ชัยธวัช เผย กมธ.นิรโทษเสียงแตก ปม ม.112 หวังสภาเปิดใจ รับฟังอย่างมีวุฒิภาวะ

‘ชัยธวัช’ เผย กมธ.นิรโทษกรรมเสียงแตกปม ม.112 บางส่วนเสนอต้องมีเงื่อนไข หวังสภารับฟังอย่างมีวุฒิภาวะ ไร้ความขัดแย้ง

เมื่อเวลา 15.55 น. วันที่ 25 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมว่า เนื่องจากวันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมาธิการ และในวันพรุ่งนี้จะมีการสรุปรายงานอย่างเป็นทางการเพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณารายงานของสภาอย่างเร็วที่สุด มีสาระสำคัญที่อยากจะสื่อสาร ดังนี้

นายชัยธวัชกล่าวว่า ประเด็นแรกคือคณะกรรมาธิการเห็นว่าในการนิรโทษกรรมครั้งนี้คงไม่สามารถออกเป็นกฎหมายในลักษณะที่คล้ายกับหลายฉบับก่อนหน้านี้ที่มีการกำหนดความผิดใดความผิดหนึ่งโดยเฉพาะ หรือนิรโทษกรรมคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายฐานความผิด หลากหลายเหตุการณ์

Advertisement

ดังนั้น วิธีการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่สุดคือ คณะกรรมาธิการจะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาว่าคดีใดบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม

คณะกรรมาธิการได้ให้นิยามว่า คดีที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองนั้น คงหมายถึงการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยช่วงระยะเวลาที่คณะกรรมาธิการเห็นตรงกันว่าคดีที่ควรจะมีการพิจารณาให้นิรโทษกรรมคือคดีความที่เกิดจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน

Advertisement

สำหรับประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันในคณะกรรมาธิการ ให้นิรโทษกรรมส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่นั้น ส่วนนี้กรรมาธิการสัดส่วนพรรคก้าวไกล ทั้ง ส.ส.และบุคคลภายนอก เราเห็นด้วยกับการพิจารณาให้นิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย อย่างไรก็ตาม ในสังคมเองยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้พอสมควร รวมถึงในคณะกรรมาธิการเองด้วย

ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงรวบรวมความคิดทุกแบบเข้ามาอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการ เพื่อเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอย่างรอบด้าน ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.มีข้อเสนอที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112

2.เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เหมือนกับความผิดอื่นๆ

3.เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมมาตรา 112 แต่เป็นไปในรูปแบบที่มีเงื่อนไข

เนื่องจากกรรมาธิการหลายท่านเห็นว่าเรายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ในเรื่องนี้ และแม้ว่าหลายท่านจะเห็นด้วย และอยากจะเห็นการลดความขัดแย้ง อยากเห็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดอง แต่ยังมีความกังวลหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะกังวลว่าหากมีการนิรโทษกรรมคดี 112 ไปแล้วจะเกิดปัญหาการแสดงออกเหมือนที่เคยเกิดขึ้น และนำไปสู่การดำเนินคดีอีกหรือไม่ ซึ่งก็เคยมีข้อเสนอว่าถ้าอย่างนั้นควรมีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขขึ้นมา แตกต่างจากฐานความผิดอื่น

นายชัยธวัชยังกล่าวถึงเงื่อนไขของการนิรโทษกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 คือจะเสนอให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้มีการนิรโทษกรรม แม้ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ที่ศาลพิพากษาแล้ว ต้องการนิรโทษกรรมในคดี 112 ด้วย ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการในการพิจารณา

องค์ประกอบที่ 2 คือมีข้อเสนอว่า นอกจากมีเงื่อนไขแล้ว ก่อนจะมีการพิจารณาก็ควรจะมีมาตรการในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ แม้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือผู้กระทำผิดตามคำพิพากษาในคดี 112 ซึ่งหลายคนก็อาจต่อสู้ว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด

ส่วนในรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมนั้น นายชัยธวัชยกตัวอย่างว่า อาจให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาแถลงข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นต้นเหตุ สาเหตุ แรงจูงใจให้กระทำการเช่นนั้นตามที่ถูกกล่าวหา รวมทั้งให้เกิดการสานเสวนา เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการพูดคุยระหว่างผู้กระทำผิดและผู้ที่ถูกกล่าวหา กับคู่ขัดแย้ง หรือคู่กรณี รวมถึงเจ้าหน้าที่และฝ่ายความมั่นคง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง หรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน

นายชัยธวัชชี้ว่า กระบวนการนี้จะนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขและมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำได้ในภายหลัง เมื่อได้รับการพิจารณานิรโทษกรรม พร้อมย้ำถึงความสำคัญในกระบวนการนี้ว่า คณะกรรมาธิการเห็นว่า หากมีเงื่อนไขแบบนี้และกระบวนการแบบนี้แล้วการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการในการป้องกันกระทำผิดซ้ำในแต่ละคดีจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ เนื่องจากหลายพฤติการณ์อาจถูกมองว่ามีความรุนแรงไม่เท่ากัน บางคดีอาจมีความชัดเจนว่ามีการตั้งข้อกล่าวหารุนแรงเกินจริง หรือถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ ดังนั้น เงื่อนไขของการเข้าสู่กระบวนการก็จะไม่เหมือนกัน

