‘นันทวัฒน์ บรมานันท์’ สแกนยิบ รธน.ฉบับ’มีชัย’

หมายเหตุศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นต่างๆ

-อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘นายมีชัย’ แล้วมองอย่างไร

ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ปกติแล้วรายละเอียดมันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ยกตัวอย่าง ตอนร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นเราจะเห็นได้ว่าเขาทำดีมาก มีตารางเปรียบเทียบของปี 40 ปี 50 และร่างปี 57/58 (บวรศักดิ์) เทียบกันให้เห็นชัดๆ มีการระบุเหตุผลของการแก้ไขส่วนต่างๆ ไว้ เพราะฉะนั้นรายละเอียดที่เขาส่งให้เรามันสมบูรณ์ในตัว สามารถทราบได้เลยว่ามาตราไหนเหมือนเดิม มาตราไหนมีการแก้ไข มาตราไหนถูกยกเลิก แล้วก็เหตุผลในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเป็นอย่างไร ซึ่งในร่างของนายมีชัยมันไม่มีตารางเปรียบเทียบระหว่างของใหม่ของเก่า เราเลยไม่ทราบว่าแตกต่างจากของเดิมอย่างไร ที่เขาเพิ่มมาอย่างไร ตัดออกไปมีเหตุผลอย่างไรบ้าง

ต่อมาคือเรื่อง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ถ้าดูในบทเฉพาะกาล เขาจะพูดถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่าต้องมีอยู่ทั้งหมด 10 ฉบับ แต่ว่าพอเราไปดูในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เขาจะพูดเอาไว้เลยว่าแต่ละฉบับควรมีกรอบอย่างไรบ้าง แต่ในร่างของนายมีชัยมีการพูดในบางส่วนที่ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. ถ้าเราไปดูรายละเอียดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. เขาจะบอกว่าวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญปี 50 เขาบอกรายละเอียดไว้ แต่ฉบับนี้มันแทรกอยู่ แต่มันยังไม่เป็นระบบ

Advertisement

-มีการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างมากในร่างของ กรธ.

สิทธิเสรีภาพ ผมว่ามันก็หายไปเยอะ แต่ว่าเท่าที่ฟังจาก กรธ.บางท่านที่ออกมาให้สัมภาษณ์ ท่านก็บอกว่ามันอยู่ตามส่วนต่างๆ ถึงจะอยู่ตามส่วนต่างๆ ก็ตาม แต่พอเราย้อนกลับไปดูปี 50 หรือแม้กระทั่งร่างของนายบวรศักดิ์ เราจะเห็นได้ว่าเขามีความพยายามที่จะรวบรวมสิทธิเสรีภาพมาไว้ด้วยกัน มันง่ายกับการค้น เพราะฉะนั้นจะมีหรือไม่มี การอยู่รวมในที่เดียวกันผมคิดว่ามันดีกว่า

กรธ.ท่านหนึ่งอธิบายให้ผมฟังว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น “อะไรที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม กฎหมายไม่ได้ห้าม ก็ถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ซึ่งผมคิดว่าดี ไม่ใช่บอกแค่ว่าเรามีสิทธิอะไรบาง อย่างไรบ้าง

Advertisement

แล้วถ้าเราไปดูรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 57 การเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ผมเข้าใจว่าบางทีคนเขียนอาจเป็นคนเดียวกันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ผมคิดว่าการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้นดีมาก เพราะเขาเขียนในมาตรา 4 ว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคบรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตยและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ การเขียนมาตรา 4 แบบนี้เหมือนกับว่าการเขียนมาตราเดียวนี้ สิทธิเสรีภาพทั้งหมดที่เราเคยมีมาในอดีต เราได้ต่อ ถ้าเอาลักษณะแบบนี้มาเขียนเอามาเขียนไว้คนก็จะคลายความกังวลลง อะไรที่เคยมีอยู่แล้วยังมีต่อไป อันนี้ผมคิดว่าถ้าจะเพิ่มเข้าไปได้ก็น่าจะดีขึ้น

