ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
ถ้าท่านผู้อ่านได้เห็นคำว่า “พี่หน่วง” แล้วอมยิ้มมุมปากเข้าใจทันที การอ่านคอลัมน์นี้ก็ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่คุ้นแล้ว “พี่หน่วง” ในที่นี้ มาจากคลิปการ์ตูนของช่อง YouTube “PASULOL” ในตอน “กุ่ย นาย ฮอล และชีวิตติดหน่วง [The Afternoon Show with Nuang]” ซึ่งติดเทรนด์ในโลกโซเชียลในช่วงสัปดาห์กลางเดือนสิงหาคม ปัจจุบันยอดผู้ชมก่อนส่งคอลัมน์นี้อยู่ที่ 9,774,292 การรับชม เรียกว่ารอทะลุ 10 ล้านได้สบายๆ
อยากให้ท่านผู้อ่านชมคลิปดังกล่าวเอง ซึ่งไม่ยากเย็นอะไร เพียงพิมพ์หรือพูดคำว่า “หน่วง” ลงในช่องค้นหาของ YouTube ในระบบของท่านก็น่าจะหาพบเป็นคลิปแรก แต่สำหรับผู้ไม่สะดวกหรือไม่ประสงค์จะดูเองแล้ว ก็ขอสรุปคลิปการ์ตูนที่ว่าให้
เปิดเรื่องมาที่มีวัยรุ่นถือดาบมาขู่กรรโชกคนแก่กลางวันแสกๆ ที่ป้ายรถเมล์ หากเมื่อคนแก่ซึ่งเป็นเหยื่อการข่มขู่นั้นชี้ให้ดูเวลา วัยรุ่นเกเรก็มีท่าทีเปลี่ยนไปแต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะเขาถูกยานบินของพี่หน่วงดูดขึ้นไปออกรายการ “เถียงทันหน่วง” โดยรายการนี้มีพิธีกรผมสลวย “พี่หน่วง” (และบรรดาผู้คนของเขา) จัดการเชือดเป็นชิ้นๆ ก่อนโยนซากที่เหลือลงไปเป็นเหยื่อสังคม จากนั้นการ์ตูนก็จะแสดงให้เห็นความหวาดกลัวช่วงเวลา 13 นาฬิกา หรือบ่ายหนึ่ง ของคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่มียานบินพี่หน่วงคอยจับตาว่าถ้าหากใครทำตัวเป็นภัยสังคมหรือเพียงทำเรื่องงี่เง่าปัญญาอ่อน ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม หากเรื่องนั้นมีแรงดึงดูดเพียงพอ ก็อาจจะถูกยานบินพี่หน่วงมาดูดขึ้นไปเป็นเหยื่อสังคมได้ง่ายๆ
เรื่องเริ่มต้นที่ “นาย” ตัวเอกของเรื่องนั้นจะไปซื้อไก่ย่างในช่วงเวลาอันตราย โดยที่เพื่อนๆ ก็เตือนแล้วว่ายังไม่พ้นระยะเวลาทำการของยานบินพี่หน่วง แต่ “นาย” ก็เชื่อว่า ถ้าไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาก็ไม่ถูกพี่หน่วงดูดเข้าไปหรอก ถึงอย่างนั้น ด้วยความไม่ประมาทเพราะถ้าพลาดไปสะดุดขาคนพิการหรือเจอหน้าแฟนเก่าตอนมัธยมต้นเข้าก็มีความสุ่มเสี่ยงจะถูกดูดได้ “นาย” จึงต้องใส่ “ชุดกันหน่วง” ซึ่งเป็นเกราะเหล็กหนักป้องกันผู้สวมใส่จากการถูก “หน่วง” เรียบร้อยแล้วก่อนออกจากบ้าน
แต่ขณะที่เขากำลังซื้อไก่นั้น ก็พบว่าเจ้าของร้านที่ตัวเองรักและนับถือนั้น ต้องเป็นอันโดน “หน่วง” ขึ้นไปเพราะภรรยาของเจ้าของร้านไปมีชู้เป็นหนุ่มล่ำสันร่วมครึ่งโหล โศกนาฏกรรมของลุงขายไก่ย่างจบด้วยการที่เขาถูก “พี่หน่วง” เปิดแชตพูดคุยกันระหว่างภรรยาของเขากับชายชู้ให้ดูต่อหน้าผู้ชมรายการ
เมื่อเห็นข้อความด่าทอความไม่เอาไหนของฝ่ายลุงนั้นก็เชือดเฉือนเขาให้ร่วงลงมาแหลกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยต่อหน้า “นาย” ที่ในตอนนั้นเองที่เขาได้ตระหนักแล้วว่าการถูก “หน่วง” ขึ้นไปแล้วกลับลงมาแบบไม่เหลือชิ้นดีนั้นไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือเป็นฝ่ายกระทำก็ได้ แม้เป็นผู้ถูกกระทำก็อาจถูก “หน่วง” ขึ้นไปประสบชะตากรรมอันน่าเศร้าก็ได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาพยายามที่จะถูกดูดขึ้นไปบนยานบินพี่หน่วงเพื่อทำการแก้แค้นให้ลุงขายไก่ย่าง
