ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
เมื่อได้เห็นโพสต์ที่มีผู้แชร์กันเกี่ยวกับว่าที่ ส.ว. ผู้ได้รับเลือกด้วยคะแนนสูงสุด ประโยคที่น่าจะคล้ายเป็นชื่อของไลต์โนเวลสักเรื่องก็แวบขึ้นมาทันทีในหัว
เพราะนอกจากเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.3) ที่ดูแปลกตาแล้ว ยังมีภาพถ่ายที่มาจากเฟซบุ๊กส่วนตัวซึ่งถ้าไม่รู้มาก่อนก็จะนึกว่าเป็นหญิงสาวเพิ่งพ้นวัยรุ่นผู้มีสไตล์การแต่งหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ระบายตาทาปากคมชัดเล่นไฮไลต์สีสันจัดจ้านสดใส คล้ายกับแนวการแต่งตัวแต่งหน้าแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “สาวแกล” (Gal หรือ Gyaru) ที่เป็นแฟชั่นที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุค 90 แต่เหมือนกลับมาเป็น
เทรนด์อีกครั้งและถูกตีความใหม่เมื่อไม่กี่ปีนี้ จากความที่ “สาวแกล” เคยมีภาพลักษณ์ที่ดูแรงและต่อต้านสังคม ปัจจุบัน “สาวแกล” กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความน่ารักสดใส เป็นบุคลิกของกลุ่มคนที่เราไม่อาจตัดสินจากภาพลักษณ์ภายนอกได้
การที่ผู้คน “ฝ่ายที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย” นำเอาภาพอื่นๆ ของว่าที่ ส.ว. ท่านนี้มานำเสนอไว้ด้วยประกอบการเสียบประจาน (ไม่ใช่สิ ฝ่ายประชาธิปไตยเขาเรียกว่า “ชี้ให้เห็นข้อพิรุธหรือความผิดปกติของกระบวนการเลือก ส.ว.”) จึงน่าจะพอบอกได้ว่า รูปลักษณ์อันโดดเด่นเป็นพิเศษของเธอก็มีนัยสำคัญกับเรื่องนี้มากทีเดียว
ท่านว่าที่ ส.ว. “สาวแกล” ผู้เป็นที่ฮือฮาเนื่องจากได้คะแนนสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งนี้แนะนำตัวว่าเป็นแพทย์หญิงด้านจิตวิทยามาจากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ประเด็นเรื่องกลุ่มที่มานั้นไม่มีปัญหา เพราะตัวท่านเองก็มีธุรกิจส่วนตัว แต่ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเป็นเรื่องของวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและตำแหน่งทางวิชาการที่ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ แต่ถึงอย่างนั้นจากประวัติท่านก็สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเอกชนและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย และเป็นคุณหมอจริงๆ ส่วนตำแหน่งทางวิชาการแม้อาจจะยังมีคำถาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ไม่ใช่คุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสายนี้ รวมถึงความเชื่อมโยงกับนักการเมืองคนดังผู้อยู่ยั้งยืนยงถึงสองรัฐบาลท่านหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ หรือชี้อย่างมีหลักฐานได้ว่าส่งผลโดยตรง หรือโดยอ้อมกับการที่ท่านได้รับเลือกมานี้
พร้อมกันนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงว่าที่ ส.ว.ในกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ว่ามีว่าที่ ส.ว.