-สิทธิเสรีภาพอะไรบ้างที่ไม่ได้เขียนไว้

องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคหายไปเลย ในรัฐธรรมนูญไม่มีนะ มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญปี 50 เขาบอกเอาไว้เลยว่าให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระในหน่วยงานของรัฐประกอบกับใครต่อใครเต็มไปหมดเลย ในร่างนี้ไม่มี สิทธิชุมชนก็ไม่มี สิทธิอนุรักษ์ก็ไม่มี แล้วอีกอันหนึ่ง คือสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ไม่แน่ว่าน่าจะไปแทรกอยู่ตามที่ต่างๆ ที่พยายามจะบอกก็คือรัฐธรรมนูญปี 50 เขาแยกให้เห็นได้ชัดเลยว่านี่คือสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับร่างนายมีชัยเอาไปแทรกไว้ตามที่ต่างๆ มันทำให้ประเด็นมันไม่เด่นขึ้นมา เพราะฉะนั้นพอไม่เด่นขึ้นมาคนก็จะไปโจมตีว่าตัดไป แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่

-แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’

เรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ ผมยังมีข้อสงสัยอยู่พอสมควร ถึงสถานะของสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพราะว่าในมาตรา 61 เขาพูดว่าถึงรัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ คือรัฐบาลเวลาจะเข้ามาทำงาน ต้องทำตามนโยบายของรัฐ ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ และต้องทำตามนโยบายพรรคการเมืองด้วย แล้วมันจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะว่ามันจะเป็นกรอบที่ทำให้เดินลำบากหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ

เพราะบอกว่าคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นกรอบหลักซึ่งเรายังไม่มีรายละเอียดว่าใครจะเป็นคนทำ เพราะเขาใช้คำว่ารัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ ถ้ารัฐบาลเข้ามานโยบายรัฐบาลขัดกับยุทธศาสตร์ชาติจะทำอย่างไรบ้าง อันนี้มันยังไม่ชัดเจน มันต้องมีรายละเอียดที่เขียนเพิ่มเข้าไป

-ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

เราจะเห็นได้ว่า ส.ส.มองเห็นเหมือนกันว่าระบบพรรคใหญ่ไม่อยากใช้คำว่าถูกทำลาย แต่มันจะทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่สามารถใหญ่มากได้ เพราะว่าคะแนนที่เสียไปมันจะกลายมาเป็นของพรรคเล็ก เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติ ส.ส.แบบเขต 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ตัว ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะเป็นตัวแปร พรรคที่มีฐานะพอที่จะมีพรรคสำรองได้ ก็จะตั้งพรรคสำรองขึ้นมา เพื่อเก็บคะแนนเป็นพรรคในเครือ แล้วตรงนี้มันก็จะทำให้นักการเมือง ซึ่งเข้าใจปัญหาของนักการเมืองอยู่แล้ว คือต้องการเป็นรัฐบาลต้องการชนะการเลือกตั้ง จึงทำให้เทคนิคต่างๆ จะถูกงัดออกมา อาจจะดึงคนเด่นๆ ให้ไปอยู่ในพรรคนั้นบ้างเพื่อให้ได้คะแนน มาเก็บคะแนนของปาร์ตี้ลิสต์ พอเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้ แล้วพรรคใหญ่ได้บัญชีรายชื่อ ถึงเวลาพอเปิดหน้าตักออกมาคุณก็มารวมกันได้ก็กลายเป็นพรรคใหญ่อยู่ดี แต่ถ้าคุณรวมกันไม่ได้ตรงนี้แหละจะยุ่งเพราะว่ามันก็จะเกิดการวิ่งกันว่าใครจะไปรวมกับใคร ซึ่งเราจะเห็นอยู่แล้วว่ารัฐบาลผสมในบ้านเรามันคือการต่อรองทั้งนั้น

-ที่มาของ ส.ว.มองอย่างไร

ประเด็นของ ส.ว.ใน รธน.ฉบับนายมีชัยเขียนให้มาจากการสรรหาหมด การสรรหาเป็นกระบวนการที่สับสน ถ้าเราไปดูในร่างยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นยังไง บอกว่าการสรรหาก็เหมือนการเลือกตั้งทางอ้อม ควรมีรายละเอียดมากกว่านี้ ให้เลือกตามกลุ่มเลือกกันของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ แล้วเขาก็ใช้ว่าการแบ่งกลุ่มคุณสมบัติของบุคคลในแต่ละกลุ่ม