ผู้ชมการ์ตูนคลิปนี้และมีชีวิตในกระแสสังคมระดับหนึ่ง ก็น่าจะรู้และจับคู่ได้ทันที ว่า “พี่หน่วง” นั้นคือ “หนุ่ม” กรรชัย กำเนิดพลอย และรายการ “เถียงทันหน่วง” ก็คือรายการ “โหนกระแส” ทางช่อง 3 ที่นำประเด็นข่าวที่เป็นกระแสในสังคมมาจัดรายการแบบทอล์กโชว์ โดยเอาผู้เกี่ยวข้องมาเผชิญหน้ากัน
เป็นที่รู้กันว่าในช่วงสองสามปีหลังนี้ รายการ “โหนกระแส” ของ หนุ่ม กรรชัย นั้นมีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเรตติ้งมหาศาลจากการรับชมสดในโทรทัศน์และการดูคลิปย้อนหลังในช่องทางออนไลน์ และประเด็นสำคัญหลายเรื่องซึ่งเป็นที่สนใจหรือกล่าวขวัญกันในสังคมก็ถูกชำระคลี่คลายหรือจบลงได้ผ่านรายการของกรรชัย มีไปถึงขั้นถูกดำเนินคดีต่อตามกฎหมาย ที่จำได้คร่าวๆ คือน่าจะมีเกินสองกรณีแล้วที่มีผู้มาออกรายการซึ่งมีหมายจับคาอยู่ก็ถูกเจ้าหน้าที่มารอจับกุมกันหน้าห้องส่ง
ความน่าสนใจของการ์ตูน “ชีวิตติดหน่วง” คือการจับเอาความรู้สึกของคนกลุ่มหนึ่งในสังคม ที่อาจจะเป็นผู้ที่ติดตามรายการโหนกระแสและรายการอื่นในแนวนี้ด้วยก็ได้มาขยายถ่ายทอด คือความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่ยอมรับว่าตัวเองกำลังรู้สึกบันเทิงหรือสะใจกับสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ศาลเตี้ย” และกลไกระงับข้อพิพาทหรือลงโทษที่ “ไม่ดีต่อสุขภาวะ” ในเชิงความเป็นธรรมโดยรวมของสังคมสักเท่าไร
ความฉลาดในการนำเสนอของ PASULOL นั้นอยู่ในฉากจบ เพราะหลังจากที่ “กุ่ย” “นาย” และ “ฮอล” สามารถจัดการกับยานบินพี่หน่วงได้สำเร็จแล้ว ผู้ที่มาร่วมแสดงความยินดีกับเขา คือบรรดาทุจริตชนหรือมนุษย์ภัยสังคมทั้งหลาย เช่นชายที่ชอบทำร้ายภรรยา พระนอกรีตที่เสพเมถุนกับสีกา และอาชญากรอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องกลัวถูก “ดูด” ไปให้สังคมพิพากษาอีก ซึ่งสะท้อนถึงด้านอันเป็นคุณประโยชน์ของการมีรายการประเภทนี้
จริงอยู่ที่เราอาจจะยอมรับว่าการมีอยู่ของรายการแบบโหนกระแสนั้น สามารถช่วยแก้ไขเยียวยาหรือปัดเป่าความลำบากเดือดร้อนของสังคม ขจัดคนพาลอภิบาลคนดีได้อย่างเห็นผล แต่ปัญหาก็อยู่ที่ความได้สัดส่วนและกระบวนการ เพราะอย่างที่ตัวละครสักตัวในการ์ตูนพูดไว้ว่า แต่ละปีมีผู้คนไปออกรายการพี่หน่วงเยอะกว่าถูกโจมตีจากฮิปโปโปเตมัสเสียอีก คิดง่ายๆ ว่ารายการต้นแบบของ “เถียงทันหน่วง” นั้น ออกอากาศทุกวันทำงานจันทร์ถึงศุกร์ หักลบเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการไปแล้ว ก็เท่ากับในแต่ละปีมีรายการพี่หน่วงไม่น้อยกว่า 240 ตอน ไม่รวมรายการประเภทเดียวกันอีก
