คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : Cela n’est pas Marie Antoinette (โน่นหาใช่พระนางมารี อังตัวเนตต์)

พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 เป็นพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่ไม่ได้จัดขึ้นในสนามกีฬา หรือไม่อีกทีก็อาจจะมาจากแนวคิดที่ถือว่าทั้งหมดแห่งมหานครนั้นเองที่เป็นสนามกีฬาเห็นได้จากความพยายามที่จัดการแข่งขันไตรกีฬาและว่ายน้ำบางรายการกันในแม่น้ำแซนจนถึงกับลงทุนบำบัดน้ำกันวุ่นวาย ใช้งบประมาณจนชาวเมืองปารีสก่นด่า ทั้งไม่ได้เกรงกลัวว่าจะมีฉลามออกมางาบนักกีฬาไปแต่อย่างใด

หากการที่ใช้เมืองปารีสเป็นเวทีที่เปรียบเสมือนเวทีละครในพิธีเปิดกีฬาแห่งมนุษยชาตินั้นก็เหมาะเจาะในฐานะที่ปารีสเป็นมหานครที่มีความเป็นมาและจิตวิญญาณบางอย่างอันเฉพาะตัวอย่างยิ่ง 

ดังที่คุณคนมองหนังระลึกถึงท่อนเปิดในนวนิยายเรื่องความรักของวัลยาของ เสนีย์ 

เสาวพงศ์ โดยเฉพาะในท่อนที่ว่า “…ข้าพเจ้ารักปารีส เพราะปารีสเป็นเมืองชีวิต ปารีสเป็นเมืองเก่าแก่ ที่ได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ อันมีค่าสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาแล้วมากมาย เห็นเลือด น้ำตา ความทารุณ การต่อสู้ ความเสียสละ ความทรยศ การปฏิวัติ…” ถ้าใครติดตามคอลัมน์นี้มานานพอ อาจจะจำได้ว่าผมผู้เขียนเองก็มักจะหยิบยกถ้อยความท่อนอมตะนี้มาใช้กล่าวถึงปารีสอยู่บ่อยครั้งหากต้องกล่าวถึงมหานครแห่งนี้

Advertisement

ที่คนไทยกล่าวถึงและเป็นประเด็นกันมากที่สุด คงไม่พ้นการแสดงในชุด Libert? ที่นักแสดงเล่นเพลงเธอได้ยินผู้คนร้องไหม?” (Do You Hear The People Sing?) จากภาพยนตร์เรื่องเหยื่ออธรรม” (Les Miserables) ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเรื่องเดียวกันของ วิกเตอร์ อูโกต์ และการแสดงของวงเดธเมทัล Gojira ในเพลง Ca Ira ที่แปลว่าแล้วมันจะเกิดขึ้นร่วมกับนักร้องประสานเสียงที่แต่งกายเป็นสตรีสูงศักดิ์ถือศีรษะตัวเองไว้ในอ้อมแขน ที่เห็นปราดเดียวก็รู้ว่าสื่อถึงพระนางมารี อังตัวเนตต์

สำหรับคนไทย การแสดงในส่วนนี้นับว่าแรงจนแทบกลายเป็นส่วนเดียวที่จำได้และพูดถึงเกี่ยวกับพิธีเปิดในครั้งนี้ไปเลย แต่เมื่อละความเห็นที่กล่าวชื่นชมและสาปแช่งเกี่ยวกับนัยยะทางการเมืองและ

Advertisement

การปฏิวัติในแง่อื่นๆ ไว้ก็ยังมีข้อวิพากษ์ที่น่าสนใจรับฟัง โดยเฉพาะความเห็นจากผู้ที่ศึกษาและเข้าใจประวัติศาสตร์แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส กับมิติทางวัฒนธรรมและวรรณกรรมของฝรั่งเศส ก็ยังคงมีข้อโต้แย้งในการเลือกเอา พระนางมารี อังตัวเนตต์ มาเป็นสัญลักษณ์ในโชว์ว่าด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศสนี้

นั่นเพราะพระนางนั้นเอาเข้าจริงถือว่าเป็นเหยื่ออธรรมของฝ่ายปฏิวัติก็ว่าได้ ด้วยกระบวนการสอบสวนและตัดสินอันไม่มีความเป็นธรรม ข้อกล่าวหาที่เกินจริงและบางข้อจัดว่าทุเรศ รวมถึงการนำคำพูดจากนิยายไปยัดปากจนผู้คนจดจำว่าพระนางเป็นผู้กล่าวว่าไม่มีขนมปังก็ไม่กินเค้ก (จริงๆ คือขนมปังแบบนุ่ม) สิจ๊ะนั่นก็ด้วย 