เรื่องความยึดโยงกับประชาชน เราไม่มีรายละเอียด รายละเอียดเราจะต้องดูกันต่อ เพราะว่า กรธ. ไม่ให้รายละเอียดแล้ว รธน.ผ่านประชามติออกมา กรธ.เขียนกฎหมายประกอบแล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน อันนี้เราไม่มีสิทธิเลยนะ ประชามติรับหรือไม่รับก็ไม่ได้ เรื่องนี้เป็นประเด็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องไว้ดูกันดีๆ เลย เพราะว่ากฎหมายที่ทำโดย สนช. ไม่มีใครคุมอยู่แล้ว ต้องรอดูว่าเขาจะมีคำอธิบายอย่างไรออกมาบ้าง

สิ่งที่เขาพูดมันต้องยึดโยงกับประชาชน ถ้าเราใช้ระบบ 2 สภาแบบนี้มันก็มีหลายประเทศที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม แต่ว่าทางอ้อมมันก็ยึดโยงกับประชาชน ยกตัวอย่างที่ประเทศฝรั่งเศส ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คือสมาชิกสภาท้องถิ่นเลือกกันเอง เพราะฉะนั้นประชาชนเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นทางตรงอยู่แล้ว แต่สมาชิกสภาท้องถิ่นเลือกกันเองขึ้นมาเป็นสมาชิกวุฒิสภามันก็คือเลือกตั้งทางอ้อม มันก็มีจุดยึดโยงกับประชาชน

การแบ่งกลุ่มตามสาขาอาชีพว่ามันไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชนมันก็ไม่ใช่ เพียงแต่ว่ามันจะกระจายไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าวันนี้ทุกอย่างมันเป็นอาชีพหมด อันนี้เราจะทำให้ความหลากหลายของอาชีพมันกระจายไปได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

-การกำหนดให้พรรคการเมืองเปิด 3 ชื่อ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปิดช่องนายกฯคนนอกหรือไม่

ไม่ได้มองว่ามันเป็นการล็อกสเปก มันก็ดีไปอย่างหนึ่งที่พรรคการเมืองก็บอกว่าถ้าฉันเป็นรัฐบาลใครจะเป็นนายกฯ แต่เขาไม่ได้ระบุว่าคนที่จะเป็นนายกฯจะเป็นใคร มันอาจจะเป็นไปได้ว่าพรรคใหญ่เสนอหัวหน้าพรรคและรองหัวหน้าพรรค ส่วนพรรคเล็กเขาอาจจะเสนอชื่อคนนอก อาจเสนอผู้นำชุมชน ผู้นำกฎหมาย ผู้นำทหารก็ว่าไป พรรคเล็กที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก็เสนอชื่อคนนอกไว้ พอถึงเวลารวมเกิดการต่อรองกัน นายกฯอาจจะเป็นใครก็ได้ อันนี้เราไม่ทราบ

สำหรับผมไม่กังวลเรื่องนายกฯคนในคนนอกสักเท่าไหร่ เพราะผมคิดว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมันน่ากลัวมากกว่า เพราะว่าคนในคนนอกก็ถูกคุมโดยรัฐธรรมนูญในการทำงานเหมือนกัน

พูดกันมากว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่จริงๆ แล้วปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเราสามารถควบคุมการใช้อำนาจของคนที่เป็นนายกฯได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าอยู่ในการควบคุมได้ คุณเป็นใครก็ได้ต้องควบคุมได้ เหมือนกับรัฐบาลปัจจุบันนี้แหละ ถ้าทุกอย่างทำแล้วถูกควบคุมได้โดยกฎกติกาทั้งหมด ผมว่ามันก็โอเค เพียงแต่ว่าเรามาติดกับคำว่ามาจากการเลือกตั้ง

