เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่แถลงข่าวในประเด็น 1.โรดแมปเลือกตั้งของ คสช. 2.นโยบายปรองดองของ คสช. 3.กิจกรรมของขบวนการในอนาคต
แถลงหนุนต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นายนันทพงศ์ ปานมาศ กล่าวว่า ช่วง 2-3 วันนี้มีกระแสคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน รัฐบาล คสช.ไม่รับฟังประชาชน พยายามทำสิ่งที่คนในพื้นที่ไม่ต้องการ ประชาธิปไตยไม่ต้องการขัดขวางการพัฒนาของประเทศ แต่รัฐบาลมีหน้าที่รับฟังปัญหาของประชาชน เมื่อเจ้าของพื้นที่ไม่ต้องการแต่รัฐบาลยังดันทุรังสร้างต่อไป ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีประเทศไหนเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขบวนการประชาธิปไตยใหม่เห็นด้วยกับพี่น้องประชาชนที่ออกมาเรียกร้องคัดค้าน โดยมีแถลงการณ์ดังนี้ จากกรณีที่กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้เดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล จนถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่และจับกุมตัวไปในที่สุดนั้น
ขบวนการประชาธิปไตยมีความเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจุดที่ยึดโยงกับหลักการสำคัญ 5 ประการที่เรายึดถืออยู่ ดังนี้
1.ประชาธิปไตย เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงปัญหาของระบอบเผด็จการ เมื่อบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลจึงสามารถสามารถอนุมัติโครงการใดๆ ได้โดยไม่ต้องรับฟังเสียงคัดค้านของประชาชน สามารถละเมิดสิทธิประชาชนอย่างไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิด ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2.ความยุติธรรม การใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อผลักดันโรงไฟฟ้า เช่น คำสั่งยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมืองกับโรงไฟฟ้า คำสั่งลัดขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการต่างๆ เป็นการบิดเบือนกฎหมายเดิมที่บัญญัติไว้เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน
3.การมีส่วนร่วม รัฐบาล คสช. ได้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งยังพยายามสั่งการข้าราชการให้เกณฑ์คนเพื่อมาแสดงการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรืออีกนัยหนึ่งคือมาเป็นฝ่ายตรงข้ามของกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนประชาชนกลุ่มนี้ต้องลุกขึ้นมาแสดงการประท้วงในที่สุด
4.สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน การดำเนินการของรัฐบาล คสช. โดยไม่ฟังเสียงประชาชนที่คัดค้าน เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ในขณะที่การจับกุมและพยายามสลายการชุมนุมนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
5.สันติวิธี การชุมนุมของกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นกระทำไปโดยสงบและปราศจากความรุนแรง ดังนั้นแล้วจึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่พวกเขาจะแสดงออกไม่ได้ภายใต้หลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ การสลายการชุมนุมและจับกุมประชาชนครั้งนี้จึงปราศจากความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง
ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอแสดงจุดยืนสนับสนุนการแสดงออกของกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่เรายึดถือ และจะขอให้ความช่วยเหลือในประการใดๆ ที่เราสามารถกระทำได้
เสนอโรดแมป จี้จัดเลือกตั้ง ส.ค.ปีนี้
นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า คสช.สัญญาว่าจะเกิดขึ้นในปี 2560 หลังเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง แต่เมื่อไม่นานมานี้ อ.วิษณุ เครืองาม พูดชัดว่าการเลือกตั้งจะเลือนไปอีกในปี 2561 คสช.เคยรับปากว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วหลายครั้งแต่ก็เลื่อนมาตลอด พล.อ.ประยุทธ์พูดว่าจะเลือกตั้งปี 2558 แล้วเลื่อนมาเป็น 2559 และ 2560 จนถึงหลังลงประชามติก็ย้ำว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปีนี้ เชื่อว่าคนไม่น้อยที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญก็อยากให้การเลือกตั้งเกิดในปีนี้ ล่าสุด อ.วิษณุกล่าวว่า การเลือกตั้งจะเลื่อนไปเป็นต้นปีหน้า ประชาธิปไตยใหม่ไม่สามารถเชื่อมั่นในสิ่งที่ คสช.สัญญาได้อีกแล้ว
“โรดแมปของ คสช.วางไว้ 695 วัน บวกรวมแล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันที่ 16 ธันวาคม 2561 แต่หลังการเลื่อนมาหลายครั้งเราเชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในปีหน้า ทั้งที่การเลือกตั้งสามารถลดระยะเวลาโรดแมปจนทำให้จัดการเลือกตั้งภายในปีนี้ได้ โดยขอเสนอโรดแมปว่าหากเราลดขั้นตอนต่างๆ จะเหลือเวลาเพียง 331 วัน โดย
1.การร่าง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.จาก 240 วัน สามารถร่างได้ใน 60 วัน โดยมีฉบับหลัก 4 ฉบับ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2549 เคยให้เวลาฉบับละ 15 วันและทำสำเร็จ
2.สนช.พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจาก 60 วัน เหลือ 15 วัน เท่ากันกับรัฐธรรมนูญ 2549
3.นายกฯทูลเกล้า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจาก 20 วัน เหลือ 1 วัน