ที่ระบุว่ามีอาชีพหลักเป็นช่างเย็บผ้า แต่มีประสบการณ์ในการเป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน หรืออีกท่านระบุอาชีพหลักเป็นพยาบาล แต่สมัครกลุ่มนี้ด้วยประสบการณ์เป็นสื่อมวลชนวิทยากรด้านแม่และเด็กที่ให้ความรู้ด้านนมแม่รวมถึงเป็นพิธีกรงานแต่งงานและงานเลี้ยงทั่วไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับวิญญูชนก็ออกจะดูผิดจากความเข้าใจโดยปกติธรรมดาอยู่มากจริงๆ หากตั้งคำถามให้นึกภาพว่า “สื่อมวลชน” จะต้องทำงานแบบไหน หรือทำหน้าที่อะไร เพียงแต่ “น้ำเสียง” ในการตั้งข้อสงสัยของ “ฝ่ายที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย” มันเหมือนเป็นการ “เหยียด” ว่า “นักประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย” นั้นศักดิ์และศรีเทียบไม่ได้กับ “สื่อมวลชน” ประเภทนักเขียนนักข่าวผู้มีชื่อเสียงหลายคนที่เป็นอันตกรอบไปก่อนหน้านี้ หรือมองว่าการเป็น “พิธีกรงานแต่ง” แล้วบอกว่าเป็น “สื่อมวลชน” เป็นเรื่องตลก โดยไม่ยอมกล่าวถึงประสบการณ์อีกส่วนที่ผู้สมัครท่านนั้นอ้างไว้ คือการเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้เรื่องแม่และเด็ก
อย่างไรก็ตาม การออกมาตั้งข้อสังเกตแบบนี้ของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” ก็ถูกย้อนเกล็ดให้จากทั้งฝั่งเดียวกันแต่ต่างฝ่ายคนละสี ว่า อ้าว ไหนว่าคนเท่ากัน แต่ไหนไปเหยียดอาชีพหรือการศึกษาหรือไปเพ่งเล็งเอาถึงหูตาหน้าผมของว่าที่ ส.ว. ที่ผ่านการเลือกเข้าเสียอย่างนั้นเล่า
จนต้องมีการออกมากล่าวแก้ว่านี่ไม่ใช่การเหยียด แต่เป็นการที่พวกเขาออกมาชี้ให้เห็นถึง “กระบวนการ” ที่ไม่ชอบ โดยมีการสมัครไม่ตรงกลุ่มอาชีพ ฉ้อฉลมาลงสมัครในกลุ่มที่มีการแข่งขันน้อย แล้วระดมบล็อกโหวตกันจนทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนั้นจริงไม่ได้เข้าเป็น ส.ว.ตามเจตนารมณ์ และถึงกับชี้ว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว.ฐานรับรองเอกสาร หรือหลักฐานประกอบการสมัครเป็นเท็จกันไปถึงขนาดนั้น
ข้อสังเกตของเรื่องนี้คือ กลุ่มอาชีพที่มีปัญหานั้น คือกลุ่มอาชีพที่ไม่ได้มีบทกฎหมายกำหนดนิยามไว้ชัดเจน และไม่ใช่อาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต่างจากกรณีของกลุ่มอาชีพที่ชัดเจนอื่นๆ เช่น ถ้าเป็นกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคงนั้น ใครไม่เคยเป็นข้าราชการ เป็นทหารตำรวจมาก่อนเลยก็ย่อมสมัครไม่ได้ หรือกลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ทนายความ ก็สมัครไม่ได้เช่นกัน หรือกลุ่มผู้ประกอบกิจการ ถ้าไม่มีกิจการค้าขายอะไรเลยก็ย่อมไม่ได้
แต่อย่างกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม นี่ล่ะ จะเอาอะไรมาวัดมาจับ?
ขอยกตัวอย่างด้วยเรื่องของผมเองที่เมื่อใครถาม หรือให้แนะนำตัวที่ไหน ผมก็มักจะแนะนำตัวว่าเป็น “นักวิชาการ” “นักเขียน” และ “คอลัมนิสต์” มาโดยตลอด และก็เชื่อว่าอาชีพอันแท้จริงของผม คือ “นักเขียน” จริงๆ นับตั้งแต่มีผลงานเรื่องสั้นตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่หากพิจารณาจากอาชีพที่ปรากฏในเอกสารเป็นทางการของผม ก็จะระบุว่า “รับราชการ”
สมมุติว่าผมมีโอกาสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. (ที่จริงๆ แล้วทำไม่ได้ เพราะเขาไม่ให้ข้าราชการไปลงสมัครโดยไม่ลาออกเสียก่อน) แล้วดันได้รับเลือกขึ้นมา ก็อาจจะถูกตั้งข้อสังเกตได้เหมือนกันว่า ทำไม “นักเขียน” ที่มีคอลัมน์ลงพิมพ์แค่สัปดาห์ละครั้ง สิบปีออกหนังสือมาแค่สี่เล่ม ถึงจะพอมีรางวัลวรรณกรรมมาอวดบ้างก็ประปราย แต่ถ้าพิจารณาว่ารับราชการมายาวนานถึงขนาดสามารถลาออกรับบำนาญได้แล้ว ทำไมไม่ไปสมัครในกลุ่มข้าราชการ หรือกระบวนยุติธรรมอะไรให้มันถูกต้อง
