธิตรงนี้เป็นพิเศษ สอบพยานและข้อมูลอย่างรอบคอบ ว่ากระทำผิดจริง จึงจะมีคำสั่งฟ้อง เรื่องการกลั่นกรองคดี สำคัญมาก
โดยหลักแล้ว นอกจากยึดตัวบทกฎหมาย ยังต้องยึดถือสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมด้วย เราต้องยึดถือความยุติธรรมเป็นกฎหมายสูงสุด ต้องกลั่นกรอง ว่าที่เขาตกเป็นผู้ต้องหา เขาถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ สถิติการยกฟ้องคดีอาญาในประเทศไทยสูงมาก บางครั้งยกฟ้องสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ฟ้องข้อหาหนักไว้ก่อน
เราต้องมาระดมสมอง ถกกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ให้กฎหมายมาตราใดถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่ม
นายสมชายกล่าวว่า เราเผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย ทำอย่างไรจึงจะป้องกันหรือแก้ไขได้ ถ้าสังคมไทยขาดซึ่งความเชื่อมั่นแล้ว จะไปไม่เป็น