วิพากษ์ “ไอเดียแม้ว” เปิดเจรจา-เกมต่อรอง?!

หมายเหตุ : ความเห็นของบุคคลๆ ฝ่ายต่างๆ ต่อกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ โดยเสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดการเจรจากับกลุ่มการเมืองทุกๆ กลุ่มในประเทศ เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และนายทักษิณก็พร้อมที่จะพูดคุยด้วย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

ช่วงนี้เขาคงยังไม่ค่อยสนใจ เป็นช่วงทำรัฐธรรมนูญ แม้แต่เรื่องปรองดองอะไรเขายังนิ่งไว้ก่อน รอรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยก่อน คงยังไม่มีการพูดคุยอะไรกันหรอกเท่าที่ทราบ

ถ้าหยุดเคลื่อนไหว นิ่งๆ เงียบๆ สักพักเดี๋ยวคงมีการพูดคุย การที่เสนอมาอย่างนี้โอกาสคงยาก แล้วยิ่งเสนอผ่านสื่อมาอย่างนี้โอกาสเป็นไปได้ยิ่งยากใหญ่เลย การพูดคุยต้องเงียบๆ ไม่ใช่ว่ากระโตกกระตากประกาศทั้งสังคม ประกาศทั้งโลกว่าจะพูดคุย ไม่ใช่

เป็นเกมการเมืองอยู่แล้ว ถ้าจะพูดคุยมีโอกาสหลายวาระมาตั้งนานแล้ว ลึกๆ แล้ว ตอนนี้รัฐบาลเขาต้องดำเนินกระบวนยุติธรรมไปเรื่อยๆ ใครถูกคดีทางกระบวนการยุติธรรมก็ต้องมารับโทษกันไป เป็นเรื่องปกติ ช่วงนี้ยังไม่ใช่เวลา ต้องรออีกสักระยะหนึ่ง ถ้าจะพูดคุยน่าจะคุยกันก่อนร่างรัฐธรรมนูญไม่ดีกว่าเหรอ แต่นี่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว เหมือนกับมีข้อผูกมัดกับการลงประชามติหรือเปล่า อย่าเพิ่งมาตอนนี้เลย รอให้รัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้วประกาศใช้ ถึงวาระการเลือกตั้งค่อยว่ากันอีกที ไม่งั้นไปๆ มาๆ เดี๋ยวจะไม่มีเลือกตั้งก็ยุ่งอีก

Advertisement

เมื่อมองดูแล้วป็นวาระทางการเมือง เขากำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าสู่กระบวนการลงประชามติ มาช่วงนี้ไม่เหมาะสม เดี๋ยวก็บอกว่าถ้าไม่ยอมพูดคุยผมก็ไม่ยอมให้ผ่านประชามติอะไรอย่างนี้ไป ปล่อยให้กระบวนการตรงนี้ผ่านไปก่อนดีกว่า รอมาได้ตั้งหลายปีแล้วก็รอไปอีกนิดหนึ่ง

การที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับซ่อนเงื่อน มีคนพูดเยอะอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะคุณทักษิณ ตอนนี้เดี๋ยวคุณทักษิณเสนออะไรแล้วเกิดเขาไม่เอาจะยุ่งไปอีก เขาเลยบอกว่าเดี๋ยวไม่แก้ตามคุณทักษิณพูดจะยุ่ง ยังไม่นิ่งอย่าเพิ่งเข้ามาพูดจาอะไรเลย รออีกสักนิดหนึ่ง

รัฐบาลเขาไม่สนใจอยู่แล้ว ช่วงนี้ยังมาคุยอะไรไม่ได้ ต้องให้รออีกสักระยะหนึ่ง

Advertisement

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช-โคทม อารียา-องอาจ คล้ามไพบูลย์

