ย้อนไทม์ไลน์คดีเลือด 99 ศพ สังหารหมู่กลางกรุง จากทวงถามความเป็นธรรม ถึงประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อพรรคเพื่อไทย ประกาศมติกรรมการบริหารพรรค ให้ส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาร่วมรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร 1
หลังจากมีมติเขี่ยพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วม ไม่ไยดี 39 เสียง ที่ยกมือโหวตให้กับ น.ส.แพทองธาร
ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นมากมาย ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือท่าที ที่ทวงถามถึงความยุติธรรมของคนเสื้อแดง ที่ต้องสละชีวิตไปในการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553
แม้แกนนำพรรคเพื่อไทย ส.ส. ทั้งที่เคย และไม่เคยเป็น นปช. จะออกมาประสานเสียงว่าคนเสื้อแดงเข้าใจ และพร้อมจะปล่อยผ่านความขัดแย้งที่ผ่านมา
แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียงเรียกร้อง และการทวงถามความยุติธรรมที่เกิดขึ้น ลดน้อยลง
วันนี้ มติชนออนไลน์ พาย้อนอดีตไปดูที่มาที่ไป ของคดีเลือด 99 ศพคนเสื้อแดง ที่ถูกสังหารหมู่อย่างอำมหิตกลางกรุงเมื่อปี 2553 มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
ก่อนจะเข้าใจเหตุการณ์ปี’53 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับทราบบริบททางการเมือง ในยุคสมัยนั้น ที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โค่นอำนาจนายกฯทักษิณ ชินวัตร โดย คมช. ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ที่อาศัยสถานการณ์สุกงอม ของม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาลงมือ
การเคลื่อนไหวของมวลชนในลักษณะต่อต้านรัฐประหาร ก็เริ่มก่อตัวขึ้นหลากหลายกลุ่ม ก่อนจะมีกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงของ บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่นัดกันใส่เสื้อแดงทุกวันอาทิตย์ รวมตัวกันตามสถานที่ต่างๆ
จนทำให้เสื้อแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
และในกลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหว ก็มี กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือที่ใช้ชื่อย่อว่า นปก. เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด
ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.
ห้วงเวลาของรัฐบาลรัฐประหาร ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯนั้น เกิดการชุมนุมต่อต้านอำนาจเผด็จการอยู่บ่อยครั้ง
ครั้งที่สำคัญที่สุด คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2550 เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลาออกจากประธานองคมนตรี เพราะเข้าใจว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2549
เหตุการณ์ชุมนุมครั้งนั้น จบลงด้วยการสลายการชุมนุม แก๊สน้ำตา อิฐตัวหนอนปลิวว่อน กลายเป็นคดีความที่แกนนำหลายคน ถูกศาลพิพากษาจำคุกในปัจจุบัน
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็มีการชุมนุมอยู่บ้างประปราย จนกระทั่งเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร ให้การสนับสนุนชนะเลือกตั้ง
ส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ก็ไม่ได้บริหารงานได้สะดวก เนื่องจากม็อบพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ก็ฟื้นคืนชีพ เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และสนามบินสุวรรณภูมิ
