เปิดเงื่อนไข-ขั้นตอน-วิธีลงทะเบียน
รับ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท’
⦁คุณสมบัติ การเข้าร่วมโครงการ และขั้นตอนการลงทะเบียน
1.คุณสมบัติประชาชน ดังนี้
1.1 ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
1.2 สัญชาติไทย
1.3 มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน วันที่ 15 กันยายน 2567
1.4 ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
1.5 ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท
โดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ (1) เงินฝากกระแสรายวัน (2) เงินฝากออมทรัพย์ (3) เงินฝากประจำ (4) บัตรเงินฝาก (5) ใบรับเงินฝาก และ (6) ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1)-(5)
ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าว ให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
1.6 ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
1.7 ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/ โครงการอื่นๆ ของรัฐ
1.8 ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ
2.กำหนดการเข้าร่วมโครงการ
2.1 การลงทะเบียนประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” บนสมาร์ทโฟน โดยไม่จำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิในโครงการ
ดังนั้น ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และมีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลประมาณการไว้ 45-50 ล้านคน
2.2 การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการได้ในระยะต่อไป โดยจะให้ลงทะเบียน และยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ระหว่างวันที่ 16 กันยายน-15 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
ส่วนของการใช้จ่าย อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้า จะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน
ดังนั้น การลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนจะใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ทโฟนก่อนเป็นอันดับแรก
2.3 การลงทะเบียนร้านค้า เบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งจะแถลงข่าวเพิ่มเติมเพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทาง และวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ และเงื่อนไขอื่นๆ ให้ทราบต่อไป
2.4 การใช้จ่ายในโครงการ มีรายละเอียด ดังนี้
1) เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
2) เงื่อนไขการใช้จ่าย
2.1) การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชน จะใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึง ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ซึ่งคำว่าซื้อขายแบบพบหน้านี้ จะตรวจสอบ
(1) ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการ (2) ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการ และ (3) พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
2.2) การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภท สามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ แม้จะอยู่ต่างพื้นที่
3) ประเภทสินค้า : สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้า Negative List เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ การใช้จ่ายภายใต้โครงการ จะไม่รวมถึงบริการต่างๆ
3.ขั้นตอนการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
3.1 รูปแบบที่ 1 การยืนยันตัวตน และลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567
3.2 รูปแบบที่ 2 การยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” มาก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2567 แล้ว จึงค่อยมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ผ่านแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 ซึ่งจะทำให้คงเหลือขั้นตอนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ที่ง่าย และรวดเร็วกว่า
ดังนั้น ขอเชิญชวนให้ประชาชนเตรียมการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” และยืนยันตัวตนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอพพลิเคชั่น “App Store” สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอพพลิเคชั่น “Google Play” สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน
⦁ขั้นตอน และวิธีดำเนินการโหลดแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงการยืนยันตัวตนใช้งานแอพพลิเคชั่น เพื่อรอลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต ดังนี้
1.ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
– iOS
– แอนดรอยด์
2.สมัครเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ทำได้ 2 ช่องทาง ดังนี้
1.สมัครเข้าใช้งาน และยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น โดยใช้บัตรประชาชน และการสแกนใบหน้า เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อย เข้าใช้บริการภาครัฐได้ทันที
2.สมัครเข้าใช้งาน และเลือกยืนยันตัวตนได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิสร้าน 7-eleven ทั่วประเทศไทย, เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทย, ตู้บุญเติม, ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ และแอพพลิเคชั่น ThaID
⦁การเลือกยืนยันตัวตน ทำได้ถึง 5 ช่องทาง ดังนี้
1.ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ หรือตู้คีออสก์ ที่ให้บริการทั้งด้านข้อมูล และการลงทะเบียนต่างๆ ซึ่งตู้นี้ใช้ยืนยันตัวตนกับแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ได้ ประชาชนต้องเตรียมบัตรประชาชน และโทรศัพท์มือถือ เพื่อดำเนินการยืนยันตัวตน เมื่อยืนยันตัวตนตามขั้นตอนที่แจ้งผ่านตู้แล้ว จะได้รับ QR Code เพื่อสแกนใช้งานแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ถือว่าการยืนยันเสร็จเรียบร้อย
