เปิดรายงาน‘กมธ.นิรโทษฯ’ ชงสภาโหวต 15 ส.ค.
หมายเหตุ – สาระสำคัญรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะ กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้วและเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในวันที่ 15 สิงหาคมนี้
⦁ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม กฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านมาจะมีองค์ประกอบสำคัญหนึ่งที่เหมือนกันคือ การกำหนดช่วงระยะเวลาในการนิรโทษกรรม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้นำเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญ คือ
1.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2551
2.การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก. และ นปช.) พ.ศ.2550 ถึง พ.ศ.2553
3.การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พ.ศ.2556 ถึง พ.ศ.2557
4.การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน มาเป็นหลักในการพิจารณา โดยพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากนั้นได้มีมติกำหนดช่วงระยะเวลาในการนิรโทษกรรม คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 ถึงปัจจุบัน
⦁ประเด็นคดีที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม (คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว)
1.คดีหลักและคดีรอง ในส่วนนี้ผู้พิจารณาวินิจฉัยเบื้องต้นว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่คือ หน่วยงานราชการ ในกระบวนการยุติธรรม โดยพิจารณาวินิจฉัยจากองค์ประกอบว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่และเป็นฐานความผิดตามบัญชีฐานความผิดท้ายร่างพระราชบัญญัติหรือไม่ หากเข้าองค์ประกอบ หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมสามารถพิจารณาวินิจฉัยการนิรโทษกรรมแล้วจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมเสนอต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรมเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือให้ถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ
2.คดีที่มีความอ่อนไหว สามารถจำแนกออกเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว ได้ดังนี้
(ก) การกระทำในคดีหลัก
(1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
(1.1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มาตรา 113 (1) หรือ (2) (ความผิดฐานกบฏ) มาตรา 114 (สะสมกำลังเพื่อก่อกบฏ) (เฉพาะการตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ)
มาตรา 116 (กระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย) มาตรา 117 (ยุยงให้หยุดงานเพื่อให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย) มาตรา 118 (กระทำต่อธงชาติ)
(1.2) ความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย
มาตรา 135/1 (2) หรือ (3) (ความผิดฐานก่อการร้าย) มาตรา 135/2 (ขู่เข็ญจะก่อการร้าย) มาตรา 135/3 (โทษของผู้สนับสนุนการก่อการร้าย)
(2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
(4) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(5) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
(6) ความผิดตามคำสั่ง คสช.
(7) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559
(ข) การกระทำในคดีรอง
(1) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
(1.1) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน มาตรา 136 (ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน) มาตรา 137 (แจ้งความเท็จ) มาตรา 138 (ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน) มาตรา 139 (ข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ)
มาตรา 140 (รับโทษหนักขึ้นฐานต่อสู้ขัดขวางและข่มขืนใจเจ้าพนักงาน)
(1.2) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม มาตรา 168 (ขัดขืนคำบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนเพื่อให้ถ้อยคำ) มาตรา 169 (ขัดขืนคำบังคับของอัยการ หรือพนักงานสอบสวนให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใด) มาตรา 170 (ขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาลให้มาเบิกความ) มาตรา 184 (ทำลายหลักฐานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ) มาตรา 190 (หลบหนีระหว่างถูกคุมขัง) มาตรา 191 (ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากการคุมขัง) มาตรา 198 (ดูหมิ่นหรือขัดขวางผู้พิพากษา)
(1.3) ความผิดเกี่ยวกับศาสนา มาตรา 206 (กระทำการเหยียดหยามศาสนา) มาตรา 208 (แต่งกายเป็นนักบวชในศาสนา)
(1.4) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มาตรา 209 วรรคหนึ่ง (ความผิดฐานเป็นอั้งยี่) มาตรา 210 ถึงมาตรา 214 (ความผิดฐานซ่องโจร, ร่วมประชุมอั้งยี่ ซ่องโจร, ช่วยเหลือ อุปการะอั้งยี่ ซ่องโจร, โทษของสมาชิก และพรรคพวกอั้งยี่ ซ่องโจร และจัดหาที่พำนัก ซ่อนเร้นให้ผู้กระทำผิด
มาตรา 215 วรรคหนึ่ง (มั่วสุมทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 216 (ไม่ยอมเลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน)
(1.5) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตรา 217 ถึงมาตรา 220 (วางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น, เหตุฉกรรจ์วางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น, ตระเตรียมวางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ)
มาตรา 221 (ทำให้เกิดระเบิดน่าจะเป็นอันตรายฯ) มาตรา 225 (ทำให้เกิดระเบิดจนเป็นอันตรายแก่ทรัพย์) มาตรา 226 (กระทำต่อโรงเรียน สิ่งปลูกสร้าง น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น)
(1.6) ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ) มาตรา 296 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บด้วยเหตุฉกรรจ์) มาตรา 297 (ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส) มาตรา 299 (ชุลมุนต่อสู้บาดเจ็บสาหัส) มาตรา 300 (ประมาทเป็นเหตุให้บาดเจ็บสาหัส)
(1.7) ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 309 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการ ไม่กระทำการ) มาตรา 310 วรรคหนึ่ง (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น) มาตรา 310 ทวิ (หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อให้กระทำการให้แก่บุคคล) มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (ทำให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยประมาท)
(1.8) ความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 (หมิ่นประมาท) มาตรา 328 (หมิ่นประมาทโฆษณา) มาตรา 329 (แสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท)
(1.9) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358 (ทำให้เสียทรัพย์) มาตรา 359 (3) (เหตุเพิ่มโทษฐานทำให้เสียทรัพย์) มาตรา 360 (ทำให้เสียทรัพย์สาธารณประโยชน์)
(1.10) ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 362 (บุกรุกอสังหาริมทรัพย์) มาตรา 364 (บุกรุกเคหสถาน) มาตรา 365 (1) หรือ (2) โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ (3) (บุกรุกเหตุฉกรรจ์)