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

คิดว่าคุณทักษิณคงอยากแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่พูดกับเขา เรื่องคงไม่เรียบร้อย ส่วนตัวก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะไม่ปรากฏมาก่อนว่ารัฐบาล คสช. เคยพูดกับเขาตรงๆ เหมือนรัฐบาลพูดแต่เพียงว่าให้คุณทักษิณกลับมารับโทษเสียแล้วเรื่องก็จะจบ ไม่ต้องพูดอะไรมากความ แต่การออกมาพูดในครั้งนี้ของคุณทักษิณเองเป็นการแสดงตนให้เห็นว่าเขายังมีบทบาทอยู่ มองข้ามไม่ได้นะ แต่ส่วนตัวไม่ทราบหรอกว่าเขามีบทบาทจริงหรือไม่ และเท่าที่ผ่านมารัฐบาลนี้เองก็ไม่ให้ความสำคัญกับคุณทักษิณแล้ว มักจะพูดแค่ว่า ให้คุณทักษิณมารับโทษแล้วจบ อย่าพูดมาก แต่ทั้งนี้ คุณทักษิณคงออกมาแสดงว่าเรื่องนี้ต้องพูดกับเขานะ คงอยากแสดงให้เห็นว่าตัวเองยังกุมอำนาจอยู่ ถ้าฟังแล้วรู้สึกว่าคุณทักษิณนั้นลึกๆ เขายังพูดเหมือนเขาเป็นตัวแทนได้

จริงๆ ส่วนตัวยังเชื่ออยู่ว่าไม่มีใครมีอำนาจเต็มไปในทุกประเด็น มันมีหลายกลุ่มการเมือง และคงไม่มีใครมีสิทธิเด็ดขาด ไม่เห็นว่าจะเป็นการเจรจากันได้ ส่วนตัวคิดว่ารักษากฎหมายให้ตรง อย่าสองมาตรฐานจะดีกว่า

คิดว่ารายละเอียดที่คุณทักษิณอยากให้เจรจาคือ การรื้อฟื้นคดี หรือเรื่องนิรโทษกรรม เขาคงไม่ยอมจะเป็นคนที่ถูกตัดสินว่าผิด ถ้าย้อนกลับไป เขาก็เคยอยากให้รื้อฟื้นคดีใหม่เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นการไต่สวนทางเดียว เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

กรณีที่คุณทักษิณออกมาพูดเช่นนี้ ส่วนตัวมองไม่ออกว่าจะปรองดองกันได้ เชื่อว่าทางออกทางเดียวคือ รักษากฎหมายให้ได้ กฎหมายต้องเป็นธรรม เพื่อที่ประเทศจะได้เดินต่อไปได้ ถ้าอีกฝ่ายทำอะไรก็ผิด อีกฝ่ายทำอะไรก็ไม่ผิด เดินหน้าไม่ได้หรอก

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

การที่นายทักษิณ ชินวัตร ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างประเทศเรียกร้องให้ทุกกลุ่มเจรจาเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนประเทศนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ก็มีการให้ความเห็นทางการเมืองเป็นระยะอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นนัยยะพิเศษ ซึ่งนายทักษิณพูดถึงเหตุผลว่า มีความเป็นห่วงว่าความขัดแย้งไม่คลี่คลายสักที ถ้าเอาตามที่พูดคือ เป็นห่วงนัยยะอื่นๆ ผมไม่ทราบว่ามีอะไรหรือเปล่า

สำหรับการเจรจาร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นภาคีความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าภาคีความขัดแย้งมีความพร้อมและเห็นประโยชน์ของการเจรจา และสถานการณ์โดยรวมคือสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวยให้เกิดการเจรจาปรองดอง ทุกฝ่ายเห็นว่าควรเจรจาตกลง เพื่อหาทางออกก็เป็นวิธีที่ทำให้ความขัดแย้งที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานได้รับการคลี่คลาย

ถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสม เช่น สภาวะทางการเมืองพร้อม เพราะภาคีความขัดแย้งส่วนหนึ่งเป็นนักการเมือง ซึ่งตอนนี้ถูกบังคับห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ก็จะต้องตีความด้วยว่าการเจรจาเป็นกิจกรรมทางการเมืองก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง แต่ถ้ารัฐบาลเห็นพ้องต้องกันและร่วมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการการเจรจาก็เป็นเรื่องที่ดีและสามารถทำได้ แต่ก็คิดว่าคงเป็นไปได้ยากเพราะตอนนี้รัฐบาลก็ไม่ค่อยพร้อม

ส่วนนายทักษิณ ถ้านับเป็นหนึ่งในภาคีความขัดแย้งด้วย ก็อาจจะยังมาเจรจาเองไม่ได้ ถ้าจะมีการเจรจาจริงๆ น่าจะเป็นลักษณะตัวแทน ตัวนายทักษิณ เองคงไม่ประสงค์ที่จะกลับเข้ามาเจรจาในประเทศ