ดังนั้น “ปัญหาสังคม” ทั้ง 240 กว่าปัญหาที่ถูกนำมา “คลี่คลาย” ในรายการนี้จึงมีทั้งที่เป็นปัญหาสังคมจริงจังที่กระทบกับคนหมู่มาก หรือแม้แต่ปัญหาสังคมระดับท้องถิ่นชุมชน หรือเป็นปัญหาแค่ของคนในหมู่บ้านหมู่บ้านเดียวก็ได้ รวมถึงหลายกรณีก็จะเรียกว่าปัญหาสังคมก็กระดากปากอยู่ เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนสองสามคน หรืออย่างมากก็ไม่เกินสิบคนเท่านั้นที่จะถือว่าเป็นผู้เสียหายหรือมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นจริงๆ ส่วนสังคมนั้นถ้าจะเกี่ยวด้วยก็แค่เรื่องของความสนใจอยากเข้าไปมีส่วนรับรู้ในปัญหาของคนที่เราไม่รู้จักผ่านหน้าจอเท่านั้นเอง
แต่ “ปัญหา” และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้นไม่ว่าจะมากน้อยหนักเบา ก็จะถูกนำขึ้นสู่ “กระบวนการ” ซักฟอกทางสังคมผ่านรายการโทรทัศน์ด้วยมาตรฐานความหนักเบาเดียวกันทั้งหมด เท่ากับว่ามิจฉาชีพที่ฉ้อโกงประชาชนมูลค่าความเสียหายเป็นล้านกับหญิงสาววัยไม่ถึงเบญจเพสที่นอกใจคนรัก ก็จะต้องถูก “ดำเนินคดี” และ “ตัดสิน” โดยพิธีกรและสังคมด้วยกระบวนการและมาตรฐานการไต่สวนอย่างเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ความที่รายการโทรทัศน์นั้นไม่ใช่ “ศาล” ที่จะต้องมีมาตรฐานความเป็นธรรมและปกป้องพยาน แต่เพราะความเป็นรายการทอล์กโชว์ข่าวที่จะต้องสร้างความบันเทิงให้ผู้ชม ดังนั้นตัวของพิธีกรเองจึงต้องดำเนินการค้นหาความจริงหรือไต่สวนด้วยวิธีการที่สร้างความบันเทิงให้ผู้ชมด้วย รวมถึงผู้ช่วยต่างๆ ก็จะต้องแสดงบทบาทที่หวือหวาเพื่อความบันเทิงนั้น เช่นทนายความที่มีท่าทีกระโชกโฮกฮาก เอะอะก็จะเตะปากคู่กรณี และในหลายครั้งที่การนำพยานหลักฐานขึ้นมาเปิดเผยโดยไม่ระวัง ก็อาจจะส่งผลกระทบทางจิตใจหรือชื่อเสียงของผู้ที่เข้าร่วมรายการได้ แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้เสียหายหรือแค่เป็นพยานรู้เห็นก็ตาม เหมือนเช่นกรณีลุงไก่ย่างในการ์ตูน PASULOL
น่าสนใจว่าผู้ที่เข้าไปชมคลิปมีความเห็นตรงกันหลายคนว่า “ถ้าเพียงกฎหมายทำงานของมันได้ รายการในลักษณะนี้ไม่น่าจะได้รับความนิยม” เพราะหลายเรื่องที่เป็นปัญหาสังคมจริงๆ ที่ไปออกรายการประเภทนี้ เกินกว่าครึ่งที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจะไปดำเนินการตามกฎหมายเช่นแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นเท่าที่ควร แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับว่า มันก็มีเรื่องที่ต่อให้การบังคับใช้กฎหมายโดยผู้มีอำนาจรัฐนั้นจะเป็นไปได้โดยสมบูรณ์แล้ว กลไกทางกฎหมายก็ยัง “แพ้” ให้แก่ความคาดหวังของสังคมเมื่อเทียบกับรายการประเภทนี้ได้อยู่ดี นั่นเพราะกฎหมายมีข้อจำกัดสองเรื่องใหญ่ๆ
ประการแรกคือ กลไกทางกฎหมายนั้นจะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาให้คู่กรณีสามารถต่อสู้กันได้ด้วยพยานหลักฐานประกอบข้ออ้างข้อเถียงอย่างเป็นธรรมมากที่สุด เพื่อตุลาการที่จะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาจะสามารถตัดสินความตามกฎหมายนั้นได้ด้วยข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุด กระบวนการนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องใช้เวลามากกว่าการจับมานั่งถกไล่ไต่สวนกันในรายการโทรทัศน์พร้อมพิพากษาได้ทันทีภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งแม้ความยุติธรรมที่ล่าช้าจะเท่ากับความไม่เป็นธรรม แต่ความยุติธรรมที่รวดเร็วและเอาแต่ใจบางฝ่ายจนเกินไป ก็ไม่เป็นธรรมไม่ต่างกัน