(1.11) ความผิดลหุโทษ มาตรา 368 (ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน) มาตรา 370 (ส่งเสียงดังอื้ออึง) มาตรา 371 (พกพาอาวุธ) มาตรา 385 (กีดขวางทางสาธารณะ) มาตรา 391 (ทำร้ายร่างกายไม่บาดเจ็บ) มาตรา 393 (ดูหมิ่นซึ่งหน้า)
(2) ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 (ศาลออกข้อกำหนด เพื่อรักษาความเรียบร้อยในศาล) มาตรา 31 (ละเมิดอำนาจศาล)
(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(4) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(5) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(6) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(7) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(8) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(9) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบ เรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
(10) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493
(11) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
(12) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2535
(13) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(14) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(15) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ พ.ศ.2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(16) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(17) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(18) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธง พ.ศ.2522
(19) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550
(ค) การกระทำในคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
มาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) มาตรา 112 (หมิ่นประมาทฯพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ)
⦁รูปแบบ/กระบวนการในการนิรโทษกรรม
“การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสาน” จะมีการดำเนินการนิรโทษกรรมโดยใช้กลไก 3 ส่วน คือ
1) กลไกที่ให้หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ศาล พนักงานอัยการ กรมราชทัณฑ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แล้วจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรม แล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ
2) กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมาย และประสงค์ใช้สิทธิให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของหน่วยราชการนั้น ให้หน่วยงานราชการที่รับคำร้องมีอำนาจรับคำร้องและพิจารณาหรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
(ก) หากคดีอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าของคดีให้ยุติการสอบสวน
(ข) คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยุติการดำเนินคดี คดีที่พนักงานอัยการส่งฟ้องแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง
(ค) กรณีที่จำเลยถูกฝากขังในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณาออกหมายปล่อย
(ง) คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและผู้ต้องคดีเป็นนักโทษในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณา ออกหมายปล่อย เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวนักโทษ
(จ) คดีถึงที่สุด ผู้เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดประสงค์ขอให้ลบล้างประวัติให้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(ฉ) ให้หน่วยงานตามข้อ (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) จัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมตามข้อ (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) แล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ
(ช) กรณีผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการ ยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาแล้ว ได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรม
3) กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายขออุทธรณ์ กรณีที่หน่วยราชการปฏิเสธไม่ให้สิทธินิรโทษกรรม ทั้งนี้ ในชั้นพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการนิรโทษกรรม หากคณะกรรมการนิรโทษกรรมรับเรื่องไว้พิจารณากลั่นกรองแล้ว หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายที่มีคดีที่เข้าข่ายตามกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ให้หยุดการดำเนินคดีหรือการพิจารณาในคดีนั้นไว้ก่อน และศาลอาจใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
องค์ประกอบของคณะกรรมการนิรโทษกรรมรูปแบบผสมผสาน มีดังนี้
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ
(2) ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ
(3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และนายกสภาทนายความ
(4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ เป็นที่ประจักษ์ในด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกระบวนการยุติธรรม จำนวนด้านละหนึ่งคน โดยมาจากการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี
(5) กรรมการผู้แทนองค์กรภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับบริบททางการเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเลือกกันเองจำนวนสามคน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด
(6) ให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแต่งตั้งข้าราชการของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณารายงานคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมที่หน่วยงานราชการในกระบวนการ ยุติธรรมตามข้อ 1 เสนอหากมีความเห็นแย้งให้ตอบกลับหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานนั้น
(2) พิจารณาอุทธรณ์กรณีผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณา ได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการนิรโทษกรรมมีผลผูกพันหน่วยราชการดังกล่าวให้พิจารณาการให้นิรโทษกรรม
(3) หยิบยกคดีที่ได้รับผลตามพระราชบัญญัตินี้แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อส่งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งกรณีที่คณะกรรมการเห็นเองหรือกรณีที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องร้องขอ
(4) พิจารณาชี้ขาดกรณีที่มีปัญหามาสู่คณะกรรมการว่าคดีใดได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ จากการเสนอของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการพบเห็นเอง
(5) จัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน
(6) สื่อสารสร้างความเข้าใจสาธารณะเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดอง
(7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(8) อำนาจหน้าที่อื่นใดเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้