ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
ในระหว่างนั่งฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีความเป็นรัฐมนตรีของ (อดีต) นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เหมือนจะได้ยินคำว่า
“ภววิสัย” ผ่านหูไปครั้งหนึ่ง
ชนกันพอดีกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยว่า ปัญหาเรื่องว่าบุคคลใดจะเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาทาง “อัตวิสัย” ที่ขึ้นกับมุมมองความคิดความเชื่อส่วนบุคคลล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องหรือไม่ควรที่ผู้ใช้อำนาจตุลาการจะเข้ามาวินิจฉัยได้
ปัญหาของเรื่องนี้จึงอยู่ที่มุมมองระหว่างความเป็น “ภววิสัย” หรือ “อัตวิสัย” ของคุณสมบัติของรัฐมนตรีซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ในมาตรา 160 (4) ที่ถ้าไม่มีถือว่าความเป็นรัฐมนตรีซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วยนั้นสิ้นสุดลง
“ภววิสัย” มาจากภาษาอังกฤษว่า Objectivity ที่สรุปได้ว่าหมายถึงสิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง เงื่อนไขที่เป็นความจริงโดยไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินเชิงความคิดเห็นหรือความรู้สึก สิ่งเป็นภววิสัยจะเป็นจริงเสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในเวลาใด หรือกับบุคคลใด ตัวอย่างที่มักจะใช้ยกขึ้นบ่อยๆ คือความจริงประเภท “คนเราจักพึงตายเป็นแท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง” หรือ “พระอาทิตย์ย่อมขึ้นทางทิศตะวันออกและตกลงทางทิศตะวันตก”
ส่วน “อัตวิสัย” (Subjectivity) นั้นคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน นั่นคือ หากสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริงบนเงื่อนไขเฉพาะอย่าง ในเวลาหรือสถานที่เฉพาะ หรือกับบุคคลเฉพาะ หรือเป็นเรื่องที่จะตัดสินชี้วัดกันจากความคิดเห็นหรือความรู้สึกของปัจเจกชนแต่ละคน เรื่องนั้นก็เป็นอัตวิสัย ตัวอย่างที่นิยมยกกันก็เช่น สิ่งใดเป็น “ความดี” หรือ “ความชั่ว” ประสบการณ์นี้เป็น “ความสุข” หรือ “ความทุกข์” อันหลังนี้ชัดเจนที่สุด เพราะข้อเท็จจริงเดียวกันแท้ๆ เช่น การทำงานแล้วได้รับเงินเดือนสองหมื่นบาท สำหรับคนหนึ่งคือความสุขสุดแสน แต่สำหรับบางคนนั้นคือความทุกข์มหันต์
แต่การพิจารณาว่าข้อเท็จจริงใดเป็นปัญหาภววิสัยหรืออัตวิสัยก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เช่นความจริงบางอย่างในวัฒนธรรมเดิมของมนุษย์เคยเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่ายที่สุดเพราะมีเพียงสองขั้ว เช่นเรื่องว่าใครคนหนึ่งเป็น “ผู้ชาย” หรือ “ผู้หญิง” ซึ่งมีข้อบ่งชี้ได้ชัดทางกายภาพแบบเห็นๆ เมื่อเปลื้องผ้า ซึ่งแม้ในภายหลังจะมีการยอมรับว่าในทางเพศสภาพหรือเพศวิถีนั้นอาจหลากหลายได้ แต่หากจะนิยามจากเพียง “เพศทางกายภาพ” ก็น่าจะชี้ขาดได้ทางใดทางหนึ่งโดยปราศจากข้อโต้แย้ง
แต่ก็อย่างที่ทราบว่า ล่าสุดเราก็เพิ่งมีวิวาทะกันเรื่องที่ว่า “นักมวย” ที่เป็นปัญหาจะถือว่าเป็น “เพศหญิง” หรือ “เพศชาย” แม้ว่าจะมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวและเอกสารทางการของเธอ แต่การจะนิยามความเป็น “หญิง” หรือ “ชาย” ของนักมวยผู้นั้นก็ขึ้นกับมุมมองต่อข้อมูลและข้อเท็จจริงเหล่านั้นของแต่ละบุคคล
