09.00 INDEX อนิจจัง แห่ง ร่างรัฐธรรมนูญ อนิจจัง แห่ง ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’

เริ่มมีรูปธรรมแห่ง “การแปรเปลี่ยน” เกิดขึ้นภายใน “สถานะ”แห่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์
“เด่นชัด” และ “มาก” ยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่เท่ากับเป็นการยืนยันต่อความเป็นจริงแห่ง “สภาวธรรม” ของหลัก “อนิจจัง” อย่างเที่ยงแท้ แน่นอน
นับแต่มี “การเปิดตัว” เมื่อวันที่ 29 มกราคม “เป็น” อย่างไร

เอากันง่ายๆ ว่า ที่มีการพยายามประโคมโหมแห่ว่า นี่คือ รัฐธรรมนูญ”ปราบโกง”ประสบผลสำเร็จหรือไม่
หลายคนเริ่ม “ไม่แน่ใจ”

ทั้งๆ ที่มีการตอกย้ำยืนยันอย่างหนักแน่นและจริงจังมาจากหลายคนใน “คสช.” และหลายคนใน “รัฐบาล”
นายอุทัย พิมพ์ใจชน บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ใส่หมวก”

Advertisement

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ลิ้นหัวใจรั่ว”

เพียง 2 ตัวอย่างก็เห็นได้แล้วว่า ฉายาอันมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมิได้หมายความว่าผู้คนเขาจะเชื่อ
จะเห็นด้วย

กว่าจะถึงเดือนกรกฎาคม น่าจะตามมาอีกมากมาย หลายชื่อ

Advertisement

ความเป็นจริงนี้ไม่เพียงแต่ตอกย้ำยืนยันในลักษณะที่”ร่าง”รัฐธรรมนูญไม่สามารถอยู่เหนือไปจากกฎเกณฑ์แห่ง “อนิจจัง”

นั่นก็คือ ไม่เที่ยง ไม่แท้ ไม่แน่นอน

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ พลันที่ “ร่าง” รัฐธรรมนูญปรากฏตัวต่อ”สาธารณะ”หรือต่อ “สังคม”

มันก็มิได้ดำรงอยู่อย่าง “สถิต”

ตัว “ร่าง” รัฐธรรมนูญอาจเป็นบทบาท 1 ซึ่งประกอบส่วนขึ้นจากแม่น้ำ 5 สายที่เนรมิตสั่งการมาโดย “คสช.”
แต่ “คสช.” จะกุมอย่าง”เบ็ดเสร็จ”ได้ละหรือ

ขอให้ดูชะตากรรมที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะกำลังประสบอยู่ มีอะไรแตกต่างไปจากชะตากรรมที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณและคณะเคยประสบมาแล้วหรือ

ยิ่งกว่า “ฟุตบอล” เสียอีก

เมื่อเดือนกันยายน 2558 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้บรรลุ “สัจธรรม” ทางการเมืองเรียบร้อยไปแล้ว

เดือนกรกฎาคม 2559 เป็นคิวของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

ตราบกระทั่ง ณ วันนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็มิอาจตอบตัวเองได้ว่าจะมี “ชะตากรรม” อย่างไร

เหมือน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือไม่

ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะ “รู้”

ภายในความ”ไม่รู้”ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มี “สภาพการณ์”หนึ่งซึ่งสังคมรับรู้กันอย่างเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น
คือ สภาวะแห่ง “ความไม่แน่นอน”

จึงปรากฏการพยายาม “ต่อสาย” ระหว่างครม.กับกรธ. จึงปรากฏการพยายาม”ต่อสาย”ระหว่างกรธ.กับครม.
เหมือนกับจะ “มั่นใจ” แต่ก็ “ไม่มั่นใจ”

บทสรุป “ร่วม” ที่บังเกิดขึ้นโดย “อัตโนมัติ” เมื่อบทบาทของ “ครม.”ประสานเข้ากับบทบาทของ “กรธ.”
เป็นบทสรุปร่วมในเรื่องของ “อำนาจ”

ชาวบ้านเริ่มสัมผัสได้ใน “ความต้องการ” ชาวบ้านเริ่มสัมผัสได้ใน “ความปรารถนา”
ชาวบ้านเริ่มสัมผัสได้ใน “เจตจำนง”

แม้จะแว่วเสียงเพลง “ขอให้รออีกไม่นาน”

แต่การตอกย้ำอย่างหนักแน่นและจริงจังอันออกจากปาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นั้นจำหลักหนักแน่นอย่างยิ่ง

“เขาอยากอยู่นาน”

จะนานมากน้อยเพียงใด คำตอบมิได้อยู่ที่เดือนกรกฎาคม 2559

คำตอบมิได้อยู่ที่การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2560

และก็มิได้อยู่ใน “สายลม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image