ถ้าผู้จัดการแสดงต้องการจะสื่อถึงการปฏิวัติที่สร้างชาติฝรั่งเศสขึ้นมาโดยแท้ ทำไมผู้ที่ยืนถือหัว (หรือพระเศียร) จึงไม่เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ในตอนนั้นถูกยอดยศเป็นนายหลุยส์ กาเป เสียเล่า?

นอกจากนี้ก็มีคำท้วงติงที่น่าสนใจว่า ในเมื่อการแสดงชุดนี้อ้างอิงวรรณกรรมเหยื่ออธรรมแล้ว แต่วิกเตอร์ อูโกต์ ผู้เขียนวรรณกรรมดังกล่าวก็เป็นผู้ที่ต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตมาตั้งแต่สมัยนั้น จนเขียนนิยายขนาดสั้นเรื่องวันสุดท้ายของนักโทษประหาร” (Le dernier jour d’un condamne มีแปลฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์มติชน) มาเพื่ออุทิศให้เห็นถึงความโหดร้ายของการลงโทษประหารชีวิต แล้วไยจึงเอาบุคคลผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินมาร่วมประกอบเป็นส่วนหนึ่งในโชว์นี้ด้วย ถ้าจะเป็นตลกร้ายหรือเรื่องเสียดเย้ยก็ออกจะไม่เข้าท่าเสียเลย

นับว่าเป็นข้อวิพากษ์ที่น่าคิดวิเคราะห์อย่างยิ่ง และอันที่จริงก็เห็นด้วยทั้งหมดหากพิจารณาด้วยเหตุผลตามที่ว่ามานี้ไม่มีผิดเลย หากมองพระนางมารี อังตัวเนตต์ ในมิติของบุคคลในประวัติศาสตร์ ผู้เป็นเจ้าหญิงชาวออสเตรียที่อภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศสผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์ในฐานะของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และถูกประหารชีวิตโดยเครื่องกิโยตินในวันที่ 16 ตุลาคม 1793 ด้วยข้อหาเป็นทรราชทรยศต่อชาติ 

มิติของบุคคลในประวัติศาสตร์ของพระนางหลังจากนั้นถูกศึกษาผ่านหลักฐานและเอกสารต่างๆ ตามข้อถกเถียง แต่นอกจากนั้นเรื่องราวของพระนางก็ค่อยๆ กลายเป็นตัวตนทางวัฒนธรรมไปพร้อมกันในฐานะของเจ้าหญิง หรือราชินีผู้ถูกประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ และตัวตนทางวัฒนธรรมนั้นได้ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในงานทางวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายรูปแบบ 

คนรุ่นเก่าหน่อยอาจจะรู้จักการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง กุหลาบแห่งแวร์ซายส์” (Lady Oscar / La Rose de Versailles) ที่เล่าเรื่องราวของ ออสการ์ ฟรังซัวส์ เดอ จาร์เจ องครักษ์สาวของ พระนางมารี อังตัว

เนตต์ ที่คอยอารักขา ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาให้พระนาง แต่ในที่สุดก็หนีไม่พ้นโศกนาฏกรรมตามประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนยังยึดตามโครงเรื่องจริง

การต่อยอดที่น่าสนใจคืองานวรรณกรรมร่วมสมัยอย่างไลต์โนเวล ที่ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นการ์ตูนมังงะและแอนิเมชั่นเรื่องบันทึกเรื่องราวจักรวรรดิเทียร์มูนจุดพลิกผันชะตากรรมของเจ้าหญิงเริ่มจากบนกิโยติน” (Tearmoon Empire มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยในรูปแบบนิยายไลต์โนเวลและการ์ตูนแอนิเมชั่นปี 2023) เรื่องราวขององค์หญิงเมียร์แห่งจักรวรรดิเทียร์มูน ซึ่งเป็นคนที่มีนิสัยเอาแต่ใจอยู่ตลอดเวลาจนเป็นที่เกลียดชังของผู้ที่อยู่รอบข้าง จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติและจักรวรรดิเทียร์มูนถึงคราวล่มสลาย องค์หญิงเมียร์จึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยกิโยติน แต่ก็ตามรูปแบบของนิยายและการ์ตูนญี่ปุ่นในยุคหลัง ทำให้เธอเกิดใหม่หรือย้อนเวลาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง องค์หญิงพบว่าตัวเองได้กลับมาเริ่มต้นใหม่ในช่วงที่มีอายุ 12 ปี กับไดอารี่ของเธอที่บันทึกเรื่องราวในชาติก่อนที่บันทึกไว้ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อนถูกประหารชีวิต เพื่อแก้ไขชะตากรรมให้การเกิดใหม่ครั้งนี้จะไม่ต้องไปลงเอยที่กิโยตินอีกครั้ง เฉพาะเรื่องย่อนี้ก็เห็นได้ว่าได้รับอิทธิพลไปจากเรื่องราวของพระนางมารี อังตัวเนตต์ อย่างชัดเจน 