หรือคำกล่าวที่ว่า “คนเราจักพึงตายเป็นแท้” ก็ด้วย เรื่องของความตายนี้ดูเผินๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าสงสัย ไม่มีใครเถียงหรอก อย่างน้อยก็โดยเทคโนโลยีปัจจุบันนี้ว่าไม่มีมนุษย์คนใดที่จะไม่ต้องตาย แม้แต่ในรัฐธรรมนูญเอง การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาหรือสถานะความเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ข้อที่ว่าต้องพ้นตำแหน่งเมื่อ “ตาย” นี้ เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ต้องให้ศาลวินิจฉัย
ถึงกระนั้นการจะพิจารณาว่าใครสักคน “ตาย” แล้วหรือยังนั้นก็เป็นกรณีที่ถกเถียงไม่จบ จากเดิมนั้นเราวินิจฉัยได้ง่ายๆ เพียงหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจที่เรียกกันว่า “สิ้นลม” นั้นก็คือตาย แต่เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์อาจจะทำให้ผู้ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บหลายกรณีสามารถคงภาวะที่หายใจได้และหัวใจเต้นแม้ว่าสมองส่วนใหญ่จะตายแล้ว ส่วนนิยามทางการแพทย์ที่จะถือว่าใครสักคน “ตายแล้ว” หรือไม่ก็ยังแตกต่างออกไปตามกฎหมายหรือตามแต่วัฒนธรรม
แม้แต่เรื่องพระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกตกทางทิศตะวันตกเสมอ ถ้าจะนิยามว่าจุดที่พระอาทิตย์ขึ้นและตกนั้นคือพิกัดทิศตายตัวก็อาจจะเป็นปัญหาได้อีก เพราะดวงอาทิตย์ในแต่ละฤดูจะขึ้นและตกไม่ตรงตำแหน่งในทิศทางเดียวกันเสียทีเดียว ทิศตะวันออกของเดือนมกราคม ก็อาจจะไม่ใช่ทิศตะวันออกของเดือนมิถุนายนก็ได้ จนต้องอาศัยนิยามกันจากขั้วแม่เหล็กโลก
จากตัวอย่างที่ยกมา จะเห็นได้ว่า การจะบอกว่าสิ่งเป็น “ภววิสัย” ที่จะต้องเป็นความจริงเสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด โดยไม่ขึ้นกับความคิดเห็นของบุคคลโดยแท้นั้นก็เหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในทางกลับกัน ข้อเท็จจริงบางเรื่องที่น่าจะเป็น “อัตวิสัย” โดยแท้ อย่างเช่นความชั่วดีหรือความสวยงามก็อาจจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายเห็นตรงกันได้ แม้จะต่างความคิด ความเชื่อ ศาสนา หรือวัฒนธรรม จนพูดได้ว่าความดีงามนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัยต่างคนต่างมองของใครของมันก็อาจจะไม่เต็มปาก
สังเกตว่า “บาป” หรือ “ความชั่ว” ในแทบทุกศาสนาและความเชื่อจะมีอยู่อย่างน้อยสองหรือสามข้อที่จะตรงกัน คือการปลิดชีพมนุษย์ผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมหรือเหตุอันควร การลักหรือแย่งชิงสิ่งของหรือพรากผู้คนอันเป็นที่รักไปจากคนอื่นโดยไม่มีเหตุอันควรหรือชอบธรรม และการกล่าวหรือแสดงความจริงอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น สองสามเรื่องนี้ถือเป็นบาปและความชั่วร้ายตรงกันในแทบทุกศาสนาและวัฒนธรรม ราวกับอย่างน้อย “ความชั่วร้าย” สองสามประการนี้ เป็น “ความจริง” ที่มนุษย์ทุกคนสัมผัสได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในยุคสมัยใดหรือเติบโตมาในวัฒนธรรม ศาสนา หรือความเชื่ออย่างไร
พากลับมาที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีอดีตนายกฯ เศรษฐา กันอีกสักครั้งในปัญหาว่าคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น เป็นเรื่อง “ภววิสัย” หรือ “อัตวิสัย”
