ก้าวไกล ฉะ ‘คารม’ อคติ-ขาดวุฒิภาวะ วิเคราะห์ต่อสู้คดียุบพรรค กล่าวหาดึงต่างชาติกดดันศาล

‘จุลพงศ์’ แถลงโต้ ‘คารม’ หลังฉะก้าวไกล ละเมิดอํานาจศาล ซัด ไร้วุฒิภาวะ มีอคติส่วนตัว จี้ ‘นายกฯ’ ทบทวนการทำงาน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงถึงกรณีนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวหาพรรคก้าวไกลหลายประการ ในการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกลว่า การแสดงความเห็นดังกล่าวเกิดจากความมีอคติส่วนตัว และความไม่เป็นมืออาชีพในตำแหน่งโฆษกรัฐบาล

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า การต่อสู้ว่าศาลมีอำนาจในการพิจารณาคดีใดหรือไม่ เป็นการต่อสู้โดยปกติ ที่ฝ่ายถูกร้องหรือฟ้องร้อง สามารถยกขึ้นมาต่อสู้ในศาลได้ ไม่ใช่การกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด ทั้งนี้ มีคดีในจำนวนมากที่ศาลยกฟ้อง ด้วยเหตุที่มีการฟ้องผิดศาล หรือผู้ร้องไปฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลยกข้อต่อสู้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณายุบพรรค จึงเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

นายจุลพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ตรงกันข้าม การที่ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย พูดชี้นําศาลรัฐธรรมนูญว่า การยกข้อต่อสู้ดังกล่าว เป็นการละเมิดอำนาจศาลนั้น หากไม่ใช่การมีความรู้อันจำกัด ก็น่าจะเป็นการแสดงความเห็นโดยมีอคติส่วนตัวกับพรรคก้าวไกล

Advertisement

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ส่วนที่พรรคก้าวไกล ยกข้อต่อสู้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเลือก (กกต.) ดำเนินการไม่ถูกต้องตาม พรป.พรรคการเมือง และระเบียบ กกต. ในเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะ กกต. ไม่ได้เรียกให้พรรคก้าวไกล ชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อหักล้างข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการรวบรวมและรับฟังพยานก่อนฟ้องคดีนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากในการดำเนินคดี เช่น หากเกิดร้องทุกข์ ว่ามีการกระทำผิดในคดีอาญา ตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ โดยไม่เรียกผู้กระทำผิดและพยานมาสอบสวน หากอัยการส่งสำนวนดังกล่าวไปฟ้องศาล ศาลย่อมยกฟ้อง เนื่องจากกระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในชั้นตำรวจ ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีการสอบสวนพยานเอกสาร และพยานบุคคล

นายจุลพงศ์ กล่าวอีกว่า การใส่ร้ายพรรคก้าวไกลว่าดึงต่างประเทศมากดดันศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่บุคคลที่มีความคิดขาดวุฒิภาวะ และความเข้าใจสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ประเทศไทยไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวในสังคมโลกได้ และคุณค่าของสังคมโลกขณะนี้ คือการมีสิทธิมนุษยชน และสิทธิทางการเมืองของประชาชน เมื่อประเทศไทยเกิดรัฐประหารครั้งใด นานาชาติก็จะตัดการเจรจาการค้า และความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย

ดังนั้น การที่ออกมาแสดงความเห็นที่สื่อได้ว่า สมควรยุบพรรคก้าวไกล ตนจึงคิดว่านายกรัฐมนตรี ควรทบทวนการทำงานของรองโฆษกรัฐบาลคนนี้ ว่าได้แสดงความเห็นแบบมืออาชีพหรือไม่ เพราะไม่ได้บอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัว โดยไม่ใช่ความเห็นของรัฐบาล มิเช่นนั้นประชาชนจะเข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image