นายชัยธวัชกล่าวถึงข้อดีของการสานเสวนา เนื่องจากเห็นว่าอาจมีข้อดีที่ทำให้เกิดการยอมรับ ลดช่องว่าง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันของกลุ่มที่เห็นแตกต่างกัน และเป็นโอกาสสำคัญที่ภาครัฐ ฝ่ายความมั่นคง รัฐบาล แม้กระทั่ง ส.ส.ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือผู้กระทำผิด ซึ่งจะนำไปสู่การหากุศโลบาย หรือนโยบายทางการเมือง ที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเหมือนในอดีตอีก และอาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สร้างความยอมรับของคนที่มีความกังวลว่าไม่ควรจะนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย

ส่วนเงื่อนไขก่อนการเข้าสู่กระบวนการนั้น คณะกรรมการก็เห็นว่าอาจต้องมีการยอมรับข้อตกลง หรือทำข้อตกลง ที่จะห้าม หรืองดการกระทำบางอย่างในระยะเวลาที่กำหนดแล้วแต่กรณี ประเด็นสำคัญคือระหว่างที่คดีนั้นๆ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ ก็ยังมีข้อเสนอว่าควรจะมีมาตรการในการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น เช่น อาจมีการชะลอการฟ้อง การให้สิทธิในการประกันตัวออกมาก่อน หรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากคดีที่จะได้ต้องเข้าสู่กระบวนการแบบมีเงื่อนไขเช่นนี้ อาจจะใช้ระยะเวลามากกว่าคดีอื่นๆ

ส่วนมาตรการการกระทำผิดซ้ำก็อาจมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น หากมีการละเมิดเงื่อนไข ก็อาจจะเสียสิทธิในการนิรโทษกรรม หรืออาจต้องมีมาตรการให้มารายงานตัวเป็นระยะๆ หรือกระบวนการสร้างความปรองดองร่วมกันหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอบางส่วนของกรรมาธิการบางท่านว่า อาจจะยังไม่นิรโทษกรรมในทันทีในส่วนคดี 112 แต่ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาการได้รับการนิรโทษกรรมก่อน มีการสานเสวนาแถลงก่อน จนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะมีการนิรโทษกรรมคดีนั้นหรือไม่ แต่ระหว่างนั้นก็จะใช้มาตรการอื่นๆ จนกว่าคณะกรรมการนิรโทษกรรมจะเห็นข้อยุติว่าจะนิรโทษกรรมคดีนั้นหรือไม่

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการเห็นตรงกันว่าคดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะความผิดต่อชีวิต ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม และคณะกรรมาธิการยังมีข้อสังเกตที่สำคัญ เช่น เราเห็นว่าเมื่อรายงานได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีควรรีบพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลเองโดยเร็ว และระหว่างที่ยังรอการตรากฎหมาย ก็ควรจะมีการอำนวยความยุติธรรมไปก่อน โดยใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ของ รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารก็ต้องมีบทบาทสำคัญที่จะต้องมีนโยบายออกมาชัดเจน และประสานกับองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม

สุดท้าย เมื่อคณะกรรมาธิการทำรายงานเสร็จ และผ่านเข้าสู่สภา เราจะส่งให้ฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมด้วย และจะขอให้ส่งรายงานกลับมาที่สภาภายใน 60 วันว่ามีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วหรือไม่ หรือได้ดำเนินการตามข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งหรือไม่

ส่วนข้อกังวลที่พรรคอื่นๆ ยังไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 พรรคก้าวไกลจะจัดทัพในการอภิปรายอย่างไร นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่ได้จัดทัพขนาดนั้น พรรคเรามีความเห็นแบบหนึ่ง แต่เราก็รับฟัง และพยายามจะเข้าใจความเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และมีข้อกังวลในประเด็นนี้ ในการทำงานเมื่อคณะกรรมาธิการมีความเห็นหลากหลาย เราก็รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน และพยายามหาข้อเสนอ หรือมาตรการที่ตอบโจทย์ที่พอจะยอมรับกันให้ได้มากที่สุด

นายชัยธวัชกล่าวว่า ในรายงานที่จะเข้าสู่สภาจะมีความเห็นของทุกฝ่าย ทุกด้าน ทั้งข้อดีและข้อเสียจากการวิเคราะห์ของกรรมาธิการเพื่อให้สภาได้พิจารณาอย่างรอบด้าน หวังว่าบรรยากาศเมื่อเข้าสู่สภาแล้วจะไม่ใช่บรรยากาศของความขัดแย้ง แต่จะเป็นบรรยากาศที่รับฟัง พยายามพิจารณาทุกทางเลือกอย่างดีที่สุดและมีวุฒิภาวะ เพราะหากในสภาบรรยากาศยังไม่ปรองดอง เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน คิดว่าการออกกฎหมายโดยมีเป้าหมายลดความขัดแย้งก็คงจะไม่บรรลุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image