เมื่อการนิยาม “อาชีพ” ของบางสาขามันไม่ได้ชัดเจนอย่างที่จะจับคนไปลงกองนั้นกลุ่มนี้ได้แบบไม่มีข้อโต้แย้ง ดังนั้น ถ้าจะให้เถียงกันก็รับรองได้ว่าไม่จบไม่สิ้น แต่อันที่จริงถ้าจะให้กล่าวโทษอะไร ก็ควรจะโทษหลักเกณฑ์ของผู้จัดการเลือกตั้งเสียมากกว่า ว่าทำไมผู้จัดการเลือกตั้งนั้นมีเวลาตั้งนานหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือก ส.ว.นี้มีผลใช้บังคับ ทำไมถึงไม่กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับ “อาชีพ” ในแต่ละกลุ่มนี้ให้ชัดเจนสิ้นสงสัยไม่ต้องมาถกเถียงกันว่าผู้ประกาศเสียงตามสาย หรือวิทยากรเผยแพร่ความรู้เฉพาะทาง ถือเป็น “สื่อมวลชน” ได้หรือไม่ หรือในกรณีของการประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไป หรือมีหลายอาชีพ อาชีพที่จะมาใช้สมัครเป็น ส.ว.นั้น จะมีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไร ต้องมีสัดส่วนความสำคัญแค่ไหน ความต่อเนื่อง ประสบการณ์ หรือการยอมรับแค่ไหน
ในเมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ทางการจากผู้จัดการเลือกตั้ง ทั้งก็ไม่มีใครนิยามได้ชัดเจนเช่นนั้น เรื่องที่จะมาบอกว่า การเป็นนักข่าว เป็นคอลัมนิสต์ หรือบรรณาธิการข่าวออนไลน์นั้นถึงจะเป็น “สื่อมวลชน” ยิ่งไปกว่าผู้ประกาศเสียงตามสายหรือวิทยากร โดยไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนนั้น อันนี้ก็ออกจะไม่เป็นธรรมและเป็นการพูดกันแบบเอาแต่ใจฝ่ายเดียวมากเกินไปหน่อย
ก็ไม่ได้ไร้เดียงสาจนถึงขนาดเชื่อว่าการเลือก ส.ว.ครั้งนี้จะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้สมัครเข้ารับเลือกและลงสมัครไปเลือกคนอื่นต่างลงคะแนนกันโดยเจตจำนงเสรี ก็เพราะเรื่องพิรุธอื่นๆ ที่น่าสนใจนั้นก็มีให้เห็นอยู่ เช่นที่ว่าที่ ส.ว.กลุ่มหนึ่ง ประมาณ 6 คน ถูกพบว่าถือหุ้นในบริษัทเอกชนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นบริษัทเอกชนจำกัดที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กรณีแบบนี้โดยปกติแล้วผู้ถือหุ้นจึงมักจะเป็นคนในแวดวงเดียวกันหรือรู้จักกัน การที่คนใน “แวดวง” อันจำกัดนั้น ผ่านรอบคัดเลือกอันโหดหินจากคนกว่า 4 หมื่นคนทั่วประเทศเข้าเป็น ส.ว. ได้ถึง 6 คนจึงเป็นเรื่องบังเอิญระดับมหัศจรรย์
ประเด็นแบบนั้นต่างหากที่น่าสงสัยยิ่งกว่าเรื่องผู้ประกาศเสียงตามสายที่เป็นช่างเย็บผ้า หรือเรื่องคุณพยาบาลวิทยากรนมแม่ หรือคุณหมอสาวแกลผู้มีปริญญาและคุณวุฒิอันเหลือเชื่อ ได้เป็น ส.ว. แต่เรื่องน่าสงสัยนั้นก็ไม่ได้เป็นประเด็น หรือถูกพูดถึงอะไรมากมายเท่ากรณีที่กล่าวถึงไป อาจจะเพราะประเด็นเรื่องการถือหุ้นร่วมกันนั้นไม่ฉูดฉาดสะใจเท่า