ท่ามกลางข้อครหาว่าเป็นม็อบมีเส้น ที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.สมัยนั้น ก็ปฏิเสธจะสลายการชุมนุม
โดยให้เหตุผลว่า การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง
ในที่สุดนายสมัครก็พ้นเก้าอี้นายกฯ จากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
นายกฯ คนต่อมา คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องไปตั้งทำเนียบชั่วคราว ที่สนามบินดอนเมือง
แต่ก็ถูกม็อบเสื้อเหลือง บุกเข้ายึดอีก
สุดท้ายนายสมชายต้องพ้นจากนายกฯ เพราะศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน
หลังจากนั้นแกนนำพรรคพลังประชาชน ก็ไปตั้งพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีกลุ่มหนึ่ง นำโดย นายเนวิน ชิดชอบ ไปตั้งพรรคภูมิใจไทย สร้างตำนานงูเห่า ตั้งนายกฯในค่ายทหาร
โหวตให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 27
การเมืองเรื่องมวลชน เริ่มเผชิญหน้ารุนแรง เมื่อม็อบเสื้อเหลือง สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ขณะที่ม็อบเสื้อแดง แสดงการต่อต้าน และเรียกร้องให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
ห้วงเวลานั้น คดีเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับถูกตัดสินออกมาผิดแผกแตกต่างกัน จนคำว่า 2 มาตรฐาน ถูกนำมาเรียกขานเป็นฉายาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นอกเหนือจากคำว่า ดีแต่พูด
ม็อบเสื้อแดงเริ่มชุมนุมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนช่วงก่อนสงกรานต์ปี 2552 มีการจัดม็อบใหญ่ ตั้งเวทีด้านนอกทำเนียบรัฐบาล และดาวกระจายไปยังที่ต่างๆ
ส่วนหนึ่ง ไปปิดการประชุมผู้นำอาเซียน ที่พัทยา จนปะทะกับมวลชนสีน้ำเงิน ส่วนใน กทม. ม็อบบุกเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เตรียมแถลงมาตรการสลายม็อบ จนเกิดเหตุปะทะ
นำมาซึ่งการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงในวันที่ 13 เมษายน 2552 นำโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ถูกขนานนามเหตุการณ์นั้นว่า สงกรานต์เลือด
หลังการสลายชุมนุมรุนแรง แกนนำตัดสินใจยุติการชุมนุม ไม่ให้สูญเสียมากขึ้น และเหตุการณ์บานปลาย
แต่ความคับแค้นที่เกิดขึ้นในจิตใจของประชาชนก็ยังคงอยู่
หลังจากทบทวนบทเรียนในปี 2552
คนเสื้อแดง โดย นปช.กลับมาอีกครั้งในปี 2553 โดยหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำตัดสินยึดทรัพย์ นายทักษิณ 76,000 ล้านบาท
คนเสื้อแดงก็นัดหมายทันที ดีเดย์ 14 มีนาคม 2553 ระดมกำลังจากทั่วประเทศเข้ามาชุมนุม โดยตั้งเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
เกิดวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ จุดประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และ ความเท่าเทียม รวมทั้งเรื่อง เขายายเที่ยง และ รุกที่ดินเขาสอยดาว
ซึ่งระหว่างการชุมนุม นายทักษิณก็วิดีโอคอลมาหามวลชนเป็นระยะๆ
นายอภิสิทธิ์ต้องอพยพเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการภายในค่ายราบ 11 รอ. ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ขึ้นมารับมือ
ระหว่างนั้นม็อบเสื้อแดง เริ่มรณรงค์ทำกิจกรรม มีการบริจาคเลือด 1 ล้านซีซี เอาไปละเลงหน้าทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และบ้านนายอภิสิทธิ์ ในวันที่ 16 และ 17 มีนาคม 2553
วันที่ 28 มีนาคม นปช.ประกาศบุกราบ 11 อีกครั้ง จนนายอภิสิทธิ์ถูกกดดันให้ตั้งโต๊ะเจรจา ใช้สถาบันพระปกเกล้าฯ เป็นที่พูดคุย
ฝ่ายรัฐบาลนำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์