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

เวลานี้สังเกตจากท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คงจะยังไม่พร้อม แต่ผมอาจจะเดาผิดก็ได้ มีคนเสนอให้สร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วม ส่วนพรรคการเมือง ประชาธิปัตย์ก็ขอเปิดประชุมพรรคอะไรต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม ผมก็เดาว่า เขาคงยังรู้สึกว่าไม่พร้อม แต่ผมตอบแทน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้

ส่วนคุณทักษิณจะหมายถึงต้องการเจรจาด้วยตัวเองหรือเจรจากับทางพรรค ก็ตอบยาก ต้องถามคุณทักษิณว่าหมายถึงอะไร แต่คิดว่าสิ่งที่จะเป็นเรื่องดีคือ ไม่ควรยึดติดกับตัวคุณทักษิณโดยเฉพาะ ควรเจรจาในนามของพรรค ทั้งพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ ก็เจรจากันเสีย นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น แต่คุณทักษิณจะหมายความอย่างนี้หรือเปล่า

ผมไม่ไปกล่าวโทษใคร เขาเสนออะไรก็ว่าตามข้อเสนอ ไม่บอกว่า เขามีเจตนาซ่อนเร้นอะไร ผมไม่คิดอย่างนั้น ถ้าคิดเช่นนี้จะลำบาก

รัฐธรรมนูญร่างแรกเพิ่งออกมา ยังไม่มีนัยยะที่จะสิ้นสุด ทำไมคุณทักษิณถึงออกมาพูดตอนนี้ ผมเดาว่านี่เป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน ใกล้จะครบ 2 ปี เป็นเวลานานพอควร บรรยากาศของการมีรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะให้พรรคการเมืองเขาได้เปิดเวทีพูดคุยกันเองในหมู่คนที่สนใจการเมือง แล้วก็เปิดเวทีพูดคุยกันข้ามพรรคได้ นี่เป็นการสร้างบรรยากาศที่จะนำไปสู่รัฐธรรมนูญ ให้ที่ได้รับความเห็นพ้อง

ผมตีความว่าไม่ใช่การเปิดวงเจรจาให้คุณทักษิณ แต่เป็นการเปิดบรรยากาศให้กลุ่มการเมืองคุยกัน ถ้าบอกว่าเจรจากับคุณทักษิณยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยในตอนนี้ เพราะเขาคงบอกว่า คุณทักษิณไม่ใช่คู่เจรจา

ผมเดาใจ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ แต่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่ายังไม่ได้เวลา แต่จริงๆ แล้วควรจะได้เวลาสักที อย่างน้อยน่าจะทำให้ผ่อนคลายบรรยากาศเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ น่าจะทำให้มีการถ้อยทีถ้อยรับฟังกันมากขึ้น

องอาจ คล้ามไพบูลย์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

มองว่าเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญตามมุมมองของตนเอง ผมคงไม่ขอไปก้าวล่วงกับความเห็นดังกล่าว เพราะแต่ละคนมีสิทธิที่จะนำเสนอ มีสิทธิที่จะท้วงติง สนับสนุน รวมไปถึงการพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

การออกมาเคลื่อนไหวของนายทักษิณในช่วงเวลานี้ คงเป็นการแสดงความคิดความเห็นตามปกติ แต่ด้วยเงื่อนไขของช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองหลายด้านมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายทักษิณ รวมไปถึงความพยายามของนายทักษิณที่จะใช้โอกาสนี้เพื่อเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างกระแสกดดันการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ผมไม่ทราบว่าการออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งนี้จะเป็นการต่อรองอะไรหรือไม่ เพราะนายทักษิณออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยพบปะหรือพูดคุยกับผู้อำนาจในปัจจุบัน และผมก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่การที่นายทักษิณระบุว่าพร้อมที่จะพูดคุยกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันนั้น ผมคิดว่าก่อนที่จะมาพูดคุย นายทักษิณควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองให้เรียบร้อยเสียก่อน ทั้งคดีความที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว รวมทั้งอีกหลายคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมด้วย หากนายทักษิณได้เข้าสู่กระบวนการปกติของบ้านเมือง แล้วหลังจากนั้น จะไปพูดคุยหรือจะไปปรึกษาหารือกับใคร เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ก็จะมีความชอบธรรม เพราะประเทศมีขื่อมีแป ควรเข้ากระบวนการทางกฎหมายปกติให้เรียบร้อยเสียก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image