อันนี้ผมไม่กังวลเพราะว่าถ้าเราได้นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นทหาร สมมุติว่าเป็นพลเรือน เป็นนักการเงินที่เก่งมาก แล้วไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่พรรคบอกว่าโอเค เสนอชื่อมาเป็นนายกฯว่าเรารับได้ไหม ใสซื่อมือสะอาดเก่ง ผมคิดว่ามันน่าจะได้นะ เพราะฉะนั้นประเด็นคือถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่เรียนกันมา ผมคิดว่ากลไกการควบคุมต้องทำให้มันดี

-ประเด็นการเพิ่มอำนาจให้ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’

ประการแรกคือยกเอาอำนาจถอดถอนที่เคยเป็นของวุฒิสภาใน รธน.ปี 40 และ 50 มาเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการถอดถอนได้ และก็เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ไม่เกิน 10 ปีด้วย

หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นๆ ตามมาตรา 215 กำหนดมาตรฐานจริยธรรม ดังนั้น ในการถอดถอนนักการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญจะง่ายขึ้น เพราะคนตีความคือคนกลุ่มเดียวกัน

ประการต่อมาที่มีคนพูดกันมาก คือมาตรา 7 เดิม เรื่องตีความตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญในอดีต ไม่มี แต่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสั้นๆ ที่ออกโดยคณะรัฐประหารในอดีต เขาใส่เอาไว้ถ้ามันมีปัญหาก็ต้องอุดช่องว่าง แต่ว่ามันมีความไม่ชัดเจนอยู่ในตัวมันอยู่แล้ว เพราะเขาใช้คำซึ่งเป็นคำเดิม คือเมื่อไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญยกมาปรับ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย

คำว่าประเพณีการปกครองเราก็ไม่รู้ว่ามันต้องนานขนาดไหน มันถึงจะเป็นประเพณีการปกครองได้ แล้วถ้าสมมุติว่ามันขัดกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ขัดกับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น การรัฐประหารก็เป็นถือว่าเป็นประเพณีการปกครองหรือไม่

พอมีมาตรา 7 ก็จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะวินิจฉัยโดยเอาสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญมาใช้ได้ ถ้าการเอาสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญมาใช้ แล้วใช้ได้ตามรัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่าเรามีอีก 1 มาตรา หรือ 2 มาตราเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญ นี่คือการให้ศาลรัฐธรรมนูญสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจากการตีความของตัวเอง โดยการวินิจฉัยของตัวเอง เราเห็นมาแล้วคราวที่แล้วแก้รัฐธรรมนูญแล้วทำไม่ได้ อ้างว่ามันขัดต่อล้มล้างการปกครอง หรืออะไรก็ตามจะมีการเขียนเอาไว้ว่า เช่น รัฐธรรมนูญปี 50 มาจากประชามติ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ต้องเอาไปประชามติก่อน อันนี้ศาลก็สร้างขึ้นมา

-การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.ทำได้ยากมาก

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยากมาก เราจะเห็นได้ว่าตอนร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ก็ว่ายากแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยยากเข้าไปอีก รัฐสภามี 700 คน ต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งคือ 350 คน การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรกรับหลักการเรียกชื่อโดยเปิดเผย ต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภาก็คือ 350 คน แต่ ส.ว.ต้องเห็นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.เอง คือให้ ส.ว.เป็นคนถ่วงดุลการแก้รัฐธรรมนูญ คือไม่ว่ารัฐสภาจะเห็นอย่างไรก็ตาม ส.ว. ต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วย แล้วถ้า ส.ว.จับมือกันไม่แก้ รธน. ต่อให้รัฐสภา ส.ส. 500 คน เทไปหมดเลยนะสัก 400 คน ก็แก้ไม่ได้ ไปติดล็อก ส.ว. นี่ขนาดวาระที่ 1 วาระที่ 2

