วิพากษ์ “หน้าที่-จริยธรรม” 7สนช.ไม่ลงมติ-ลาประชุม

หมายเหตุ – ความเห็นของฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ ภายหลังนางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการลงมติของสมาชิก 7 สนช. เพื่อยืนยันว่าสมาชิกทั้ง 7 คนได้มีการลาประชุมอย่างถูกต้อง ไม่ถือว่าขาดสมาชิกภาพ

พีระศักดิ์ พอจิต

รองประธาน สนช. คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช.

ผมได้ชี้แจงไปแล้วว่าข้อมูลการลงมติไม่ใช่ความลับ เป็นข้อมูลเปิดเผย สามารถเข้าไปดูได้อยู่แล้ว ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องตัวเลขว่าของใครผิดหรือถูก เพราะตัวเลขของราชการน่าจะถูกต้องกว่า ซึ่งตัวเลขที่เลขาธิการวุฒิสภาแถลงเป็นภาพรวมทั้งปี โดยไม่ใช่เป็นการโต้แย้งไอลอว์ แต่เนื่องจากมีสื่อหาว่าประธาน สนช.อนุมัติให้สมาชิกลา 300 กว่าครั้ง จากการประชุม 400 ครั้ง ส่วนการลาถูกต้อง แต่จะเหมาะสมหรือไม่นั้น มองว่าก็คงต้องฟังเหตุผลและภารกิจของแต่ละคนด้วยว่าทำไมไม่มาลงมติ เพราะการประชุมบางวันอาจจะไม่มีการลงมติเลย แต่บางวันประชุม 2 ชั่วโมงอาจจะมีการลงมติถึง 50-60 ครั้ง จึงอยู่ระหว่างที่เราต้องหาเหตุผลเพื่อชี้แจงให้สังคมรับทราบ แต่ที่สุดสรุปว่าไม่เหมาะสม ก็เสนอให้สภามีมติว่าร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง

แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ การแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการมาเป็น สนช.อีกหนึ่งหน้าที่ เชื่อว่าเป็นเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้การทำงานแต่ละเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการนั้นๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว เป็นการสื่อสารโดยตรงกับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ อย่างเช่น การตั้งเลขาฯคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาเป็น สนช. ก็เพื่อจะให้ข้อมูลด้านเทคนิคของกฎหมายเป็นอย่างไรจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการพิจารณากฎหมาย หรือการตั้ง ผอ.สำนักงบประมาณมาเป็น สนช. ก็จะได้มาช่วยทำงบประมาณให้ได้เร็วขึ้น เป็นต้น

หลังจากนี้จะมีการทำความเข้าใจกับสมาชิก สนช.ทุกคน และจะพยายามไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก แม้ว่าจะมีภารกิจขนาดไหนก็จะต้องบริหารจัดการ โดยทางสภาจะอำนวยความสะดวกให้ อาทิ อาจจะนำกฎหมายไปรวมกันในวันพฤหัส หรือถ้าเป็นกระทู้ หรือรายงานของหน่วยงานต่างๆ ก็ให้ประชุมในวันศุกร์ เพื่อทำให้สังคมสบายใจ

Advertisement

อุดมเดช รัตนเสถียร

อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

การดูแล ส.ส.ให้เข้าประชุมสภาจะมีวิปคอยประสานงาน ซึ่งการทำหน้าที่ของ ส.ส.นั้นยากกว่าการทำหน้าที่ของ สนช. เพราะ ส.ส.ต้องทำงานในพื้นที่ของตัวเอง อาจไม่สะดวกเข้าร่วมประชุมสภา และ ส.ส.บางคนให้ความสำคัญกับงานในพื้นที่จนต้องลาหรือขาดประชุมสภา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเน้นย้ำ ส.ส.ทุกคนว่า หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรลาหรือขาดประชุม แต่เรามีความอะลุ้มอล่วยกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ และในการพิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น เรื่องของงบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ย้ำว่าต้องมาให้ได้ เพราะมีผลต่อการโหวต หากกฎหมายไม่ผ่านก็จะมีผลต่อสถานะของรัฐบาล จึงต้องเข้มงวด การพิจารณากฎหมายสำคัญ แต่ละพรรคการเมืองก็จะกำหนดบทลงโทษของตัวเอง บางพรรคจะกำหนดเลยว่า ถ้าขาดมาก ซึ่งแสดงว่าไม่รับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ ไม่มีสิทธิเข้าไปนั่งในกรรมาธิการต่างๆ เพราะต้องให้พื้นที่แก่คนที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง

ส่วน สนช. คิดว่าน่าจะควบคุมกันได้สะดวกกว่า ส.ส.มาก เพราะ สนช.ส่วนใหญ่ไม่มีภาระใดๆ เกี่ยวกับการลงพื้นที่ดูแลประชาชน แต่ก่อนจะแต่งตั้ง สนช.เข้ามาก็น่าจะพิจารณาดูว่ามีความเหมาะสมและสมควรเข้ามาทำหน้าที่หรือไม่ เพราะเมื่อเอาข้าราชการประจำมาเป็น จะเป็นปัญหาอย่างที่เห็นกันคือ เมื่องานประจำต่างก็มีอยู่ แล้วจะให้มาทำหน้าที่ สนช.ได้อย่างไร เรื่องนี้คงโทษใครไม่ได้ นอกจากคนแต่งตั้ง เพราะเรื่องนี้สะท้อนมาที่กระบวนการแต่งตั้ง ซึ่ง สนช.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีกำหนดว่าห้ามมีตำแหน่งอื่น ดังนั้น การแต่งตั้งจึงไม่ต้องคำนึงว่าเข้ามาแล้วจะทำหน้าที่ในสภาได้เต็มที่หรือไม่ หรือแต่งตั้งเพราะต้องการตอบแทนอะไรบางอย่าง จุดประสงค์ก็เหมือนกัน คือต้องดูว่าตั้ง สนช.เข้ามาทำอะไร

ถ้าต้องการให้ สนช.เข้ามาทำงานก็ต้องเลือกคนให้เหมาะกับงาน ทุ่มเทกับงาน แต่ถ้าต้องการตอบแทนบุญคุณ ก็อาจละเลยการพิจารณาถึงภารกิจประจำของคนเหล่านี้

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

เรื่องการตรวจสอบถ้าใช้ในบรรยากาศการเมืองแบบปกติ จะเป็นการตรวจสอบโดยกรรมการที่ตั้งขึ้น จากกรรมการภายในที่เป็น ส.ส.และมีการตั้งกรรมการซึ่งต้องมีการชี้มูลความผิด ดีไม่ดีไปถึงกรณีขององค์กรอิสระที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราเทียบเคียงกับกรณีการเสียบบัตรแทน ซึ่งมีการชี้มูลความผิด กระบวนการไม่ได้สรุปง่ายๆ อย่างนี้

ถ้าเรามองว่าการทำงานของ สนช.มีปัญหา แล้วเทียบเคียงกฎหมายเดิม กระบวนการต้องเป็นไปมากกว่านี้ ไม่ใช่มีข้อสรุปแค่กรรมการบอกว่าไม่มีความผิด ไม่มีเจตนาทำผิด ไม่แน่ใจว่าเป็นกฎภายใต้ข้อบังคับของ สนช.ชุดนี้หรือไม่ แต่เข้าใจว่าไม่น่าจะใช่กฎหมายปกติที่ได้ข้อสรุปอย่างนี้ เพราะต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวน ต้องหาข้อมูลความจริง และต้องชี้มูลความผิดด้วย แต่แน่นอนเวลาออกมาแบบนี้มันสะท้อนว่าอำนาจทางกฎหมายไม่อยู่ในบรรยากาศปกติ ไม่อยู่ในกฎหมายปกติที่ใช้ตรวจสอบ ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการตั้งกรรมการของ สนช.ก็ตาม แต่ผลออกมาก็เป็นลักษณะสองมาตรฐานระหว่างบรรยากาศสถานการณ์ทางการเมืองปกติที่เราเทียบเคียงกับกรณีเสียบบัตรแทนของนักการเมืองก่อนหน้านี้กับสถานการณ์ตอนนี้ มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

