เปิดมุมมอง นักวิชาการ แก้ รธน.เลิก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการประเมินกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ออกมาระบุว่า ได้ข้อมูลมาจากคนในพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่าทางพรรคต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ เหลือเพียง ส.ส.เขต 400 คน และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความจริงอะไรทั้งสิ้นในฐานะที่ดูเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่ไม่เคยคิดเช่นนี้

วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คําพูดในเชิงลักษณะเช่นนี้ อาจจะเป็นข่าวที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับความเสียหาย หากพรรคเพื่อไทยนำเรื่องนี้ขึ้นมากระทำจริง แนวคิดเช่นนี้เป็นการกระทำที่ถอยหลังลงคลองของพรรคเพื่อไทย ทั้งทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และหายนะทางการเมืองก็จะรอเปิดประตูต้อนรับอยู่ข้างหน้าอย่างแน่นอน

ADVERTISMENT

โดยเหตุผลหลักๆ เกณฑ์เช่นนี้ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างความเชื่อที่ว่าจะกลับไปเล่นสูตรการเลือกตั้งก่อนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้ โดยที่ในขณะนั้นเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.เขตเพียงอย่างเดียว หากเป็นอย่างเช่นนั้นจะเกิดภาวะการอัดอั้นของเครือข่ายบ้านใหญ่ ตระกูลใหญ่ๆ ทางการเมือง ซึ่งเราเห็นได้ว่า กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (20 ปี) การระบายคนในบ้านใหญ่อย่างเช่น คนอาวุโส หรือประมุขตระกูลบ้านใหญ่ ส่วนมากจะลงไปสู่บัญชีรายชื่อ ซึ่งสะดวกที่จะลงตรงนี้ เขาไม่อยากลงพื้นที่แล้ว ฉะนั้น ส.ส.เขต หน้าใหม่จะเป็นลูกหลาน หรือเครือข่ายของคนที่ภักดีในตระกูลทางการเมือง มันมีการกระจายตำแหน่งเกลี่ยกันอย่างลงตัว

โดยอย่าลืมว่า หากยกเลิกระบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สิ่งหนึ่งที่พรรคการเมืองต่างๆ จะสูญเสียไป นั่นคือภาพลักษณ์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงอยากนำมาทำงานร่วมกับพรรคการเมืองนั้น หรือนายทุน สปอนเซอร์ ผู้มีอุปการคุณต่างๆ ที่อยากจะเข้าสู่สนามทางการเมืองในรูปแบบบัญชีรายชื่อ จะสูญเสียไปด้วย

ADVERTISMENT

ฉะนั้นสูตรหรือเกมที่กล่าวมาข้างต้น เสมือนทำให้พรรคเพื่อไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ฟรี ยกเว้นว่าถ้ามีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในพรรคเพื่อไทย หรือผู้ใดในแกนนำยอมรับแนวคิดเช่นนี้ว่าจะนำไปศึกษา ข้อมูลตรงนี้จึงออกมาไปถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น่าจะมีเค้าโครงเป็นเรื่องจริง หากมีผู้ใดจากพรรคเพื่อไทยออกหน้ามาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แน่นอนว่าข่าวนี้ก็ไม่ได้การรับรอง และเป็นเพียงดราม่าทางการเมือง

ข้อดีและข้อเสีย สำหรับเรื่องดังกล่าว มองได้ว่าไม่มีข้อดีใดๆ ทั้งสิ้นเลย เพราะบริบททางการเมืองทางสังคมมันเกิดขึ้นหมดแล้ว เคลื่อนไปข้างหน้าหมดแล้ว หากสมมุติการเลือกตั้งกลับไปเลือก ส.ส.เขตแบบ 100% สำนึกผู้คนโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ จะลุกลามขยายไปพื้นที่รอบนอกด้วย ใช่ว่าแนวคิดตรงนี้เหมือนเป็นการเปิดประตูต้อนรับบ้านใหญ่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในจังหวัดนั้นๆ มีอิทธิพลสามารถกำหนดวางคน กำหนดกลยุทธ์ในการกำหนดคนลงสมัครเลือกตั้งได้ และเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกดดันไปยังเจ้าของพรรค หรือหัวหน้าพรรค จะต้องใช้จ่ายงบประมาณ หรือเอาอกเอาใจมากขึ้น

จนกลายเป็นการเข้าไปสู่ระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่น หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นสามารถมีอิทธิพล ในการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเมืองได้ ผมไม่เชื่อ เพราะว่าด้วยบริบททางสังคมไทย ระบบการเมืองไทยมันเคลื่อนไปข้างหน้านานแล้ว เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผมเชื่อว่าประชาชนไม่สามารถที่จะยอมรับไอเดีย การเลือกตั้ง ส.ส.เขต 100% โดยที่ปฏิเสธระบบปาร์ตี้ลิสต์ หรือระบบบัญชีรายชื่อ อย่างสิ้นเชิง