ส่วน นปช.คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นพ.เหวง โตจิราการ มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ แต่ไม่เป็นที่ยุติ
การชุมนุมดุเดือดขึ้นอีก มีการเคลื่อนพลดาวกระจายนัดหมายระดมใหญ่จากทั่วประเทศอีกครั้งในวันที่ 3 เมษายน 2553
วันที่ 2 เมษายน 2553 ม็อบเสื้อแดง ดาวกระจายทั่วกรุง ก่อนเคลื่อนไปยึดที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 3 เมษายน ตั้งเวทีคู่ขนาน ยืนยันต่อสู้จนกว่าชนะ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยอมยุบสภา
รัฐบาลสั่งปิดพีซทีวี ซึ่งเป็นโทรทัศน์ดาวเทียมของคนเสื้อแดง จนวันที่ 9 เมษายน 2553 ม็อบบุกยึดสถานีไทยคม ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เปิดจอขึ้นใหม่อีกครั้ง
10 เมษายน 2553 นายอภิสิทธิ์สั่งกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ภายใต้วาทกรรมขอคืนพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทหารบุกสลายม็อบตั้งแต่บ่ายยันค่ำ ปะทะนองเลือดที่ถนนดินสอ และแยกคอกวัว ส่งผลให้ทหารและประชาชนเสียชีวิตหลายสิบศพ
โดยฝ่ายทหารคือ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่ถูกระเบิดเสียชีวิต และจนป่านนี้ยังไม่ทราบที่มาของระเบิดดังกล่าว
สื่อต่างชาติ อย่าง นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ นักข่าวญี่ปุ่นของรอยเตอร์ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการเผยแพร่ภาพทหารใช้อาวุธจริงยิงใส่ประชาชน ขณะที่รัฐบาลเปิดภาพอ้างมีชายชุดดำมาสร้างสถานการณ์
14 เมษายน 2553 ม็อบ นปช.ที่ถนนราชดำเนินประกาศยุติ แล้วเคลื่อนขบวนไปรวมกันที่แยกราชประสงค์
22 เมษายน 2553 มือมืดยิงเอ็ม 79 ถล่มสีลม ศาลาแดง 5 ลูก มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บกว่า 70 คน
23 เมษายน 2553 ม็อบยอมถอย ยื่นเงื่อนไขให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาภายใน 30 วัน แล้วจะยุติการชุมนุม แต่นายอภิสิทธิ์ไม่ยอมรับ
24 เมษายน 2553 การเจรจาระหว่างรัฐบาลและ นปช.ยุติลง โดยคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ ไม่รับเงื่อนไขยุบสภาใน 30 วัน
25 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมขนกำลังสับเปลี่ยนจากต่างจังหวัดเข้ากรุง เพื่อคุมม็อบ กลุ่มเสื้อแดงจึงไปตั้งกำลังสกัด ปิดถนนพหลโยธิน ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
26 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ เข้าสลายการชุมนุมที่ถนนพหลโยธิน เปิดทางให้เคลื่อนกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง
28 เมษายน 2553 นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำ นปช. นำขบวนคนเสื้อแดงไปเยี่ยมคนที่ถูกจับที่ จ.ปทุมธานี ถูกตำรวจ-ทหารสกัดจนปะทะกันที่ถนนวิภาวดี หน้าอนุสรณ์สถาน ดอนเมือง มีพลทหารดับ 1 ราย คาดถูกกระสุนพวกเดียวกัน ม็อบเลิกขบวนยกทัพกลับที่ราชประสงค์
29 เมษายน 2553 นายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช. นำคนเสื้อแดงบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ อ้างว่าเห็นทหารมาตั้งกำลังเตรียมสลายม็อบ จน รพ.จุฬาฯ ต้องสั่งปิดชั่วคราว
3 พฤษภาคม 2553 นายอภิสิทธิ์กล่าวผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทย ว่าหากสถานการณ์บ้านเมืองสงบ อาจมีการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน และรับปากตั้งกรรมการอิสระสอบเหตุนองเลือด วันที่ 10, 22 และ 28 เมษายน
4 พฤษภาคม 2553 แกนนำ นปช.ยอมรับโรดแมปปรองดอง แต่จี้ให้นายอภิสิทธิ์ประกาศวันยุบสภาให้ชัดเจน