แม้จะอ้างว่าทำตามกฎระเบียบ ทำตามกติกา ทำตามกฎหมาย แต่น่าจะสามารถเทียบเคียงกันได้ถึงความผิด ระหว่างกรณีการเสียบบัตรแทน กับการไม่ประชุม อย่างน้อยใช้สิทธิความเป็นตัวแทน ใช้สิทธิความเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่มีเจตนาอย่างอื่นกันทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นปัญหามากคือ ในรัฐธรรมนูญเป็นอย่างหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติเป็นอีกอย่าง เป็นปัญหาในเชิงหลักการอย่างมาก ไม่เพียงเฉพาะในสถานการณ์ตอนนี้ แต่เกิดขึ้นในหลายสถานการณ์ สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญเป็นหลักการที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญในทางปฏิบัติเท่าที่ควร แต่จะให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญในบางเรื่องเท่านั้น เช่น เรื่องเกี่ยวกับการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองเป็นหลัก

แต่เรื่องอื่นๆ กลับละเลยตลอด

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

กรณีที่มีการตรวจสอบการขาดประชุมและการลงมติของ 7 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกินกว่าจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด เรื่องนี้ผมคิดว่าการที่ สนช. จำนวน 7 ท่านมาประชุมไม่ครบ แถมลงมติน้อย แต่ใช้วิธีการลาแทน ผมคิดว่าต่อไปในอนาคต หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้ ส.ส.ทำแบบอย่างตามที่ สนช.ชุดนี้เคยทำไว้ได้ ด้วยการใช้วิธีการลา ซึ่งต่อไปเราคงจะเห็น ส.ส.เขียนใบลารอไว้เป็นปึกๆ หากวันใดไปประชุมไม่ได้ก็จะให้คนขับรถยื่นใบลาแทนให้ หรือว่าท่านประชุมแค่ 15 นาที แต่อยากจะไปทำธุระข้างนอกก็จะให้ผู้ช่วยยื่นใบลาได้เลย พฤติการณ์ สนช.ที่เป็นแบบนี้ ต่อไปในอนาคต ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งคงทำตามแน่นอน เพราะฉะนั้น สนช.ในยุคปฏิรูปทำแบบนี้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องทำได้เช่นกัน เพราะมีตัวอย่างที่ทำไว้แล้ว จะสามารถทำได้

ขณะเดียวกัน ต่อไปในอนาคตคงจะไม่มีใครด่าหรือโวยวาย ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งว่าขาดประชุมเยอะ ลงมติไม่ถึงจำนวนที่กำหนดไว้ และคงจะไม่มีใครด่า ส.ส.ว่ารับเงินเดือน 2 ทาง เพราะผู้ใหญ่ในยุคปฏิรูปก็ทำแบบนี้ ซึ่งยุคหลังปฏิรูปก็ต้องเดินทางรอบนี้ได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เราเห็นว่ามีรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งรับเงินเดือนประจำตำแหน่งรัฐมนตรีทางหนึ่ง ทำนองเดียวกันรับเงินเดือนในตำแหน่ง ส.ส.อีกทางหนึ่ง ผมหวังว่าจะไม่มีใครหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาโจมตีกัน อย่างไรก็ตาม หากยังยึดตามเกณฑ์ในลักษณะนี้กับ สนช. แต่ไปใช้อีกเกณฑ์หนึ่งกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกได้เลยว่าสองมาตรฐาน

