ผู้เขียน | ชโลทร |
---|
⦁…เข้าสู่ “กันยายน” ไทม์ไลน์ “รัฐบาลอิ๊งค์ 1” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา 16 ก.ย. รุ่งขึ้นเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ประชุม ครม.ชุดใหม่นัดแรก 17 ก.ย.เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยน ด้วยเป็น “รัฐบาลข้ามขั้ว” และมี “พรรคประชาชน” ที่อวตารมาจาก “พรรคก้าวไกล” ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านเหมือนเดิม แต่หากมองลึกไปในรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดปรากฏการณ์ที่ส่งผลให้ต้อง “ตีความใหม่” อย่างน่าติดตาม
⦁…เริ่มจาก “นายกรัฐมนตรี” เปลี่ยนจาก เศรษฐา ทวีสิน มาเป็น แพทองธาร ชินวัตร ที่ความแตกต่างอยู่ที่ “ระยะห่าง” จาก ทักษิณ ชินวัตร ที่เที่ยวนี้แสดงออกชัดเจนว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครอง” หมายถึง “การดูแลประคบประหงมใกล้ชิด ให้ประสบความสำเร็จอย่างปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้” เมื่อทุกอย่างอยู่ในสายตาของมือระดับ “ทักษิณ” ความแตกต่างย่อมเกิดขึ้น ซึ่งแสดงออกให้เห็นบ้างแล้ว ทั้ง “วิชั่น” และ “กระบวนวิธีการสร้างผลงาน” ที่จะไม่ใช่ “ขยันไม่รู้เหน็ดเหนื่อย” อย่าง “เศรษฐา” แต่จะเป็น “ใส่พลังเต็มที่เพื่อความสำเร็จของงาน” แบบ “ทักษิณ”
⦁…ความแตกต่างต่อมาเป็นการ “เขี่ยพรรคพลังประชารัฐ” ออกไป จัดการให้เหลือเพียงกลุ่มที่คอนโทรลโดย ธรรมนัส พรหมเผ่า มือสร้างฐานเสียงของ “ไทยรักไทย” เดิม ลดอิทธิพล “3 ป.” เหลือบทบาทไว้ให้แค่ “กปปส.” ในเสื้อคลุม “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่น่าสนใจคือการควบคุมทิศทางขององค์กรอิสระ ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็น “อำนาจอธิปไตยที่ 4” ที่ ทักษิณ ชินวัตร เพิ่งให้นิยามไปว่าเป็น “อำนาจที่ล้นเกิน” โดยย้ำว่าจะ “ต้องแก้ไข” ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายน่าจะอยู่ที่การจัดการโครงสร้างให้มีส่วนยึดโยงกับ “อำนาจประชาชน”
⦁…การยก ภูมิธรรม เวชยชัย ขึ้นเป็น “รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ก็น่าสนใจ ด้วยใน “รัฐบาลเศรษฐา” ค่อนข้างระมัดระวังไม่เข้าไปยุ่มย่ามงานด้าน “ความมั่นคง” มากนัก การวาง สุทิน คลังแสง ไปนั่งว่าการกลาโหม เป็นที่รู้กันว่าแค่เพื่อ “ประสานงานกองทัพกับฝ่ายการเมือง รับข้อเสนอ และการสนองของแต่ละฝ่ายไปรายงานโดยระมัดระวังแรงเสียทาน” แต่ความคาดหวังในระดับ “ภูมิธรรม” คงไม่ใช่แค่นั้น แม้จะเห็นท่าทีของ “ความเข้าอกเข้าใจ” และ “หาช่องอธิบายให้เป็นทางออกของทุกเรื่อง” แต่การอยู่กับ “ข้อมูลด้านความมั่นคงอย่างใส่ใจ” ย่อมเป็นประโยชน์ต่อ “นักยุทธศาสตร์การเมือง” ชนิดคนละเรื่องกับ “นักพูด นักประสาน”
