คสช.ตอกกลับแม้ว แค่คนขี้ระเเวง ยันรธน.ใหม่เป็นของดี ชูอำนาจเป็นของปชช.

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“คสช.” โต้ “แม้ว” หลังให้สัมภาษณ์สื่อนอก วิจารณ์ “รัฐบาลทหาร”

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกรณีสื่อนำเสนอคำให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นมุมมองส่วนบุคคล เนื่องจากกรณีที่วิจารณ์ว่ารัฐบาลทหารของไทยกำลังทำให้เศรษฐกิจเปราะบาง และทำให้ประเทศตกอยู่ในแผนอันตรายด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่นั้น คิดว่าอาจเป็นความเห็นส่วนบุคคลเช่นกัน เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมาส่วนใหญ่มองว่ารัฐธรรมนูญ เสมือนเป็นข้อตกลงร่วมกันของคนในประเทศ พร้อมทั้งเป็นการกำหนดกรอบกติกาให้ทุกคน อีกทั้งบทบาทสิทธิหน้าที่ ข้อตกลงในหนทางปฏิบัติของประชาชน บุคคล องค์กร ที่อยู่ร่วมกันในสังคม แตกต่างกันตามสถานะหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคคลและองค์กรนั้นๆ อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการกำหนดกฎกติกาให้บุคคลผู้มีหน้าที่ต่างๆ ได้มีกรอบในการทำหน้าที่ให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามการที่นายทักษิณพยายามมองไปเชื่อมโยงกับเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ตนขอชี้แจงว่าที่จริงการมีระบบและกติกาที่ดีมีระบบถ่วงดุลตรวจสอบที่มีความน่าเชื่อถือ มองว่าน่าจะเป็นตัวเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจมากกว่า โดยเฉพาะความมั่นคงทางเศรษฐกิจแบบระยะยาว

พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจำกัดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรักษาอิทธิพลของนายพลทหารเอาไว้นั้น คิดว่าเป็นเพียงความรู้สึกเชิงหวาดระแวงเท่านั้น เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ว่าจะมีการรักษาอิทธิพลเอาไว้ให้ใครตามที่กล่าวถึง อีกทั้งเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ก็คงเป็นตามกระบวนการทางรัฐสภาที่จะต้องเลือกดูฝ่ายบริหารมาทำหน้าที่ โดยที่ไม่เกี่ยวกับทหาร หรือ คสช.แต่อย่างใด แต่ถ้าในบทบาทการมีส่วนในเรื่องการสนับสนุนให้เกิดความสมดุลในมุมต่างๆ ตนคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับงานการบริหาร โดยเฉพาะถ้าไม่เกิดกรณีมีปัญหาข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารนั้นๆ ก็ไม่ได้จำกัดอำนาจอะไรของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมืองเลย ในทางตรงกันข้ามได้มีหลายฝ่ายมองว่าเป็นกลไกการสนับสนุนที่เสริมอำนาจทางการบริหารให้มีความมั่นคงมากขึ้นอีกต่างหาก ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าการมีส่วนร่วมตามความจำเป็นขององค์กรอิสระต่างๆ ที่เสมือนเป็นตัวแทนของประชาชนในอีกมุมหนึ่งด้วยนั้นจะสามารถสร้างความสบายใจให้เกิดการยอมรับได้กว้างขวางมากขึ้นด้วย จะไม่เกิดปัญหาความแคลงใจเกี่ยวกับการบริหารงานของฝ่ายบริหารเช่นในอดีต ที่เคยกลายเป็นเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งหรือความไม่สงบเรียบร้อย

“อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่มีซ่อนเงื่อนใดๆ รวมถึงอำนาจที่แท้จริงก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มบุคคลหนึ่งคนใด หรือที่สำคัญอำนาจก็ไม่ได้อยู่ในมือของกลุ่มบุคคลบางคนเหนือนายกรัฐมนตรีขึ้นไป อย่างที่มีการกล่าวถึง เพราะคนส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าอำนาจอธิปไตยจะยังคงอยู่กับประชาชนทั้งประเทศแบบทั่วถึงอย่างแน่นอน ซึ่งไม่เหมือนแต่ก่อนที่พอพูดถึงเรื่องอำนาจก็มักจะคิดกันว่าตกอยู่กับฝ่ายบริหารเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น” พ.อ.วินธัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image