ฉะนั้นจึงมีแต่ข้อเสีย หากจะยกเลิกระบบปาร์ตี้ลิสต์ เท่ากับว่าไม่เกิดการกระจาย หรือไม่สันทัดในการลงพื้นที่หาเสียง แต่ว่ายินดีพร้อมใจที่จะเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ตรงนี้จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของพรรคนั้นๆ ด้วยที่มีบุคคลชื่อเสียงเด่นดังเข้ามา

แต่หากเป็นระบบเขตอย่างเดียว แน่นอนเราเห็นว่าอิทธิพลอุปถัมภ์ มันอยู่ค้ำคอของความรู้สึกของคนที่จะไปกากบาท ที่จะไปลงคูหาเลือกนักการเมือง และในขณะเดียวกันเราจะเห็นว่า หากเป็นเช่นนั้น ความเชื่อที่ว่าระบบการชดใช้กระสุนหรือการซื้อเสียงไม่ได้จางหายไปไหน หากยังใช้ระบบแนวคิดแบบนั้น

หากมองในลักษณะ การสกัดกั้นพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล ที่มีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เยอะที่สุด ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้น ผมมองว่าเป็นข่าวปั่นเพื่อที่ต้องการ การสกัดกั้นความนิยมของพรรคก้าวไกล หากประชาชนที่ดูออก และเมื่อมองอย่างเป็นกลาง เป็นเหมือนการสกัดกั้นการเติบโตของพรรคก้าวไกล แต่อย่าลืมว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเล่นเกมตรงนี้ นอกจากจะถูกด่าฟรีแล้ว ลำพังระดับ ส.ส.เขตในระนาบเดียวกัน หากเพื่อไทยจะใช้เกมนี้อย่าลืมพรรคที่มีลำหักลำโค่น ส.ส.เขตหรือตระกูลทางการเมืองที่ไม่น้อยกว่าพรรคเพื่อไทย ก็คือพรรคภูมิใจไทย

แต่มั่นใจแค่ไหนว่าตัวเองจะได้ตัวเลขมากกว่าเดิม มั่นใจหรือว่าการระดมสรรพกำลัง หรือว่านิยมต่างๆ ของตนเองจะเปรี้ยงปร้าง เหมือนในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร ในพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทยในเวอร์ชั่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มันได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ดังนั้น การระมัดระวัง พรรคเพื่อไทยจะเจอมรสุมการโยนก้อนหินถามทาง หรือข่าวดิสเครดิตในลักษณะที่ว่า ตนเองต้องอยู่ในสนามการแข่งขันของพรรคก้าวไกล ตรงนี้ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ฉะนั้นเกณฑ์ตรงนี้ ผมคิดว่ารอบนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตั้งแง่พอสมควร และตนก็ยังไม่เชื่อว่าจะมาตัดแนวคิด หรือแหล่งข้อมูล หรือความตั้งใจของผู้นำพรรคเพื่อไทยว่าจะใช้โมเดลตรงนี้

ซึ่งพรรคเล็กๆ ส่วนมากได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เข้าสภา หากเกิดขึ้นจริง พรรคเล็กอาจจะสูญพันธุ์ นั้นแน่นอนว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่อย่าลืมว่ายังมีจังหวัดที่มีความนิยมของพรรคการเมืองเล็กๆ อย่างจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม ที่เป็นพวกบ้านใหญ่ในตระกูลทางการเมือง อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา ทางจังหวัดชลบุรี พรรคพลังชล จะมีอำนาจในการต่อรองอย่างมาก หากเป็นระบบ ส.ส.เขตแบบเดิม เมื่อบัตรเลือกตั้งเหลือใบเดียว การต่อสู้การแข่งขันทางการเมือง จะรุนแรงมากขึ้นเลยทีเดียว

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เป็นความคิดที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นการย้อนถอยหลังกลับไปสมัยเมืองไทยที่ยังไม่มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะต้องสู้กันแบบเฉพาะในพื้นที่ อาศัยภายใต้ร่วมของพรรคการเมือง เรื่องของหัวคะแนนก็หนี้ไม่พ้น เรื่องของบ้านใหญ่ บ้านเล็ก ระบบอุปถัมภ์ ผมจึงคิดว่าความคิดนี้ เหมือนย้อนหลังกลับไป ซึ่งก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำไมถึงคิดเช่นนี้

โดยความคิดระบบปาร์ตี้ลิสต์มีขึ้นมาเพื่ออยากให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ที่ไม่ใช่นักการเมืองในพื้นที่หรือแต่ละจังหวัด ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในสภา ให้ผู้ที่มีชื่อเสียง เป็นครู หรืออาจารย์เป็นผู้ที่มีความชำนาญในด้านอื่นๆ เป็นนักธุรกิจ นักเคลื่อนไหวต่างๆ มาใส่ชื่อเหล่านั้นอยู่ในบัญชี 100 รายชื่อของพรรคตนเอง และก็คาดหวังว่าจะได้รับเลือกเข้ามาในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ก็จะสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ทำไมถึงต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปาร์ตี้ลิสต์

