วรา จันทร์มณี ลุยยื่น กมธ. จี้ส่ง ‘โกลเด้นบอย’ คืนบุรีรัมย์ ถาม ทำไมของดีต้องกองอยู่กรุงเทพฯ ?
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 มิ.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายวรา จันทร์มณี และนายสมเกียรติ ปัญญาใหญ่ ตัวแทนชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม เข้ายื่นหนังสือต่อนายฉัตร สุภัทรวณิชย์ สส.นครราชสีมา พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อขอให้นำประติมากรรม Golden Boy กลับมาไว้ที่ จ.บุรีรัมย์ และขอให้พิจารณากำหนดนโยบายสร้าง Sofe Power ผ่านศิลปะ วัฒนธรรม
นายวรา กล่าวว่า Golden Boy ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผู้สร้างปราสาทหินพิมาย มีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด ถูกขุดพบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เป็นเครื่องเชื่อมร้อยให้เราเห็นวิวัฒนาการของบ้านเมือง และวัฒนธรรมร่วมระหว่างพื้นที่ซึ่งปัจจุบันถูกแบ่งพรมแดนออกเป็นประเทศไทยและเขมรได้อย่างดี
Golden Boy สามารถทำให้เราเห็นความสัมพันธ์เชิงพื้นที่กว้างทเห็นการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตั้งแต่บ้านยางโป่งสะเดา ปราสาทหินพิมายปราสาทพนมรุ้ง เขาปลายบัด เขาอังคาร ปราสาทเมืองต่ำ ศรีเทพ ไปจนถึงปราสาทเบ็งเมียเลีย ปราสาทบาป่วน ปราสาทนครวัด ในกัมพูชา ล้วนเชื่อมโยงกันหมด
ถือเป็นทูตสันถวไมตรีชั้นดีที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และยังจะเป็นตัวเอกในการเดินเรื่องให้รัฐบาลนำวัฒนธรรมมาส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมผ่านการท่องเที่ยวและอื่นๆชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำ Golden Boy กลับบุรีรัมย์เพื่อไปสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น โดยในส่วนที่กรมศิลปากรอ้างว่าจะเก็บไว้เพื่อการศึกษานั้น ศึกษาที่ไหนก็ได้
“การมายื่นของในครั้งนี้ถือเป็นแนวคิดนำร่อง ที่ควรนำโบราณวัตถุกลับไปไว้ที่เดิม ไม่อยากให้กระจุกรวมศูนย์อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเท่านั้น เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดีกว่าไปเดินสายขายผ้าขาวม้า” นายวรากล่าว
นายวรา กล่าวว่า ทางกมธ.จะรับเรื่อง ไปพิจารณา เมื่อมีการพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจโซนอีสานใต้ ที่มีความเชื่อมโยงวัฒนธรรมจุดนี้น่าจะเป็นต้นทุนที่จะส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อว่าจะสามารถต่อยอดเศรษฐกิจให้มีการแข่งขันกัน และตอกย้ำจุดยืนรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่สืบต่อมานาน และเป็นจุดที่คนไทย และต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวจะได้เห็นประวัติศาสตร์ที่มีความชัดเจนขึ้นเนื่องจากมีหลักฐานและวัตถุพยาน
ตามจังหวัดต่างๆควรจะมีวัตถุโบราณอยู่ตามพื้นที่นั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ นายวรา ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชน’ เพิ่มเติมว่า โกลเด้นบอย พบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่เดี่ยวๆ หากแต่มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่เชื่อมโยงกับปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง เขาปลายบัด เขาอังคาร ปราสาทเมืองต่ำ ไปจนถึงศรีเทพ และเขมร ฉะนั้นจะเห็นว่าเราเคยมีแผ่นดินเหลื่อมซ้อน มันไม่ใช่มีแค่ สุโขทัย กับ รัตนโกสินทร์ แบบในบทเรียนจะเห็นว่ามันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฉะนั้นที่มายื่นเรื่องเพราะต้องการให้เอา โกลเด้นบอย เป็นตัวจุดพลุเพื่อให้เกิดการต่อจิ๊กซอว์ที่เชื่อมโยงกันกับมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องจนเกิดเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการเล่าเรื่องความเชื่อมโยง ซึ่งตัวโกลเด้นบอยสามารถเชื่อมโยงไปยังจังหวัดอื่นๆนอกจากบุรีรัมย์ได้และไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้เกิดเป็น Soft Power
“ทำไมต้องเอาโบราณวัตถุมาอยู่ศูนย์รวมที่กรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว ทำไมถึงไม่คิดว่าถ้านำกลับไปอยู่บุรีรัมย์จะขายมันอย่างไร มันนำมาเล่าเรื่องได้หรือไม่ แต่ถ้าไปเก็บไว้ตามถิ่นกำเนิดตามจังหวัดที่เคยอยู่และทำเป็นพิพิธภัณฑ์ย่อยๆไม่จำเป็นต้องทำใหญ่ และปรึกษากับท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอย่าง การเดินทางหรืออะไรก็ตามให้กับนักท่องเที่ยวเรื่องนี้มีอิมแพคในการที่จะพัฒนาท้องถิ่นและประเทศมากกว่าการขายผ้าขาวม้า” นายวรากล่าว
นายวรา กล่าวต่อไปว่า ในแง่เศรษฐกิจไม่ใช่ว่าต้องการให้นักท่องเที่ยวไปดูโบราณวัตถุพวกนี้ตามพิพิธภัณฑ์อย่างเดียวแต่เวลาไปเที่ยวเขาก็ต้องไปกิน ไปบริโภค ก็จะเกิดเป็นวงจรทางเศรษฐกิจไปด้วย และรัฐบาลก็ต้องเข้าไปส่งเสริมเรื่องพวกนี้ให้กับคนในท้องถิ่น เหมือนกับที่ไต้หวันมีพิพิธภัณฑ์ กู้กง นักท่องเที่ยวอยากไปเที่ยวไต้หวันเพราะอยากไปเยี่ยมชม กู้กง
“ทำไมเราไม่ทำให้เหมือนกู้กง คนอยากไปเที่ยวไต้หวันเพราะอยากไปพิพิธภัณฑ์ กู้กง และเด็กๆชอบมากเพราะเขามีสื่อ อนิเมชัน ที่เด็กๆชอบอะไรต่างๆพวกนี้เขาทำให้มันสัมพันธ์กันทั้งหมด สำหรับเรื่องความปลอดภัยที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากนำไปเก็บที่ต่างจังหวัดจะไม่ปลอดภัย มองว่ายุคนี้ เรามีการจัดการ มีทั้งกล้องวงจรปิด มีเทคโนโลยีต่างๆที่มาช่วยส่วนนี้ได้ ทำไมทุกอย่างต้องมากองไว้ที่กรุงเทพฯ”
“เรามาถึงยุคนี้จะจัดการไม่ได้เลยหรืออย่างไร ทำไมทุกอย่างต้องอยู่ที่เมืองหลวง โรงพยาบาลชั้นดี โรงเรียนชั้นดี ต้องอยู่ที่เมืองหลวงแล้วคนอีก 76 จังหวัดจะลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ รัฐบาลต้องกระจายอำนาจทางวัฒนธรรมออกไปเพื่อไปส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม” นายวรากล่าว