6 พฤษภาคม 2553 ม็อบพันธมิตรฯ ออกแถลงประณามแผนปรองดองของนายอภิสิทธิ์ พร้อมไล่นายอภิสิทธิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ
10 พฤษภาคม 2553 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในขณะนั้น รผอ.ศอฉ. เข้ารับทราบข้อหาสลายม็อบ 10 เมษา 53 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อลดเงื่อนไขข้อเรียกร้องม็อบ
12 พฤษภาคม 2553 นายอภิสิทธิ์ประกาศเลิกแผนเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน พร้อมประกาศตัดน้ำตัดไฟ คุมเข้มไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ราชประสงค์
13 พฤษภาคม 2553 สไนเปอร์ เด็ดหัว เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หลังจากให้สัมภาษณ์สื่อ ที่แยกศาลาแดง คาดมือปืนซุุ่มยิงจากฝั่งตรงข้าม
14 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ ประกาศเขตกระสุนจริง ยิงปะทะม็อบเสื้อแดง รอบพื้นที่ชุมนุม ทั้งที่ถนนพระราม 4 ถนนราชปรารภ แยกดินแดง ม็อบใช้ยางรถยนต์เผาอำพราง กลายเป็นเหตุจลาจล มีคนตาย 5 คน บาดเจ็บ 80 ราย
15 พฤษภาคม 2553 การล้อมปราบยังคงดำเนินต่อไป ทหารไล่ปราบผู้ชุมนุมและประชาชน ย่านรางน้ำ สามเหลี่ยมดินแดง ในจำนวนนี้มี ด.ช.อีซา ศรีสุวรรณ วัยเพียง 14 ปี ถูกกระสุนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตด้วย ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 24 ศพ บาดเจ็บ 179 ราย
นายอภิสิทธิ์แถลงไม่ยอมถอย ไม่ให้ม็อบจับกรุงเทพฯเป็นตัวประกัน
16 พฤษภาคม 2553 เกิดมิคสัญญีเป็นวันที่ 3 มีภาพสไนเปอร์ หน้าสนามมวยลุมพินี ถนนพระราม 4 ยิงคนที่ล้มไปแล้ว รัฐาลสั่งห้ามบุคคลและองค์กรธุรกิจ 106 แห่งทำธุรกรรม เพื่อไม่ให้สนับสนุนม็อบ ยอดผู้เสียชีวิต 29 ศพ เจ็บ 221 ราย
17 พฤษภาคม 2553 กลายเป็นสงครามกลางเมือง จุดปะทะขยายไปทั้งที่ดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ราชปรารภ ประตูน้ำ ศาลาแดง ลุมพินี บ่อนไก่ คลองเตย ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเป็น 35 ศพ บาดเจ็บเกือบ 300 ราย
18 พฤษภาคม 2553 ส.ว.มีมติให้ทหารหยุดยิง พร้อมขอเป็นตัวกลางเข้ามาช่วยเจรจา โดยตัวแทน ส.ว.เข้าไปเจรจาแกนนำม็อบในตู้คอนเทนเนอร์หลังเวทีชุมนุม ซึ่งหลังจากนั้นเหมือนเหตุการณ์จะคลี่คลายได้ข้อตกลงหยุดยิงร่วมกัน
19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว บุกเข้าสลายม็อบราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 06.45 น. ใช้รถหุ้มเกราะเข้าทลายบังเกอร์ตรงสวนลุมพินี มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลายราย
เวลา 13.20 น. แกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุม พร้อมมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ยึดครองพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ แต่กลับเกิดไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างเซ็นเตอร์วัน โรงภาพยนตร์สยาม
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ศพเกิดขึ้นภายในวัดปทุมวนาราม
โดยหลังจากที่แกนนำ นปช.ประกาศยุติชุมนุม เกิดระเบิดลงรอบข้างสี่แยกราชประสงค์หลายลูก ตามด้วยเสียงปืนอีกหลายนัด
ผู้ชุมนุมทยอยออกจากเวทีราชประสงค์ เข้าไปในวัดปทุมวนาราม ที่ประกาศให้เป็นเขตอภัยทาน ขณะที่บางส่วนไปหลบใน รพ.ตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หลังเสียงระเบิดเบาลง เสียงปืนก็ดังเข้ามาแทนที่ สร้างความแตกตื่นให้กับผู้ชุมนุมต้องวิ่งหนีหลบกระสุนกันจ้าละหวั่น