ผมยังคงเห็นด้วยกับการมีระบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แต่บางครั้งหรือหลายครั้ง พรรคการเมืองจะมีผลประโยชน์ต่างๆ ตอบแทนที่นำบุคคลที่มีบุญคุณกับพรรคมาไว้ในบัญชีรายชื่ออันดับต้นๆ เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการตอบแทนบุญคุณ ที่ช่วยอุดหนุนพรรค หรือใช้คำว่า “นายทุนพรรค” ก็ได้

ตรงนี้อาจจะเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำให้เจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่นัก แต่ในความเป็นจริงก็ทำได้ แต่ผมอยากให้สัดส่วนของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญในการหาเสียง ได้เข้ามาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนจะผสมสัดส่วนของนายทุน หรือผู้ที่มีบุญคุณต่อพรรคไปด้วยก็ไม่ว่ากัน และยังคงคิดว่าระบบปาร์ตี้ลิสต์น่าจะยังดำรงไว้ แต่สัดส่วนก็อาจจะไม่ต้องมากนัก

แต่หากไม่มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ขึ้นมา ก็ต้องย้อนกลับไปสมัยก่อน คือเขาต้องสู้กันอย่างเต็มที่ในเรื่องของ ส.ส.เขต และแน่นอนว่าการเมืองไทยเรายังไม่หลุดพ้นระบบอุปถัมภ์ ระบบนี้ก็จะกลับมาเข้มข้นอีก แต่จะมากไปกว่าเดิมหรือไม่ก็ยังตอบไม่ได้ ซึ่งยังมีปัจจัยการเมืองหลายอย่างที่ต้องวิเคราะห์อยู่ เรื่องของคนรุ่นใหม่ เรื่องมุมมองต่อการเมือง เรื่องพลังของระบบอุปถัมภ์ที่ยังคงทรงพลังเหมือนสมัยก่อนอยู่ไหม หรือลดทอนลงมาแล้วแต่ยังคงไม่หายไป

ในเรื่องดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการสกัดพรรคก้าวไกลหรือไม่ เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุดในสภานั้น ผมมองว่าเป็นไปได้หากจะสกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งเบื้องหลังผมไม่รู้ว่าคิดแบบนี้ไหม แต่ถ้าเกิดเป็นจริง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ได้ ส.ส.ที่มาจากการแบ่งเขตอย่างเดียว พรรคก้าวไกลจะลำบากมากขึ้น เพราะจะทำให้สัดส่วนของ ส.ส.ในภาพรวม เมื่อไม่มีปาร์ตี้ลิสต์ลดลง แล้วยิ่งช่วงหลัง ความทรงพลังของผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลที่จะลงแข่งขันในพื้นที่ สู้กับอิทธิพล หรือบารมีของบ้านใหญ่ได้น้อยลง เราจะเห็นหลายพื้นที่เริ่มเที่ยงธรรม เริ่มไม่ได้รับชัยชนะแล้ว โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา ที่มีการชิงจังหวะของคนของบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด ก็ชิงลาออกจากการเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครไม่ทัน นี่คือปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนว่า การที่ใช้สูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกลอาจตกที่นั่งลำบาก

เพราะฉะนั้น พรรคใหญ่จะกลับมาได้เปรียบ ที่ไม่ต้องกังวลใจ เพราะว่าจะไปรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยมาอยู่ฝ่ายตนเพื่อจะตั้งรัฐบาล ก็คือทำอย่างไรให้พรรคตนเองมีผู้สมัครที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในพรรคให้ได้มากที่สุด และต่อรองกันอีกทีนึง เพื่อที่จะก่อตั้งชุดรัฐบาล หากไม่มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ บัตรเลือกตั้งจากที่เคยเป็น 2 ใบ ก็อาจจะลดเหลือมาเป็นใบเดียว ก็อาจจะลดความซับซ้อนในการเลือกตั้ง ลดจำนวนบัตรเสียให้น้อยลงได้

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะ ผมมองว่าเป็นไปไม่ง่ายเลยและคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ หากกลับไปใช้สูตรเดิมอาจจะมีคนคัดค้านไม่เห็นด้วย ซึ่งน่าจะมีหลายท่านที่ยังคงพึงพอใจกับระบบปาร์ตี้ลิสต์เสริมเข้ามา เพื่อให้ความมีความสมบูรณ์มากขึ้นในแง่ของสภาวะการเมืองไทยที่คนลงสมัครเลือกตั้งหลายคนก็ไม่ชำนาญในการหาเสียงหรือการลงพื้นที่ แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียง และพร้อมที่จะเข้าสู่การเมือง โดยที่จะรู้สึกว่าเขาจะไม่ต้องเปลืองตัวมาก ไม่ต้องไปใช้พลังงานในการหาเสียง แต่เขาจะนำพลังงานของเขามาทำหน้าที่ในสภาให้เต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image