เรื่องนี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยจะเห็นว่า ความซื่อสัตย์สุจริตนี้ เป็นเรื่องทาง “อัตวิสัย” ขึ้นกับมุมมองความคิดและความเชื่อส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานไม่เท่ากัน เรื่องเดียวกันเช่น พนักงานกรอกน้ำจากตู้กดน้ำของบริษัทใส่กระติกไว้ ถ้าเหลือก็กลับไปกินที่บ้าน สำหรับบางคนพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้ถึงกับไม่ซื่อสัตย์อะไร แต่สำหรับบางคนเพียงเท่านั้นก็ถือว่าไม่ซื่อสัตย์แล้วก็ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้การให้คนที่มีระดับการพิจารณา “ความซื่อสัตย์” ที่แตกต่างกันมาตัดสินหรือพิพากษาเป็นคุณเป็นโทษ แถมกรณีนี้ยังเรียกว่าเป็นปัญหาทางอ้อม คือบุคคลที่มีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตนั้นไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องในคดีนี้แล้ว แต่ผู้ที่ถูกฟ้องและต้องถูกวินิจฉัยคือเป็นผู้ที่แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งที่ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น เช่นนี้จะถือว่าเขาผู้แต่งตั้งนั้นต้องตกเป็นผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ไปด้วยหรือไม่
ฝ่ายที่วิจารณ์ในทางไม่เห็นด้วยท่านหนึ่งถึงกับบอกว่า อย่างนี้ผู้แต่งตั้งอาจต้องเป็นเทวดาที่จะสามารถหยั่งรู้กาลข้างหน้าได้ว่าบุคคลที่ตัวเองจะแต่งตั้งคนไหนนั้นจะถูกศาลมองว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จึงจะไม่แต่งตั้งบุคคลนั้นให้ย้อนกลับมาเป็นภัยแก่ความซื่อสัตย์สุจริตของตัวเองในภายหลังได้
แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)ว่าผู้เป็นรัฐมนตรีจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต “เป็นที่ประจักษ์”
แม้เรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ควรจะเป็นเรื่องอัตวิสัย แต่ถ้ามีข้อเท็จจริงบางอย่างที่วิญญูชนที่มีสำนึกรู้ระดับมาตรฐาน มีสติดีปัญญาไม่พร่องเห็นตรงกันได้เสียเกือบทั้งหมดแล้ว มันก็อาจจะเป็น “อัตวิสัย” ที่เข้ามาใกล้ขอบแห่ง “ภววิสัย” อย่างยิ่งได้
หากใครลองได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ซึ่งสามารถค้นหาในอินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดายโดยตลอดแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา และข้อแก้ตัวของเขานั้นออกจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปผู้มีประสบการณ์ มีวิจารณญาณ หรือรู้เท่าทันโลกสักเล็กน้อยนั้นค่อนข้างจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาได้ยากมากๆ ตั้งแต่การที่คนขับรถและผู้ช่วยประสานงานของเขานำถุงกระดาษปิดผนึกไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลฎีกา พอเปิดออกมาเป็นเงินสด 2 ล้านบาท ก็แก้ต่างว่า จริงๆ แล้วตั้งใจจะเอาขนมช็อกโกแลตมาให้ แต่พอดีใส่ถุงไว้ข้างถุงใส่เงินสดที่จะเอาไปฝากธนาคารเลยหยิบสับกันมา