สำหรับวิธีการยืนยันตัวตนผ่านตู้บริการอเนกประสงค์ของภาครัฐ ทำได้โดยเตรียมบัตรประชาชนให้พร้อม เสียบบัตรเข้าไปที่ตู้บริการ เลือกเมนูเปิดใช้งาน “ทางรัฐ” แล้วทำตามวิธีบนหน้าจอ เท่านั้นก็ยืนยันตัวตนได้เรียบร้อย
2.แอพพลิเคชั่น D.DOPA แอพพลิเคชั่นจากกรมการปกครอง ที่พัฒนาขึ้นเพื่อพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ในชื่อว่า D.DOPA เป็นอีกช่องทางที่สามารถยืนยันตัวตนได้ง่ายๆ นอกจากจะใช้ยืนยันตัวตนกับแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” แล้ว แอพพลิเคชั่นนี้ยังสามารถจองคิวใช้บริการกับทางภาครัฐ เช่น สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นทั่วประเทศได้อีกด้วย
สำหรับการยืนยันตัวตนแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ด้วย D.DOPA หากเคยลงทะเบียนใช้บริการกับทางแอพพลิเคชั่น D.DOPA ก็สามารถลงทะเบียน “ทางรัฐ” ด้วยการกดที่ปุ่ม เข้าสู่ระบบด้วย D.DOPA ได้เลย
3.ตู้บุญเติม ตู้สีส้มที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้สังเกตตู้บุญเติมที่มีกล้องเล็กๆ ติดอยู่ที่ด้านบนของตู้ จะมีให้บริการยืนยันตัวตน e-KYC ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ
วิธีการยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติม เพียงแค่เตรียมบัตรประชาชน และโทรศัพท์มือถือให้พร้อม จากนั้นเลือกเมนู “ทางรัฐ” บนหน้าจอ ตู้จะแนะนำให้เสียบบัตรประชาชน เพื่อยืนยันตัวตน และระบบจะส่ง SMS เพื่อดำเนินการต่อ “ทางรัฐ” ได้ทันที
สำหรับตู้บุญเติมได้เปิดให้บริการทั่วประเทศ ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตู้บุญเติมใกล้บ้านได้ทาง Call Center 1220 หรือตรวจสอบตู้บุญเติมที่สามารถยืนยันตัวตนใกล้บ้านได้ที่เมนู “สมัครที่ตู้บุญเติม” บนแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
4.ไปรษณีย์ไทยทุกสาขา เพียงแค่เตรียมบัตรประชาชน และโทรศัพท์มือถือ และแจ้งเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ ได้เลยว่าต้องการยืนยันตัวตนแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” หลังจากนั้นจะได้รับ SMS ที่ส่งลิงก์เพื่อให้ดำเนินการต่อทางแอพพลิเคชั่น เท่านี้ก็ดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยทันที
5.เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-Eleven ช่องทางใหม่ที่เพิ่งเปิดให้ยืนยันตัวตนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 ที่มีกว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ สามารถยืนยันตัวตนแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ได้ เพียงกดที่เมนูยืนยันตัวตนที่ 7-Eleven ระบบจะให้ระบุเลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อสร้างเป็น QR Code จากนั้นแจ้งกับพนักงานที่สาขาว่าต้องการยืนยันตัวตน “ทางรัฐ” พนักงานจะสแกน QR Code ซึ่งระบบจะส่ง SMS เพื่อให้เรายืนยันตัวตนผ่านทางแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
⦁สำหรับผู้ที่เคยลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านทางรัฐแล้ว
1.เปิดแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
2.กดปุ่ม ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการ ที่หน้าแรกของแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
3.กดอนุญาตให้แอพพลิเคชั่นเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
4.อ่านรายละเอียดเงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิ และดำเนินการต่อ
5.อ่าน และยอมรับเงื่อนไขโครงการ และดำเนินการต่อ
6.เสร็จแล้ว รอฟังผลอนุมัติวันที่ 22 กันยายน 2567
⦁สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียน และยืนยันตัวตนผ่านทางรัฐแล้ว
1.เปิดแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
2.กดปุ่ม ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการ ที่หน้าแรกของแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
3.อ่านรายละเอียดเงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิ และดำเนินการต่อ
4.อ่าน และยอมรับเงื่อนไขโครงการ และดำเนินการต่อ
5.อ่าน และยอมรับเงื่อนไขของแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
6.กรอกเลขบัตรประชาชน และเลขหลังบัตรประชาชน เพื่อดำเนินการต่อ
7.กรอกข้อมูลส่วนบุคคลตามบัตรประชาชน เพื่อดำเนินการต่อ
8.เตรียมพร้อมสำหรับการยืนยันอัตลักษณ์ (e-KYC)
9.ดำเนินการตามคำแนะนำของระบบในการยืนยันอัตลักษณ์ (KYC)
10.เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นระบบจะนำเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป
11.ระบบรับข้อมูลการลงทะเบียน
12.ระบบตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล (ในขั้นตอนนี้ผู้ใช้งานสามารถ ปิดแอพพลิเคชั่น และกลับเข้ามาตรวจผลได้ภายหลัง)
13.เมื่อระบบตรวจสอบข้อมูลเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ระบบจะแจ้งให้ผู้ใช้งานสร้างบัญชีผู้ให้
14.ผู้ใช้งานทำการกำหนดบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านของแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” และกดปุ่มยืนยัน
15.ทำการตั้งค่า Pin Code สำหรับเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
16.เสร็จแล้ว รอฟังผลอนุมัติวันที่ 22 กันยายน 2567
ติดตามข้อมูลการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ได้ที่ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่าwww.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาลไทย หรือสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน Call Center สายด่วน โทร 1111 ซึ่งพร้อมให้บริการ และคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป