ผู้เขียน | ชโลทร |
---|
⦁…ปาฐกถาที่ ทักษิณ ชินวัตร แสดงวิชั่นว่า “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง” จะจัดการปัญหา และสร้างอะไรให้ประเทศบ้างหลังจากนี้ สร้างผลสะเทือนสูงยิ่ง ที่เป็นรูปธรรมคือ “ดัชนีตลาดหลักทรัพย์” พุ่งกระฉูดทันที หลายเรื่องกลายเป็นประเด็น “Talk of the town” พูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งในวงสนทนา และการสื่อสารในโลกออนไลน์ เป็นเสียงสะท้อนในทางบวก มากกว่าที่เห็นไปในทางลบ วิเคราะห์กันว่าความหมายในทางนามธรรม คือ “ความหวังที่ใครต่อใครรอคอยกันมาเกือบ 20 ปี” เริ่มปรากฏให้รู้สึกได้อย่างจริงจังแล้ว และเมื่อเป็น “วิชั่น” ที่มาพร้อมกับ “แผนและวิธีปฏิบัติการ” ชัดเจน ประกอบกับ “ทักษิณ” มีภาพอดีตเป็น “ผู้คิดแล้วทำสำเร็จ” จึงกระตุ้นให้เกิด “ความเชื่อมั่น” ซึ่งเป็นตัวก่อพลังขับเคลื่อนสู่ “ความสำเร็จในวิชั่น”
⦁…แต่ก็นั่นแหละ เครื่องมือในการนำสู่ “ความสำเร็จ” ที่แท้จริงคือ “การปฏิบัติ” ซึ่งประกอบด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง “ผู้ปฏิบัติเข้าใจในแผนและวิธีการ” เหมือนอย่างที่นำเสนอหรือไม่ “ผู้ควบคุมมีความเชี่ยวชาญพอจะจัดการให้สำเร็จได้หรือไม่” กระทั่ง “อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากสารพัดเหตุ” จะมีพลังอำนาจพอที่จะเคลียร์ หรือตั้งรับได้แค่ไหน แม้ “ทักษิณ” จะเผยว่าแต่ละวิชั่นจะมี “แต่ละเจ้าภาพมาจัดการ” เมื่อที่สุดแล้ว “ผู้รับผิดชอบ รับทุกผลกระทบ” ต้องคือ แพทองธาร ชินวัตร ที่ยิ่ง “โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว” ยิ่งต้องมี “ความเป็นตัวของตัวเอง” หนทางสู่ความสำเร็จของแต่ละผลงานที่ยังอีกยาวไกลนั้น จะเสริมส่ง หรือบั่นทอน “ความเชื่อมั่น” ล้วนต้องติดตาม
⦁…โอกาสที่จะไปสู่ความสำเร็จนั้น ความแหลมคมอยู่ที่ การสร้าง “ความเป็นเอกภาพ” ให้เกิดขึ้นในการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็น “ความยินยอมพร้อมใจของทุกส่วนในโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่” เสียงข้างมากใน “สภาผู้แทนราษฎร” ใน “รัฐบาลผสม” ที่แต่ละพรรคมีแรงขับเบื้องหลังที่แตกต่างไป “ส.ว.” ที่ถูกควบคุมโดยเครือข่ายซึ่งไม่ขึ้นตรง “องค์กรสถาปนา” ที่ถูกออกแบบให้พร้อมใช้อำนาจจัดการเพื่อเป้าหมายบางอย่าง โดยมุมมองต่อ “ผลกระทบกับประเทศที่แตกต่างไป” และอีกสารพัดเรื่อง ที่ ทักษิณ ชินวัตร เองยังยอมรับว่า ต้องการแก้ “กฎหมาย” ที่ถูก “ดีไซน์ไว้ให้การเมืองอ่อนแอ” อันเป็นที่รู้กันว่าการตัดจะก่อ “แรงปะทะ” ที่ไม่เป็นธรรมดา ทำอย่างไรที่จะให้ “แพทองธาร” มีภูมิต้านทานเพียงพอที่จะรับ “แรงสะเทือนที่เกิดจากการรักษาอำนาจและผลประโยชน์กลุ่มพลัง” นั้น เป็นโจทย์ที่ต้องเร่งหาคำตอบ
⦁…หากยึดเอาเจตนาที่ต้องการ “ฟื้นความแข็งแกร่งให้พรรคการเมือง” ด้วยการเห็นว่าที่ผ่านมา “นักการเมืองถูกทำให้อ่อนแอ” ที่ “ทักษิณ” เปิดวิชั่นออกมา นับจากนี้ที่จะเกิดขึ้นคือ “พรรคประชาชน” จะสนับสนุน “เพื่อไทย” ในภารกิจนี้ ขณะที่เป็นได้สูงยิ่งที่ “บางพรรคร่วมรัฐบาล” ที่ “ผู้คอนโทรล” ได้ประโยชน์จากความอ่อนแอของนักการเมืองจะเป็น “ผู้ต่อต้านเพื่อไทย” เสียเอง ทำให้สภาพ “มิตรและศัตรู” ขึ้นอยู่กับแต่ละภารกิจ และนั่นหมายถึงความลำบากยากเย็นในการ “สร้างเอกภาพ” ที่เป็นสารสำคัญต่อการ “บรรลุความสำเร็จ” อย่างที่ว่า
⦁…ฟอร์ม ครม.ใหม่ สู่ “รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1” แม้กรอบใหญ่จะเป็น “มิตรภาพของพรรคร่วมเดิม” แต่ความเปลี่ยนแปลงมีแน่นอนใน 3 เรื่อง เริ่มด้วย “พลังประชารัฐ” ที่แตกเป็น 2 เสี่ยง เมื่อ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” เลือก “ปีกธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่เชื่อว่า “ควบคุมง่ายกว่า” เพราะเป็น “คนเคยอยู่ในพรรค” การตัดไมตรี “ปีก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ย่อมมีผลสะเทือนไม่น้อย เพราะอย่างไรเสีย “บิ๊กป้อม” คือ “เจ้าของพรรคตัวจริง” และความเป็น “โครงข่ายอำนาจ 3 ป.” อย่างไรเสียยังคงความผูกพันบางอย่าง ท่าทีของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่มองการร่วมรัฐบาลกับ “เพื่อไทย” ด้วยเหตุผลว่าเป็นแค่ “ดีกว่าเลือกเป็นฝ่ายค้านที่มีพรรคประชาชนเป็นผู้นำ” สะท้อนให้เห็น “ความอึดอัด” อยู่ไม่น้อย วันนี้ก็ว่าไป แต่วันที่ “มีทางเลือกที่เต็มใจมากกว่า” อะไรจะเกิดขึ้น
⦁…ตามด้วยการเข้าร่วมของ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ไม่มีเอกภาพของ “ความยินยอมพร้อมใจ” เช่นกัน แม้ ทักษิณ ชินวัตร จะมีเหตุผลแบบ “ผมเลิกโกรธใครแล้ว ต้องการทุกฝ่ายมาร่วมมือแก้ปัญหาให้กับประเทศ” และยืนยันว่า “คนที่โดนและเจ็บมามากสุดคือผม” แต่น่าคิดว่า “คุ้มหรือไม่” กับการต้องทำความเข้าใจกับ “คนเสื้อแดง” ที่มีสารพัดเรื่องราวในความทรงจำ
⦁…อีกเรื่องเป็น “ภูมิใจไทย” ที่ผลการเลือกตั้ง “ส.ว.ชุดใหม่” ย่อมเปลี่ยนแปลง “อำนาจการต่อรอง” และที่สุดแล้ว “ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าปี 2570” จะถูกวางเป็นเป้าหมาย เพื่อที่ต่างต้องวางแผนปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้ เมื่อ “ทักษิณ” เดินหน้าสร้างผลงาน ด้วยความเชื่อว่าจะ “เรียกชัยชนะกลับคืน” ย่อมก่อการวิเคราะห์กันขนานใหญ่ว่า “พรรคไหนจะอาศัยฐานคะแนนส่วนไหน” ใครจะซ้ำซ้อน และช่วงชิงกันหนักหน่วงในฐานเดียวกัน