เรื่องราวของพระนางมารี อังตัวเนตต์ พัฒนาไปในวัฒนธรรมใหม่ในโลกมังงะญี่ปุ่นระดับหลุดโลกอีกครั้งกับเรื่อง “Power Antoinette” (ยังไม่มีผู้ถือลิขสิทธิ์ในประเทศไทย) ที่พลิกผันเรื่องราวไปเป็นว่า ก่อนการถูกประหาร พระนางมารี อังตัวเนตต์ ซุ่มซ้อมฟิตเพาะกายจนกล้ามเนื้อกำยำระดับที่สามารถเอาชนะคมมีดกิโยตินได้ แล้วยังทำลายอุปกรณ์ประหาร สู้กลับเพื่อทวงแค้นและช่วยเหลือลูกน้อยของพระนาง สถาปนาสาธารณรัฐกล้ามขึ้นมาแทนสาธารณรัฐฝรั่งเศสใหม่ของพวกปฏิวัติให้จงได้!

ตัวอย่างการแปรเปลี่ยนไปเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของพระนางมารี อังตัวเนตต์ นี้เอง คือสิ่งแสดงว่าบัดนี้ตัวตนของบุคคลในประวัติศาสตร์กับตัวตนทางวัฒนธรรมของพระนางได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงแล้ว และการแสดงในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกเมื่อเช้าวันเสาร์นั้น ก็เป็นการนำตัวตนทางวัฒนธรรมของราชินีชาวฝรั่งเศสที่ถูกตัดหัวในการปฏิวัติมาใช้ แต่ไม่ใช่ตัวแทนประวัติศาสตร์แห่งการปฏิวัติอันมีข้อถกเถียงกันนั้น

สตรีสูงศักดิ์ที่ประคองเศียรอยู่นั้นจึงไม่ใช่พระนางมารี อังตัวเนตต์ ที่ถูกประหารชีวิตโดยคณะปฏิวัติเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน แต่เป็นพระนางมารี อังตัวเนตต์ ในอีกแง่มุมหนึ่งที่โลกของวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ค่อยๆ ให้กำเนิดขึ้นมาจากเรื่องราวของบุคคลแรก

การมองภาพของสตรีสูงศักดิ์ถือเศียรในฐานะของตัวตนทางวัฒนธรรมร่วมสมัยมารี อังตัวเนตต์ ก็จะไปสอดคล้องเข้ากับการโชว์ที่แสดงถึงผลงานของฝรั่งเศสอื่นๆ ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยของโลก เช่น บุคคลปริศนาสวมหน้ากากที่ถือคบเพลิงวิ่งแบบ Parkour ไปมาบนหลังคาของมหานครปารีส ก่อนจะนำส่งคบเพลิงนั้นให้แก่ตำนานนักฟุตบอล เซนาดีน ซีดาน ซึ่งคอวิดีโอเกมเห็นแล้วก็จะรู้ว่ามาจากเกม Assassin’s Creed ภาค Unity ซึ่งมีฉากสำคัญในมหานครปารีส โดยเกม Assassin’s Creed นี้ผลิตโดย Ubisoft ซึ่งเป็นผู้ผลิตเกมรายใหญ่ระดับโลกสัญชาติฝรั่งเศส ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของประเทศนี้ในวงการวิดีโอเกมโลก การแสดงของ Minion ที่ผู้ออกแบบและพากย์เสียงเป็นชาวฝรั่งเศส ประกอบเคียงไปกับผลงานทางวัฒนธรรมฝรั่งเศสคลาสสิกอย่างเจ้าชายน้อยและภาพยนตร์คลาสสิกการเดินทางสู่ดวงจันทร์ที่เป็นรูปจรวดปักเข้าที่ดวงตาของพระจันทร์นั่นแหละ

