สถานีคิดเลขที่ 12 : พปชร.และ ปชป.

แม้จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร มาทดแทน นายเศรษฐา ทวีสิน อย่างรวดเร็ว เป็นการคุมเกมกุมฐานะแกนนำรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่ทำได้ฉับไว แต่ในขั้นตอนการฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คงจะไม่เป็นเช่นนั้น น่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย

การตรวจสอบคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จะต้องเข้มข้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ต้องปิดช่องไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเข้าโจมตีได้ง่ายๆ

บรรดารัฐมนตรีคนดังๆ ทั้งหลาย ที่มีประวัติเฉียดฉิว การตั้งรัฐบาลคราวนี้น่าจะต้องยอมถอยกันเป็นแถว

โดยเปลี่ยนเป็นใช้ทายาท ใช้คนสนิท เข้ามานั่งเก้าอี้เป็นตัวแทน

ADVERTISMENT

อีกประการที่ทำให้การจัด ครม.ล่าช้า ก็คือ ความขัดแย้งแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ

เริ่มต้นจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย ต้องการเอาคืนคนที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง 40 ส.ว.ที่ถอดถอนนายกฯเศรษฐา นำมาสู่กระแสข่าวจะมีการตัดชื่อรัฐมนตรีของพลังประชารัฐบางราย

ADVERTISMENT

ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค

จนทำให้ธรรมนัสประกาศอิสรภาพ โชว์พลัง 34 ส.ส.ในสังกัด เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย โดยให้ตัดฝ่ายหัวหน้าพรรคออกไป

ขณะที่ท่าทีของ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้นำจิตวิญญาณของเพื่อไทยก็บอกชัดว่า คงจะเลือกฝ่ายที่ทำงานให้รัฐบาลมาตลอดมากกว่า

ถ้าสุดท้ายเป็นไปตามนี้จริงๆ นั่นคือ พลังประชารัฐจะแตกขั้ว เข้าร่วมเป็นรัฐบาลเฉพาะขั้วธรรมนัส

แปลว่า เสียง ส.ส.พลังประชารัฐ ที่จะเป็นพรรครัฐบาล คงมาไม่ครบทั้งหมด โดยยึดตามตัวเลขของ ร.อ.ธรรมนัส จะมี 29 ส.ส.พลังประชารัฐที่มาอยู่ร่วมด้วย เสริมด้วย ส.ส.พรรคเล็กอีก 5 เสียง

ขณะที่พลังประชารัฐอีกกว่า 10 เสียง ขั้วหัวหน้าพรรค จะกลายเป็นเสียงฝ่ายค้าน

ถ้าเป็นไปตามสูตรนี้ คือ พลังประชารัฐขั้วหนึ่งมาร่วมรัฐบาล อีกขั้วโดนส่งไปเป็นฝ่ายค้าน

มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคเพื่อไทยจะดึงประชาธิปัตย์เข้ามาเสริม ซึ่งดูจะมีความพร้อมมาร่วมอย่างสูงมาก นับตั้งแต่ตอนโหวตให้เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ก็มี ส.ส.ประชาธิปัตย์ถึง 16 เสียงที่ร่วมโหวตให้

ประชาธิปัตย์มี ส.ส.อยู่ 25 เสียง ตัดขั้วของนายชวน หลีกภัย ที่ไม่ยอมมาร่วมด้วยแน่ๆ ออกไป 4 เสียง คือนอกจากนายชวนแล้ว ก็มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายสรรเพชญ บุญญามณี

ถ้าเพื่อไทยดึงประชาธิปัตย์มาร่วมจริงๆ จะมี 21 ส.ส.จากพรรคนี้มาเป็นฝ่ายรัฐบาล บวกกับพลังประชารัฐขั้วธรรมนัส รวมเป็นกว่า 50 เสียง

การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคราวนี้ แม้ขั้วรัฐบาลเดิมจะจับมือกันได้เหนียวแน่น แต่ปัญหาในพลังประชารัฐ และโอกาสการเข้าร่วมของประชาธิปัตย์ ก็ทำให้สูตรรัฐบาลมีความเปลี่ยนแปลงในบางส่วน

ส่งผลให้การจัด ครม.ก็ต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น

แต่เสถียรภาพน่าจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะเสียงรัฐบาลจะมีมากกว่าเดิม 314 เสียง

ส่วนฝ่ายค้าน จะมีพรรคประชาชนเป็นแกนหลักดังเดิม เสริมด้วยพลังประชารัฐซีกหนึ่ง กับประชาธิปัตย์อีกซีกหนึ่ง

แน่นอนพรรคประชาชนคงเข้มแข็งดังเดิม แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านนี่สิ มากันแบบบ้านแตกสาแหรกขาดก็ว่าได้

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image