นายกฯลุยฟื้นตลาดหุ้นดิ่ง อัดโปรปั๊มศก. จ่อแถลงแพคเกจ 24 มิ.ย. ดึง ‘ตปท.’ ซื้อ-เช่าอสังหา ‘ประเสริฐ’ ชู 5 แผนบูม ‘เอไอ’
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาได้หารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปรึกษาปัญหาตลาดหลักทรัพย์ เข้าใจว่าในวันที่ 24 มิถุนายน หรือ 25 มิถุนายน จะมีการแถลงใหญ่ถึงมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
เมื่อถามว่า จะมีข่าวดีและแถลงเป็นไทม์ไลน์ใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เดี๋ยวคอยฟังดีกว่า ไม่อยากไปก้าวล่วงตรงนั้น แต่เมื่อคืนวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาเราคุยกันหลายเรื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งสำเนาด่วนที่สุด เรื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยระบุถึงการประชุม ครม.วันที่ 18 มิถุนายน ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนนายกฯ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษามาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดึงดูดนักลงทุนขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุน จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาความเป็นไปได้ ดังนี้
1.พิจารณาทบทวนการกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิงสิทธิตาม พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิพ.ศ.2562 โดยกำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิมีเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี 2.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิคนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด จากเดิมไม่เกิน 49% เป็นไม่เกิน 75% โดยอาจกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของนิติบุคคลอาคารชุด เช่น จำกัดสิทธิการออกเสียงของคนต่างด้าวและนิติบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาถือกรรมสิทธิ์ในภายหลังจากที่เกิน 49% ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการและเสนอ ครม.โดยเร็วต่อไป
ที่พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ The Power of AI เกมใหม่ โลกเปลี่ยน ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในหัวข้อ AI Transform ความท้าทายประเทศไทยว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เป็นสิ่งที่ปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในชีวิตประจำวันแทบทุกเรื่องมีเอไอเข้ามาเป็นส่วนประกอบ
นายประเสริฐกล่าวว่า กระทรวงจึงจัดทำแผนสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ 5 ยุทธศาสตร์ที่จำเป็นในการพัฒนาการเติบโตของเอไอ โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเอไอ เรื่องดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์กลางภาครัฐ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีเอไอเป็นการพัฒนาข้อมูลเปิดรายสาขา อาทิ การเกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ บริการการเงิน บริการภาครัฐ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนากำลังคนด้านเอไอ ของไทยยังไม่เพียงพอ ต้องนำเข้ากำลังคน
โดยเฉพาะต่างชาติที่มีความรู้ด้านเอไอ อยากทำงานในประเทศไทย ยุทธศาสตร์ที่ 4 เร่งรัดการใช้งานเอไอ สนับสนุนและส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจขนาดกลางขนาดเล็กได้รับสิทธิพิเศษ และยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยใช้งานเอไอ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนที่ถูกหลอกลวง