4.จัดการเลือกตั้งจาก 150 วัน เหลือ 30 วัน เท่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 รวมแล้วจะเหลือเพียง 331 วัน เลือกตั้งภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2560 โดยหากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยร่างรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนด (90 วัน) ในทั้งสองขั้นตอน จะลดเวลาไป ซึ่งอาจเลือกตั้งได้เร็วขึ้นอีก อาจจะเป็นเดือนสิงหาคมนี้
นายรังสิมันต์กล่าว และว่า ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วเราจะมีรัฐบาลที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้ พร้อมรับผิดชอบต่อประชาชน นโยบายเศรษฐกิจที่แน่นอน นักลงทุนจะกลับมา และช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ปลดมาตรการกดดันต่างๆ และการเจรจาสันติภาพภาคใต้จะเกิดขึ้นได้ง่ายในรัฐบาลพลเรือน เราขอเรียกร้องให้ คสช.ดำเนินการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2560 ตามโรดแมปที่เราได้นำเสนอซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จริง อย่าลืมว่า คสช.เข้ามาโดยไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น จึงควรรีบออกไปโดยเร็วที่สุด
ต่ออายุรัฐบาล เสียงบประมาณมหาศาล
นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ กล่าวว่า มีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์จากการต่ออายุโรดแมปไปเรื่อยๆ ของ คสช. คือ แม่น้ำห้าสายของ คสช.ได้ประโยชน์จากการขยายโรดแมป โดย สนช.มีค่าจ้างรวมทุกตำแหน่งเดือนละ 50,048,710 บาท สปท.รวมทุกตำแหน่งเดือนละ 41,018,800 บาท ครม.รวมเดือนละ 4,297,690 บาท กรธ.รวมเดือนละ 755,000 บาท ส่วน คสช.รวมค่าจ้างเดือนละ 1,804,390 บาท ผู้ปฏิบัติงานใน คสช.อีกรวมเดือนละ 1,640,380 บาท รวมค่าจ้างแม่น้ำห้าสาย 99,564,970 บาทต่อเดือน หากยืดอายุต่ออีกหนึ่งปีจะเสียงบประมาณถึง 1,194,779,640 บาท
“หนี้เพิ่ม ภาษีเพิ่ม งบทหารก็เพิ่มแต่สวัสดิการลด ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมา 388,708 ล้านบาท โดยไม่เห็นผลงานชัดเจน มีคอร์รัปชั่นที่ไม่สามารถตรวจสอบเอาผิดได้ เช่น คดีลูกชาย พล.อ.ปรีชา ปม สนช.ขาดประชุมจนน่าจะขาดสมาชิกภาพ อีกทั้งการใช้มาตรา 44 โดยไม่มีการตรวจสอบ การต่ออายุ คสช.ผู้ได้ประโยชน์คือตัว คสช.และพวกพ้อง แต่ประชาชนเสียประโยชน์ การยืดโรดแมปทำให้เสียงบประมาณโดยไม่เห็นอะไรชัดเจน สิ่งที่ให้คำมั่นสัญญาก็ไม่เป็นจริง เราจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปทำไม” นายสิรวิชญ์กล่าว
พร้อมปรองดองแต่ไม่ใช่ในรัฐบาลนี้
ด้านนายกรกฎ แสงเย็นพันธ์ กล่าวว่า ท่าทีของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ต่อนโยบายปรองดองนั้น ประชาธิปไตยใหม่พร้อมที่จะปรองดองแต่รัฐบาลไม่เอื้อให้เกิดบรรยากาศการปรองดอง วิกฤตการเมืองตลอดสิบปีนี้กองทัพเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญมีประวัติการใช้กำลังกับประชาชนตลอดเวลา ประชาชนคาดหวังให้ทหารเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย แต่ทหารกลับเข้ามาปกครอง ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ประชาชนจำนวนมากต้องคดีทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าสี่ร้อยราย เกิดการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่เป็นธรรมกับคนบางกลุ่ม นำมาสู่ความคับข้องใจต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในกรณีของไผ่ ดาวดิน และการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนนั้นไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศปรองดอง อีกทั้งการใช้ ม.44 ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมหรือเหตุผลกับประชาชนได้ เกิดการคุกคามวิถีชีวิตของประชาชนและปิดช่องทางการมีส่วนร่วม
“ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ไม่มีทางปรองดองได้ ประชาธิปไตยใหม่ขอเสนอเงื่อนไขก่อนการปรองดอง คือ 1.คืนความยุติธรรมให้ผู้ต้องโทษคดีการเมืองทั้งหมดนับแต่ คสช.ยึดอำนาจ 2.กองทัพต้องอยู่ในฐานะที่ตรวจสอบได้เท่าเทียมกับภาคส่วนอื่นและทำหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตย 3.คสช.ต้องคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนโดยด่วนโ ดยการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ประชาธิปไตยใหม่พร้อมปรองดองแต่ไม่ใช่ภายใต้รัฐบาล คสช.” นายกรกฎกล่าว
ลั่นไม่เลือกตั้งส.ค.ปักหลักชุมนุมแน่
นอกจากนี้นายรังสิมันต์ โรม ยังกล่าวถึงกิจกรรมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในปีนี้ว่า จะมีกิจกรรมทวงสัญญาเดินหน้าเลือกตั้ง 2560 รณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ โดยเราจะจัดคอนเสิร์ตระดมทุนในเดือนมีนาคมและเดือนมิถุนายน จากนั้นเราจะจัดเวทีวิชาการ 5 ครั้ง จากเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อสร้างหมุดหมายทางความรู้ความเข้าใจ จากนั้นวันที่ 22 พฤษภาม ครบรอบสามปีรัฐประหารเราจะแสดงพลังให้เห็นว่าการรัฐประหารมีปัญหา จากนั้นหาก คสช.ไม่จัดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมเราจะชุมนุมต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ โดยระหว่างนี้เราจะทำคลิปรณรงค์และจัดทำหนังสือพิมพ์ “ก้าวข้าม” อย่างต่อเนื่อง