วาระที่ 3 คล้ายกันแต่มีเพิ่มมาคือ ต้องมี ส.ส.จากทุกพรรคที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน เห็นด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 อันนี้จะเป็นปัญหาเพราะว่าถ้าในสภามีพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะมีพรรคละ 11 คน 12 คน ถ้าในพรรค 11 คนบอกไม่แก้แค่ 11 คน ต่อให้มี ส.ว. 1 ใน 3 และต่อให้มีเสียงเกิน ถ้า 11 คนบอกไม่แก้ มันแก้ไม่ได้นะ เพราะฉะนั้นตรงนี้มันจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยาก ระบบการปกครองคุณจะยากอย่างไร ผมไม่ว่า แต่เรื่องที่ทำให้การบริหารงานติดขัดเนื่องจากตัวรัฐธรรมนูญมันต้องแก้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นมันเดินหน้าไม่ได้หรอก เกิดมีพรรคเล็กที่มีคน 11 หรือ 12 คนยื้อทุกเรื่อง ไม่แก้ทุกเรื่อง จะทำอย่างไร

-จุดที่กังวลที่สุดของร่าง รธน.ฉบับ ‘มีชัย’ คืออะไร

เรื่องที่แย่ที่สุดสำหรับผม ตอนที่ผมโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ คือ ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก เพราะผมไม่คิดว่าคนแค่หยิบมือเดียวจะเขียนรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นของใหม่แล้วแทบจะเรียกได้ว่าแก้ไม่ได้เลย เพราะผมคิดว่ารัฐธรรมนูญในช่วงต้นมันควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขได้ เราไม่รู้หรอกเพราะว่าคนเหล่านี้เขียนอะไรบางอย่างขึ้นมา ตอนร่างของนายบวรศักดิ์มีความพยายามเขียนเรื่องสิทธิของพลเมืองเยอะมาก ตอนนั้นก็เขียนให้แก้ไขยาก แต่ก็ยังง่ายกว่าร่างฉบับนายมีชัย ตอนนั้น (ร่างของนายบวรศักดิ์) ผมไม่เห็นด้วย เพราะแก้ไขยากมันเท่ากับต้องสนับสนุนให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง

เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันควรจะต้องแก้ไขได้ เนื่องจากเราไม่เคยใช้บทบัญญัติบางอย่างมาก่อนเลยและมีข้อบกพร่องจะลำบาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

-มองการประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร?

ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คือใจผม ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ผมเคยคุยใน สปช. ผมบอกว่าเสียดายเงินที่ทำประชามติ เพราะว่าเราเคยเจอมาแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2534 ตอนนั้นคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำ และจำได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแก้จนเกือบหมดเลย แก้เป็นสองสามร้อยมาตรา ในที่สุดเขาก็ออกมาชูธงเขียว คือ ต้องแก้ใหม่ ต้องยกเลิก ให้มีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นก็มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะว่าทุกคนรังเกียจว่ารัฐธรรมนูญปี 34 แก้โดยรัฐบาลเลือกตั้งแล้ว แต่กรอบมันยังมาจาก รสช.อยู่ เขาก็ไม่เอา

เพราะฉะนั้นวันนี้เราคาดการณ์ไม่ได้หรอกว่าในอนาคตคนเขาจะรู้สึกอย่างไรกับรัฐธรรมนูญชุดนี้ เพราะฉะนั้นเราเอาไปทำประชามติมันได้แค่รูปแบบ ตอนทำประชามติฉบับปี 50 ก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหาตั้งเยอะแยะ มาจากการทำประชามติยังแก้ไม่ได้ เงินประชามติก็เสียไปตั้งเยอะ เงินค่าใช้จ่ายในการร่างรัฐธรรมนูญก็เสียไป ถ้าผมเป็น สนช. เป็น คสช. ผมไม่อยากให้มีการทำประชามติ

จริงๆ แล้วมันก็มีหลายเสียงที่พูดว่าเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ชั่วคราวไหม ให้มีการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญปี 40 เราก็ทราบอยู่แล้วว่ามันก็มีข้อดีแต่ว่าข้อเสียก็เยอะ ตอนนี้เรามีทางตันอีกแล้วว่าถ้าเราไม่เอาร่างฉบับนายมีชัย เราจะได้อะไร เหมือนกับตอนที่เราประชามติร่างปี 50 ตอนนั้นเขียนเอาไว้ชัดเลยว่าถ้าเราไม่เอาปี 50 เขาให้อำนาจคณะรัฐประหารที่จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ก็ได้ วันนี้เราก็มาถึงทางตันแบบเดียวกันอีกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image