ถ้าเชื่อตามนี้ได้จริง หากเรื่องมันเกิดสลับที่กันคือตอนเอาเงินไปฝากที่ธนาคารแล้วเปิดออกมากลายเป็นช็อกโกแลตเต็มถุงละก็คงพอกลายเป็นเรื่องตลกไปได้ แต่มันก็น่าแปลกที่ว่า ปกติการเอาขนมหรือของกินไปฝากคนอื่น ถ้าไม่ใช่ของกลิ่นแรงหรือรูปลักษณ์ภายนอกไม่น่าดูก็คงไม่มีใครใส่ถุงปิดผนึกไปส่งให้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าเอาไปให้คนที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวด้วย เอาเป็นว่า พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นเรื่องที่คนทั่วไปน่าจะเห็นตรงกันว่าคิดให้เป็นเรื่องปกติหรือในทางสุจริตได้ไม่ง่ายนักโดยเฉพาะหากความซื่อสัตย์สุจริตนั้นต้องอยู่ในระดับ “เป็นที่ประจักษ์” ด้วยแล้ว เรื่องนี้ แม้แต่คนเสื้อแดงแฟนพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งก็ยังแอบคิดว่าท่านนายกฯก็กระไรเลย ตัวเลือกในพรรคนอกพรรคตั้งเยอะก็ไม่ตั้ง มาตั้งคนที่ได้ชื่อในวงการว่าเป็น “ทนายถุงขนม”เสียได้
ปัญหาอันแท้จริงคือการวินิจฉัยเรื่องนี้ควรเป็นการตัดสินกันในทางการเมืองโดยสภาหรือต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน มิใช่การตัดสินวินิจฉัยปัญหาทางข้อกฎหมายโดยตุลาการ แต่สมุทัยหรือเหตุแห่งปัญหาเรื่องนี้อันเป็นจุดตั้งต้น คือรัฐธรรมนูญฉบับ “คนดี” ปี’60 ได้ไปกำหนดให้ปัญหานี้ต้องตัดสินโดยองค์กรตุลาการเช่นเดียวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเรื่องอื่นๆ ดังนั้นศาลจะวินิจฉัยว่า เฉพาะอนุมาตรานี้ศาลวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองก็จะเป็นปัญหาไปอีกทางหนึ่งเช่นกัน
ส่วนที่ถ้าจะฟังว่า “ผู้กระทำการต้นเรื่อง” มีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตนั้นไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องในคดี (จริงๆ คือลาออกก่อนศาลจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย) แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีนั้นเป็นผู้ที่แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งที่ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เช่นนี้จะถือว่าเขาผู้แต่งตั้งนั้นต้องตกเป็นผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ไปด้วยหรือไม่ ในส่วนนี้อาจจะเป็นส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์กันได้กว้างขวางมากกว่า
แต่เรื่องนี้ก็อีกนั่นแหละ หลายคนคงพอจะมีประสบการณ์ได้รู้จักกับผู้มีตำแหน่งใหญ่โตมีบริวารบางท่านที่เราก็รู้และเชื่อว่าท่านผู้นั้นเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ทำไมก็ไม่ทราบ คนรอบตัวที่ท่านตั้งมานั้นกลับมีผู้คนที่รู้ลึกตื้นหนาบางต่างรู้สึกแหม่งๆจนพาลให้สงสัยว่าถ้าท่านเป็นคนดีแล้ว ไหงตั้งคนแบบนี้เป็นลูกน้องได้ มีเหตุจำเป็นอันใดที่ปฏิเสธไม่ได้หรือเปล่า
แบบนี้แม้เราอาจจะเชื่อถือในตัวท่าน แต่ครั้นจะให้เชื่อมั่นไว้วางใจเต็มที่นั้นก็อาจจะไม่ค่อยสนิทใจเท่าไรนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : แม่ค้าทองออนไลน์ ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางความรู้เท่าทัน (ซึ่งทำให้เราต้องขอบคุณที่ประเทศนี้ยังมี‘พี่หน่วง’)
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ความทะเยอทะยาน ความหวัง ของ ‘ตาคลี เจเนซิส’
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : การ ‘ตื่นรู้’ และ ‘ความหลากหลาย’ ที่ล้มเหลว
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เรายอมรับการถูกโบยตีโดยสมัครใจเพื่อชัยชนะหรือความสำเร็จได้แค่ไหน?