บทนำมติชน : ช่วยแล้ง-ต้องสำเร็จ

นายดุสิต แสงสุคนธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตาก เปิดเผยว่า วิกฤตภัยแล้งในภาคเหนือตอนบนและตอนล่างในพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ อ.สามเงา บ้านตาก และเมือง ไปถึงลุ่มแม่ปิง จ.กำแพงเพชร นครสวรรค์ ไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ เขตปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ถือว่าหนักมาก ขณะที่นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพลบอกว่า น้ำในเขื่อนแม้จะเพียงพอประทังใช้ให้ผ่นพ้นหน้าแล้งปีนี้ไปได้ แต่แทบจะเหลือน้ำติดก้นเขื่อน หากจะสะสมน้ำให้เต็มเขื่อนอาจต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี ประกอบกับภาพข่าวที่ปรากฏ ชี้ให้เห็นสภาพแล้งที่แท้จริงออกมาแล้ว

รัฐบาลพยายามหาทางช่วยเหลือเต็มที่ ล่าสุดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงการคลังได้เสนอโครงการใหญ่ 3 โครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ประกอบด้วย 1.โครงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง และช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้ง 26 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง วงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเกษตรเข้มแข็ง และ 3.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง วงเงิน 6 พันล้านบาท เพื่อช่วยลูกค้า ธ.ก.ส.ให้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน

แนวความคิดของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยวิธีทุ่มงบประมาณลงไปให้รากหญ้าเป็นแนวทางที่บรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรได้ แนวคิดที่ให้เกษตรกรกู้เงินเพื่อหารายได้เพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก หรือการค้าขาย ก็เป็นแนวทางที่ยั่งยืน แต่ทั้งหมดนี้จะประสบผลสำเร็จคงต้องสร้างความเข้าใจ และเพิ่มแรงจูงใจแก่เกษตรกร โดยเฉพาะแรงจูงใจที่ว่า เมื่อมีการลงทุนและพัฒนาสินค้าการเกษตรไปแล้ว สินค้าเหล่านั้นจะมีตลาดรองรับ การลงทุนมีโอกาสเติบโตมากกว่าขาดทุนแล้วเป็นหนี้สะสม ขณะนี้รัฐบาลตั้งเป้าเรื่องประชารัฐ และดำเนินการในส่วนกลางจนประจักษ์ ยังเหลือเพียงอย่างเดียวที่ต้องทำ นั่นคือทำให้สำเร็จเพื่อเกษตรกรเชื่อมั่นในรัฐ และขจัดทุกขเวทนาของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image