⦁…หากมองเห็นว่าการดึง “ประชาธิปัตย์” เข้าร่วมรัฐบาล ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยในมุมของการต้องแลกกับ “โควต้ารัฐมนตรี 2 เก้าอี้” กับ “20 เสียงสนับสนุน” เพราะ “เสียงของพรรคร่วมที่มีอยู่ก็เหลือล้นในเสถียรภาพ” อยู่แล้ว ยิ่ง “กลุ่มที่เข้าร่วม” ถูกระดับ “จิตวิญญาณพรรค” แสดงในทาง “ด้อยค่า” ไม่หยุดหย่อน และเลยมาที่ตอกย้ำการโจมตี “เพื่อไทย” หนักขึ้น ควรจะประเมินเป็น “ลบมากกว่าบวก” แต่ “เกมการเมืองในสมองทักษิณ” ยากที่คนธรรมดาจะหยั่งถึง ชวน หลีกภัย น่าจะเป็นผู้ที่รับรู้ถึง “ผลของการต้องสู้กับทักษิณ” ได้ดีที่สุด
⦁…การเขี่ย “บ้านป่ารอยต่อ” ซึ่งเป็นแหล่ง “ศูนย์รวมอำนาจเก่า” ออก แบบไม่ให้ราคา ว่าไปถือเป็นเกมที่ ทักษิณ ชินวัตร เริ่มแบบพร้อม “วางเดิมพันสูง” เพราะไม่ว่า “พล.อ.ประวิตร” จะดูไร้แรงพลังไปเสียทุกด้านแค่ไหน แต่ “บารมีเก่า” ที่เคยฝากไว้กับ “กลไกการคุมอำนาจ” ย่อมยังเหลืออยู่ และแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ไม่น้อย หากได้ผู้เชี่ยวชาญการบริหารอำนาจมาหนุนเสริม เรื่องราวที่จะกระทบต่อ “ความสงบเรียบร้อยภายในรัฐบาล” อาจจะ “ควบคุมและป้องกันไม่ได้ง่ายนัก”
⦁…หากไม่นับ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเล่าบทนำเสนอ “วิชั่น” ถือว่า “มือปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจ” ที่นำโดย พิชัย ชุณหวชิร ยังนิ่งเป็นความหวัง เมื่อได้ พิชัย นริพทะพันธุ์ มาเสริมทัพ เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ซึ่งถึงอย่างไร “สมาธิในการทำงานในกระทรวง” จะดีขึ้น เพราะ “ดูงานด้านการค้าขายของประเทศ” อย่างเดียว ไม่ต้องไปยุ่งกับ “งานการเมือง” มากเหมือนรัฐมนตรีคนก่อน ย่อมคาดหวังในผลงานที่เป็นรูปธรรมได้มากขึ้น
⦁…ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายนนี้ “สภาผู้แทนราษฎร” มีวาระพิจารณา “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568” สาระอยู่ที่การ “ตัดงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ” ไปใส่ใน “งบกลาง” เพื่อเตรียมใช้ใน “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” ที่จะเริ่มแจกทันทีหลัง “นายกฯแพทองธาร” นั่งหัวโต๊ะ ครม.อย่างเป็นทางการ ดูตัวเลขแล้ว “เงินของแต่ละกระทรวง” ถูกหั่นไปไม่น้อย โดยที่จับตากันเป็นพิเศษคือ “เงินของแต่ละกองทัพ” การอภิปรายของ “พรรคประชาชน” เป็นผู้บริหารคนละชุดกับยุค “ก้าวไกล” จึงน่าสนใจไม่น้อยว่า “แสดงบทบาทได้โดดเด่นแค่ไหน” และที่ต้องจับตาเช่นกัน เป็น “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านครั้งแรก เช่นเดียวกับ “บางส่วนของประชาธิปัตย์” ที่ยัง “วิญญาณไม่เข้าที่กับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล”