เพราะฉะนั้น หากมีการเลือกตั้งในอนาคตและมีรัฐสภา ถ้า ส.ส.ขาดประชุมและยื่นใบลาก็อย่ามาตำหนิกัน เพราะมันมีแบบอย่างที่เคยทำไว้แล้ว

ชำนาญ จันทร์เรือง

นักวิชาการด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์

คนที่ตั้งคงตั้งตามกติกาว่า เมื่อมีคนร้องก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ได้ลงโทษอะไร สอบข้อเท็จจริงว่าขาดหรือเปล่า ขาดตามนั้นไหม

แต่ประเด็นของผมที่ให้ความเห็นมาโดยตลอดคือ ประธาน สนช.พูดตั้งแต่แรกว่ามีข้อบังคับอยู่ ซึ่งข้อบังคับออกตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะนักกฎหมาย เห็นว่าข้อบังคับจะขัดหรือออกนอกเหนือรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องลงมติในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ข้อบังคับไปออกเกิน ว่าถ้าส่งใบลาได้ ถือว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำอย่างนั้นไม่ได้ ก็เหมือนหลายหลักสูตร กว่าจะได้ประกาศหรือผ่านการรับรอง แต่มันไม่ครบไม่ว่าจะโดยเหตุใดก็แล้วแต่ ถ้าเข้าไม่ครบ เขาก็ไม่ให้ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน การลาได้นั้นไม่ผิด แต่ต้องลาได้ไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ คือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นี่เป็นประเด็นปัญหาใหญ่ สำคัญตรงที่ว่าจะมีใครยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

ถ้ามีคนนำเรื่องเสนอศาลรัฐธรรมนูญ ในความเห็นเบื้องต้น คิดว่าเป็นการออกกฎหมายนอกเหนือกว่าที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ แต่ว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไรเราก็ไม่รู้ แต่น่าจะมีเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ถ้าเข้าไม่ครบตามวิชาที่เขาให้ก็ต้องหมดสภาพไป

การตั้งกรรมการที่เป็น สนช. มาสอบ สนช. เป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว แต่ว่าผลเป็นอย่างไรเราก็รู้อยู่แล้ว คงสอบเป็นพิธีเท่านั้นเอง หากเป็นกรณีการตั้งกรรมการสอบข้าราชการ ต้องใช้ข้าราชการจากต่างกระทรวง โดยระดับของประธานสอบต้องไม่ต่ำกว่าคนถูกสอบ อย่าง สนช. ถือว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ จะข้ามฝ่ายไม่ได้ เพียงแต่ว่าผลที่ออกมาก็เป็นที่คาดเดาได้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

ถามว่า ปกติ ส.ส., ส.ว. มีการควบคุมอย่างไร มีกรรมาธิการสภา มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช็กข้อบังคับ เข้าครบไม่ครบ ลงมติไหม กรณีถ้าผิดจริงต้องขาดสมาชิกภาพ คงไม่ใช่เรื่องวินัย เพียงแต่ว่าทำไม่ครบตามที่ข้อบังคับกำหนดก็ต้องพ้นสภาพไป ถือว่าขาดคุณสมบัติ ไม่มีการลงโทษทางวินัย

ถามว่าเข้าข่ายการขาดจริยธรรมร้ายแรงไหม คำว่าเข้าข่ายขาดจริยธรรมนั้นความหมายกว้าง แต่บางคนนั้นมาไม่ได้จริงๆ ด้วยเหตุจำเป็นทางราชการ เกิดไปอยู่ที่หน่วยงานราชการ ก็คงไม่เข้าข่ายขาดจริยธรรม ต้องดูเป็นรายกรณีไป ถ้าถามว่าขาดคุณสมบัติไหม ผมคิดว่าขาด แต่ถ้าเป็นข้าราชการบำนาญแล้วก็ยังไม่มา อันนี้เข้าข่ายละทิ้งหน้าที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image