เวลา 15.00 น. ผู้ชุมนุมที่หลบเข้าไปในวัดปทุมวนาราม มีประมาณ 3 พันคน ส่วนมากเป็นเด็ก ผู้หญิง และคนชรา กระจายอยู่ในบริเวณวัด
17.00 น. เริ่มมีการกราดยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย
18.00 น. นายกิตติชัย แข็งขัน ถูกยิงที่กลางหลัง วิ่งเข้ามาขอความช่วยเหลือที่เต็นท์พยาบาล รอดชีวิตปาฏิหาริย์
ช่วงเดียวกันนั้น นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี ที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่หน้าประตูวัด ได้ยินเสียงปืนจึงหันหลังวิ่งเข้ามาในวัด ก่อนถูกยิงจากแนวราบเข้าที่หลังทะลุหน้าอก สิ้นใจที่ลานจอดรถ
นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี วิ่งเข้าไปพยุงร่างนายอัฐชัย ถูกกระสุนตัดขั้วหัวใจ เสียชีวิตเป็นศพที่ 2
19.00 น. มีการโยนแก๊สน้ำตาข้ามกำแพงหลังวัดใส่ผู้ชุมนุม คนในวัดต้องใช้หน้ากากปิดหน้าปิดจมูก วิ่งหลบมาที่เต็นท์พยาบาลที่ประตูหน้าวัด แต่เมื่อมาถึงถูกกราดยิงใส่ล้มลงหลายราย
น.ส.กมนเกด อัคฮาค อายุ 25 ปี พยาบาลอาสา ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บถูกกราดยิงจมกองเลือดภายในเต็นท์พยาบาล ขณะกำลังดูแลคนเจ็บ น้องเกด ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ และยิงซ้ำที่ร่างหลายนัด ดิ้นทุรนทุราย เสียชีวิตเป็นรายที่ 3
นายอัครเดช ขันแก้ว อายุ 22 ปี อาสาพยาบาลอีกคน วิ่งเข้าไปช่วยเหลือน้องเกด แต่ถูกยิงเข้าที่ไหล่ขวา กระพุ้งแก้ม ก้นกบ อีก 2 นัด ล้มนอนชักอยู่ที่เต็นท์พยาบาลเป็นเวลานาน
กว่าที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพจะเข้าไปช่วยเหลือ ลากร่างนายอัครเดชเข้ามาด้านใน แล้วมัดตัวไม่ให้ดิ้น เพื่อไม่ให้เสียเลือด และพยายามนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในช่วง 24.00 น.
ก่อนนั้นเวลา 20.00 น. มีผู้แบกร่างนายรพ สุขสถิตย์ อายุ 66 ปี ในสภาพถูกยิงเลือดโชก เข้ามาที่เต็นท์พยาบาล แต่เสียชีวิตก่อน
21.00 น. นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 31 ปี ที่ปีนต้นไม้ดูเหตุการณ์บริเวณวัดปทุมวนาราม พร้อมตะโกนบอกให้นักข่าวหลบเข้าที่ปลอดภัย ถูกยิงร่วงจากต้นไม้ ตกลงมาเสียชีวิต
ตลอดทั้งคืนมีแต่เสียงปืนยิงเข้ามา มีผู้บาดเจ็บนับ 10 ราย รวมทั้งผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ต้องดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะรถพยาบาลไม่สามารถฝ่าดงกระสุนเข้ามารับได้
ตลอดคืนทั้งหมดต้องอยู่กับความมืดมิด อดข้าว อดน้ำ นอนขดตัวอยู่กับศพ ผวากับเสียงปืนด้านนอกที่ยิงเข้ามาตลอด
เช้าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ในขณะนั้น นำกำลังอรินทราช และรถ 6 ล้อเคลื่อนเข้ามาในวัด ประกาศให้หยุดยิง แล้วตั้งแถวเป็นเกราะกำบังให้ประชาชน
เสียงปืนจึงหยุดลงและนำคนเจ็บส่งรักษาที่โรงพยาบาลได้
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
ยังมีคดีความอีกมาก ที่ทั้งแกนนำ และประชาชนคนธรรมดา ต้องต่อสู้ ติดคุก ติดตะราง
ยังมีญาติผู้สูญเสียที่พยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนฆ่า และคนสั่งฆ่า แม้เหตุการณ์จะผ่านมานาน 14 ปี
แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งลืมเลือน พยายามจะลบเหตุการณ์เลือดครั้งนี้ออกจากประวัติศาสตร์
แต่ก็ยังมีการบันทึกเอาไว้ว่า 1 ในเส้นทางประชาธิปไตยไทย ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากซากศพของคนเสื้อแดงเหล่านี้
และหวังว่าสักวันหนึ่งจะคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้