กล่าวโดยสรุปแล้ว ผลการเลือก ส.ว.ที่ผ่านไปนี้ ค่อนข้างมั่นใจว่า แม้แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองก็น่าจะไม่ได้คิดว่าผลจะออกมาแบบนี้เช่นกัน เพราะเท่าที่อ่านดูจากตัวบทในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้ร่างเหมือนจะตั้งใจให้ “วุฒิสภา” ที่มาจากการเลือกกันเองด้วยวิธีการพิลึกพิลั่นนี้ทำหน้าที่เป็น “สภาเครือข่าย” เพื่อมาเป็นปากเสียงให้แก่เครือข่ายอำนาจราชการ อำนาจจารีต และฝ่ายทุน ฝ่ายสื่อรุ่นเก่าที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มอำนาจข้างต้น รวมถึงฝ่ายองค์กรภาคเอกชนรวมถึงประชาชนรากหญ้ากลุ่มที่มีความสัมพันธ์กันเหนียวแน่นอยู่แล้วผ่านเครือข่ายสมาคมหรือองค์กรต่างๆ ที่เกื้อหนุนเกื้อกูลกันไปมา รวมถึงพวกหลักสูตรการอบรมระดับสูงกลางต่ำต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐด้วย โดยไม่น่าจะคาดคิดเรื่องการถูกแฮกระบบเสียจนพรุนขนาดนี้
ส่วนฝ่าย “ที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย” เองในตอนแรกก็คงคิดว่า เครือข่ายในกลุ่มวิชาชีพของตัวเองน่าจะพอ “แฮกระบบ” นี้ได้ และในรอบแรกๆ ก็ทำได้ดีเสียด้วย แต่แล้วก็พบว่า เครือข่ายเท่าที่มีก็ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะอย่างเด็ดขาดได้ในรอบสุดท้าย แต่ถึงกระนั้น ดูรายชื่อคนที่พอจะผ่านเข้าไปได้ ก็นับว่าเป็นชัยชนะเล็กๆ ได้พอสมควรเหมือนกัน ที่เราจะมีสมาชิกวุฒิสภาเป็นอดีตบรรณาธิการสื่อออนไลน์ “ประชาไท” ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอำนาจรัฐมาเกือบๆ 20 ปี อย่าง คุณบัส เทวฤทธิ์ มณีฉาย
เรื่องที่ชวนใจเสียอยู่ก็คือ เรื่องที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นแหละว่าในตอนที่ฝุ่นตลบ มีการเปิดเผยชื่อและประวัติของผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว.ใหม่ๆ เปิดเข้าไปในสังคมออนไลน์ กลับได้พบว่ามิตรสหายที่คุ้นหน้าเคยตากันต่างแชร์ข่าวชี้ประเด็นเรื่อง พื้นเพ การศึกษา อาชีพ ว่าคนที่สุดท้ายจะได้เป็น ส.ว.นั้นดู “ชาวบ้านๆ” แค่ไหน เหมือนอยากจะชี้ให้เห็นว่าผู้สมัครจากอีกฝั่งฝ่ายหนึ่งที่ตกรอบไปแล้วนั้นมีคุณสมบัติที่ดีกว่า สมควรได้เป็น ส.ว. มากกว่าผู้คนอันคลุมเครือและมีประสบการณ์พื้นบ้านเหล่านี้
หรือนักวิชาการบางท่านถึงกับตั้งสเตตัสที่ว่าคนรากหญ้าเกินไปจะทำงานในสภาได้อย่างไร นี่เห็นแล้วตกใจว่า ถ้าปิดชื่อให้ทายคงจะเผลอคิดไปถึงนักวิชาการ “ฝ่ายโน้น” ท่านหนึ่งที่เคยเสนอว่าคนไม่จบปริญญาตรี คนไม่มีความรู้มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เหมาะที่จะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง
วิธีคิดและการให้เหตุผลว่า “คนดีมีความสามารถ” ต้องมาแพ้ให้ “คนโกง” สามารถเข้าไปยึดที่นั่งในสภาได้มากกว่า แบบนี้ไม่ใช่ผู้แทนของพวกเรา พวกคนรากหญ้า รับประโยชน์จากนักการเมืองขี้ฉ้อ ไม่มีความรู้ก็ไม่ควรเสนอหน้ามามีส่วนร่วมในกิจการบ้านเมืองเท่าภาคประชาชนผู้รู้ผู้มีโปรไฟล์ทั้งหลาย แบบนี้มันวิธีคิดของคนกลุ่มไหน นี่ไม่รู้สึกคุ้นๆ กันบ้างเลยหรือ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : แม่ค้าทองออนไลน์ ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางความรู้เท่าทัน (ซึ่งทำให้เราต้องขอบคุณที่ประเทศนี้ยังมี‘พี่หน่วง’)
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ความทะเยอทะยาน ความหวัง ของ ‘ตาคลี เจเนซิส’
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : การ ‘ตื่นรู้’ และ ‘ความหลากหลาย’ ที่ล้มเหลว
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เรายอมรับการถูกโบยตีโดยสมัครใจเพื่อชัยชนะหรือความสำเร็จได้แค่ไหน?