สำหรับข้อจำกัดต่อมานั้นเป็นเพราะผลการบังคับตามกฎหมายไม่ว่าจะโดยการลงโทษหรือกระบวนการอื่นก็ยังต้องอยู่บนหลักแห่งความได้สัดส่วนตามความร้ายแรงและพฤติกรรมของแต่ละกรณีด้วย ดังนั้นหลายเรื่องที่ต่อให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มตามโทษ ก็ไม่ได้แปลว่าฝ่ายที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจะพอใจ หรือช่วยแก้ไขปัญหาให้สังคมหรือชุมชนได้ ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือกรณีของผู้ที่เป็นต้นแบบตัวละคร “เอ็ม สายเต๊าะ” ที่ทำตัวเกเรรบกวนผู้คนในหมู่บ้านนั้นจนผู้อาศัยคนอื่นๆ ถ้าย้ายบ้านหนีนายคนนี้ได้ง่ายๆ ก็คงทำแล้ว แม้สุดท้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะตื่นขึ้นมาจับกุมดำเนินคดี แต่ก็เพราะว่าส่วนที่เป็น “ความผิดตามกฎหมาย” ของเขาจริงๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นความผิดลหุโทษเล็กน้อยหรือไม่ก็ความผิดระดับกลางตามกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธเท่านั้น ดังนั้นต่อให้ศาลลงโทษอย่างหนักเต็มตามข้อหา อย่างมากเขาก็อาจจะติดคุกไม่เกินหนึ่งปีก็กลับมาเป็นฝันร้ายให้ผู้คนในหมู่บ้านใหม่ให้ผู้คนรู้สึกว่ากฎหมายทำงานไม่ได้จริงอยู่ดี
การมีอยู่ของรายการแบบ “เถียงทันหน่วง” นี้จึงเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปจนถึงที่สุด ต่อให้กฎหมายทำงานเต็มที่แล้วก็ตาม หากชั่งน้ำหนักถึงอันตรายของกระบวนการศาลเตี้ยเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม การที่การ์ตูน PASULOL นี้ยังไม่ถูกทัวร์ลง มียอดผู้เข้าชมและชื่นชอบเห็นด้วยเป็นความเห็นข้างมากอย่างมีนัยยะ ก็อาจจะพอชี้แสดงได้ว่า ที่แท้แล้วสังคมก็ยังตระหนักถึงปัญหาของการมีรายการในรูปแบบนี้ แต่ด้วยข้อดีและประโยชน์ในหลายกรณีทำให้ต้องทนยอมรับการมีอยู่ต่อไปก็ได้
ล่าสุดได้ทราบว่า ผู้สร้างการ์ตูน PASULOL นี้ก็ถูก “พี่หน่วง” ดูดขึ้นยานบินไปแล้ว แต่ด้วยท่าทีที่ปรากฏออกมาก็ดูเหมือนจะไปในทางเป็นมิตร ก็ได้แต่หวังว่าการรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองกัน อาจจะช่วยกล่อมเกลาให้กระบวนการของพี่หน่วงนี้มีขอบเขตที่สังคมกระอักกระอ่วนลดน้อยลงได้บ้าง
กล้า สมุทวณิช
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : แม่ค้าทองออนไลน์ ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางความรู้เท่าทัน (ซึ่งทำให้เราต้องขอบคุณที่ประเทศนี้ยังมี‘พี่หน่วง’)
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ความทะเยอทะยาน ความหวัง ของ ‘ตาคลี เจเนซิส’
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : การ ‘ตื่นรู้’ และ ‘ความหลากหลาย’ ที่ล้มเหลว
- คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : เรายอมรับการถูกโบยตีโดยสมัครใจเพื่อชัยชนะหรือความสำเร็จได้แค่ไหน?