ทั้งหมดของการแสดงในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนจึงเป็นสิ่งที่เจ้าภาพเลือกแล้วที่จะนำมาโชว์ถึงศิลปะ วัฒนธรรม และอิทธิพลของฝรั่งเศสที่มีผลต่อโลก ซึ่งในการนี้มารี อังตัวเนตต์ในฐานะตัวตนทางวัฒนธรรมจึงต้องเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมการปฏิวัติฝรั่งเศสและการเรียกร้องเสรีภาพของประชาชน ที่เพียงเห็นภาพสตรีสูงศักดิ์ถือเศียรของตนไว้ ผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยก็จะเชื่อมโยงและรู้ทันทีว่านั่นหมายถึงใครโดยไม่จำเป็นต้องมีคำใบ้อะไรให้มาก ดังนั้น ในการแสดงตรงนั้นผู้ที่ยืนถือพระเศียรจึงเป็นหลุยส์ กาเป ไปเสียมิได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น การแสดงดังกล่าวก็จะขาดมิติทางวัฒนธรรมร่วมสมัย กลายเป็นแค่ละครล้มเจ้าเชิดชูการปฏิวัติให้คนกลุ่มหนึ่งด่าได้สนุกปากยิ่งกว่านี้อีก

ทั้งนี้ แม้สำหรับคนไทยเราจะมองว่าการแสดงในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้จะดูแรง กร้าว ล้ำหน้า ออกซ้ายอย่างไร ดูจากการพาดหัวของสื่อบางสำนัก หรือการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อหลักบางแห่งก็พอได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว โทนของงานโดยรวมทั้งหมดมันออกไปทางกลางออกขวาเชิดชูความเป็นชาตินิยมอันมีจิตวิญญาณแบบฝรั่งเศสด้วยซ้ำ แต่เพราะอย่างนั้นมันก็เลยส่งผลให้ซ้ายที่เคร่งครัดถึงความถูกต้องทางการเมืองก็ด่า ขวาจัดกลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มเกลียดกลัวคนข้ามเพศ กลุ่มศาสนาก็โจมตี ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานใหญ่ระดับนี้

มีข้อสังเกตทิ้งท้ายไว้นิดหน่อยคือ จากที่ยกตัวอย่างไปว่า พระนางมารี อังตัวเนตต์ ในฐานะตัวตนทางวัฒนธรรมนั้นส่งผลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นในรูปแบบนิยายและการ์ตูนหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งอันนี้ถ้าใครติดตามวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็คงจะไม่แปลกใจนัก เพราะคงทราบกันว่าคนญี่ปุ่นและสังคมญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างชื่นชอบวัฒนธรรมฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก จนกระทั่งรับเอาความเป็นฝรั่งเศสเข้าไปสร้างสรรค์เป็นวัฒนธรรมของตัวเอง 

แต่แล้วในที่สุด วัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นเองนั่นแหละก็ถ่ายทอดกลับไปสู่ฝรั่งเศสได้ด้วยเช่นกัน สังเกตจากชื่อวงเดธ เมทัล ที่แสดงในส่วน Libert? ที่กล่าวถึงนั้น Gojira เป็นภาษาญี่ปุ่นที่ดั้งเดิมแปลว่าปลาวาฬแต่มีอีกความหมายคือก็อดซิลล่า สัตว์ประหลาดยักษ์นิวเคลียร์ในภาพยนตร์และสื่อวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วย

กับเรื่องสุดท้ายคือโดยข้อเท็จจริง ในแม่น้ำแซนขณะนี้ไม่น่าจะมีฉลามอาศัยอยู่ได้ แต่ถ้าใครอ่านข่าวแล้วเจอความเห็นผู้คนทักกันแต่เรื่องระวังฉลามจะมางาบนักว่ายน้ำไปรับประทานแล้วละก็ นั่นเป็นผลของวัฒนธรรมร่วมสมัยจากภาพยนตร์เรื่อง Under Paris ใน NETFLIX ที่สร้างภาพจำดังกล่าวให้ผู้คนทั้งโลกเช่นนั้นไปเรียบร้อยแล้ว

กล้า สมุทวณิช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image