เศรษฐา แจงสภาของบเพิ่ม1.22 แสนล.กระตุ้นศก.ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ศิริกัญญา ซัดผิดพ.ร.บ.วินัยการเงิน

เศรษฐา แจงสภาของบเพิ่ม1.22 แสนล.กระตุ้นศก.ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ศิริกัญญา ซัดผิดพ.ร.บ.วินัยการเงิน ก่อนโหวตวาระแรกฉลุย 297ต่อ164 เสียง

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 17 กรกฎาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลุกขึ้นอภิปรายว่า วันนี้ที่เรากำลังพิจารณากันคืองบประมาณปี 2567 ที่รัฐบาลกำลังจะมาขอกู้เพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท และต้องไปหารายได้อื่นมาเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าน่าจะมาจากเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการชำระหนี้อีก 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงงบกลางใช้จ่ายฉุกเฉิน จะเห็นได้ว่าไม่มีงบจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว แต่ก็ดีแล้วเพราะเราท้วงติงมาตลอด และเงินจาก ธ.ก.ส.ก็ไม่เพียงพอ หากจะใช้ก็ต้องให้กระทรวงการคลังไปกู้ ซึ่งจะเห็นว่ายอดเงินลดลงเหลือเพียง 4.5 แสนล้านบาท ที่ต้องมีการกู้เพิ่มอีก 1.22 แสนล้าน เท่ากับงบประมาณปี 2567 มีการกู้ชดเชยขาดดุล 8.05 แสนล้านบาท ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์รองจากปี 2568 คิดเป็น 4.3% ซึ่งถือเป็นปัญหาในการเพิ่มหนี้สาธารณะ เพิ่มภาระในการชำระดอกเบี้ยและหนี้ตามมา

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ปัญหาคือสามารถทำได้จริงหรือไม่กับการโยกงบปี 2567 มาใช้ข้ามปีในปี 2568 ซึ่งไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ สำหรับเรื่องงบกลางปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้น ตามมาตรา 21 ก็บอกไว้ชัดเจนว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้นต้องใช้จ่ายระหว่างปีงบประมาณ งบกลางปีแต่จะไปใช้จ่ายข้ามปีคงทำไม่ได้ ถือว่าผิดมาตรา 21 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน แต่หากจะบอกว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็เหมือนงบประมาณประจำปี ใช้ข้ามปีได้ แต่ในมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ก็บอกว่าต้องก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปี แล้วเราจะก่อหนี้ผูกพันกันอย่างไร แต่เดาว่าเดี๋ยวคงออกมาสีข้างถลอกว่าแค่ลงทะเบียนก็เป็นการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะการก่อหนี้ผูกพันคือต้องมีสัญญาทั้งสองฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในช่วงบ่าย ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล สลับกันอภิปราย โดย ส.ส.พรรค ก.ก. พรรค ปชป. อภิปรายในทางเดียวกันว่าคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตขาดความชัดเจน ไม่มีแหล่งงบประมาณที่ชัดเจน นอกจากการกู้เงินมาแจก รวมถึงแสดงความเป็นห่วงการนำงบกลางมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะส่งผลกระทบกับงบประมาณการแก้ปัญหาในกรณีอื่นๆ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม ขณะที่ ส.ส.พรรค พท.อภิปรายสนับสนุนการของบเพิ่มเติมปี 2567 เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นความสามารถการลงทุน การแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโต นำคนเข้าสู่ระบบภาษี สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจรายย่อย เป็นรากฐานทิศทาง

ADVERTISMENT

ต่อมาเวลา 19.45 น. หลังสมาชิกอภิปรายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 เสร็จสิ้น โดยใช้เวลาพิจารณากว่า 10 ชั่วโมง ที่ประชุมลงมติรับหลักการ 297 เสียง ไม่รับหลักการ 164 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 32 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 2 วัน สำหรับระยะเวลาพิจารณาของ กมธ.วิสามัญ จำนวน 5 วัน และประชุม กมธ.นัดแรกในวันที่ 19 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. และนำมาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระ 2-3 ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้