ชี้เป้า-เล่าเรื่องคณะราษฎร เป่าเค้ก ‘92ปีอภิวัฒน์สยาม’ ลั่น 2 ขั้วอุดมการณ์ยังงัดกันไม่จบ

เป่าเค้กฉลอง 92ปี ‘อภิวัฒน์สยาม’ มุงเล่าเรื่องคณะราษฎร ยัน 2 ขั้วอุดมการณ์ ยังงัดกันไม่จบ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่อาคาร All Rise สำนักงาน iLaw เขตจตุจักร พิพิธภัณฑ์สามัญชน จัดกิจกรรม ‘อ่านออกเสียง อภิวัฒน์สยาม Reading before the dawn of June 24’ เพื่อร่วมรำลึก 92 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยามในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ผ่านการอ่านออกเสียงหนังสือ และวรรณกรรม ที่แวดล้อมการอภิวัฒน์ 2475

สำหรับหนังสือที่มีการอ่านออกเสียง อาทิ ราษฎรปฏิวัติ (2565) ณัฐพล ใจจริง, สายธารประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย (2551) สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม) (2559) ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน (2564) นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ราษฎรธิปไตย (2562) ศรัญญู เทพสงเคราะห์, กบฎบวรเดช เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 (2559) ณัฐพล ใจจริง, ลาก่อนรัฐธรรมนูญ (2522) ศรีบูรพา, สี่แผ่นดิน (2554) มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ADVERTISMENT

นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน เปิดเผยว่า กิจกรรมจัดวันนี้วันเดียวคือมีนิทรรศการแสดงของสะสมเกี่ยวกับคณะราษฎรที่หายากคือ เหรียญปราบกบฏ และกระดุมฉลองวันชาติ 2484 นอกนั้นจะเป็นของที่ทำขึ้นมาใหม่ เช่น เสื้อเสียดสี เสื้อล้อการเมือง หนังสือประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะของสำนักพิมพ์มติชนที่มีจำนวนมาก

ADVERTISMENT

“อีกทั้งยังมีการบาลานซ์หนังสือที่เล่าจากมุมนิยมเจ้า เช่น เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ของนายหนหวย ที่มีการวิจารณ์คณะราษฎร, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล เป็นมุมมองของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ และงานวิชาการใหม่ๆ หลายเล่ม” นายอานนท์กล่าว

ต่อมา มีการเสวนาโดย ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.สิทธารถกล่าวว่า ชาติในนิยามแต่ละกาลเวลาไม่เหมือนกัน เริ่มแรกเพลงชาติไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ เพลงชาติอังกฤษ God Save The King ต่อมามีการแต่งเพลงสรรเสริญพระบารมี ในรัชกาลที่ 6 ที่เนื้อเพลงเหมือนกับปัจจุบัน ต่อมาหลังการปฏิวัติสยาม ในปี 2482 จึงกำเนิดเพลงชาติไทยขึ้น

 

“เพลงเข้าถึงง่าย เปิดทุกวันวันละ 2 รอบ เกิดการฝังหัว เราเป็นพวกเดียวกันนะ เราเป็นคนไทยกันหมด ภายหลังก็มีการสร้างประวัติศาสตร์ชาติ สัญลักษณ์ชาติร่วมกัน” ผศ.สิทธารถกล่าว

ด้าน ผศ.ศรัญญูกล่าวว่า ชอบหนังสือสายธารประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย ของ อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ให้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์ 101 ของประชาธิปไตย การเมืองไทย มีประเด็นครบถ้วน ส่วนหนังสือของนายสะอาด มีเล่าผ่านตัวละครนักหนังสือพิมพ์หญิง ได้กลิ่นอายงานเขียน อ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

อย่างไรก็ตาม การศึกษาประวัติศาสตร์อภิวัฒน์สยาม 2475 ยังมีพื้นที่ให้ได้ศึกษาอีกมาก โดยตนศึกษาเพิ่มผ่านภาพถ่ายในงานวันชาติ 2482-2484 โดยมีบทความลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือน มิ.ย.2567 เรื่องรัฐนาฏกรรมในวันชาติ 2482-2484

“จอมพล ป. มีความลื่นไหล โดยก่อนหน้าสงครามอินโดจีนเป็นนักประชาธิปไตย หลังจากนั้นทำให้จอมพล ป. มีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้น” ผศ.ศรัญญูกล่าว

ผศ.ศรัญญูกล่าวว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ สร้างเพื่อระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช มีการวางพวงมาลาทุกวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งมีการปล่อยปละละเลยมีการย้ายไปมา เพราะมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อุโมงค์ สะพานข้ามแยก สถานีรถไฟฟ้า แล้วก็ได้หายไป

“มีทหารนอกเครื่องแบบ 2 คน เข้ามาคุย สุดท้ายได้ไปคุยกับผู้กำกับ สน.บางเขน เขาขอให้ลบข้อมูลทั้งหมดในโทรศัพท์มือถือ และอยู่ในห้องจนกว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏจะหายไป รู้สึกโกรธ โมโห เพราะอยู่ในนั้นไม่มีอะไรทำ ถ้าอยู่ด้านนอกจะขับรถตามไปจนถึงที่สุด“ ผศ.ศรัญญูกล่าว

ผศ.ศรัญญูอีกกล่าวว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่จบ แม้ว่าคณะราษฎรจะไม่อยู่แล้ว แต่บริบทหลังปี 2549 เห็นชัดเจนว่ามีพลังการเมือง ของฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีการชะลอประชาธิปไตย ทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวเช่น มวลชนคนเสื้อแดงหันไปหาคณะราษฎร และให้ความหมายใหม่ต่างๆ มากขึ้น มีการใช้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในการเคลื่อนไหว

“คณะราษฎรในบริบทร่วมสมัย ยังสู้กันในทางอุดมการณ์ช่วงชิงเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสความทรงจำสูงมาก ซึ่งจะเห็นเรื่องอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับราษฎร วันดีคืนดีมันก็หาย ทุบหายกันไป แสดงให้เห็นว่าการเมืองเรื่องความทรงจำ ต่อสู้ช่วงชิงความหมายกันอยู่ และการต่อสู้ระหว่างระบอบใหม่กับอุดมการณ์อื่นๆ ที่อยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมการณ์อนุรักษนิยม มันสู้กันยังไม่จบ“ ผศ.ศรัญญูอีกกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนจบงานมีการเป่าเค้กเฉลิมฉลอง 92 ปี การปฏิวัติสยาม อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image