แม้จะมีอุปสรรคขวางหน้าในการผนวกรวมรัฐบาล อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร แต่เมื่อคิดจะเดินหน้าก็ต้องหน้าเดิน ล่าสุดรายชื่อว่าที่รัฐมนตรีในรัฐบาลอิ๊งค์ได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ และเริ่มส่งคืนสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว
เมื่อได้รับการตรวจสอบจนมั่นใจว่าไม่มีอะไรผิดข้อกฎหมายแล้ว ต่อไปคือการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายว่า ครม.ชุดใหม่จะปฏิบัติหน้าที่ได้วันที่ 15 กันยายน
ในโอกาสที่รัฐบาลใหม่กำลังจะมาแทนรัฐบาลชุดเดิม ขอนำคำแนะนำจาก นายวิษณุ เครืองาม มาตอกย้ำอีกครั้ง
เมื่อครั้งที่ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ นายวิษณุเคยบอกสูตรบริหารที่ต้องเจอสภาพ 4P เอาไว้
P1 Power อยากทำ แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ
P2 Public budget อยากทำ มีอำนาจ แต่ติดที่งบประมาณ
P3 Personnel ติดที่บุคลากร อยากทำแต่ไม่มีคนที่มีความรู้เรื่องนั้นๆ
และ P4 Public opinion อยากทำ มีเงิน และสามารถทำได้ แต่ติดที่ความเห็นประชาชน
หากประชาชนยังไม่ยอมรับก็คงดำเนินการใดๆ ได้ยาก
จากข้อจำกัด 4P ดังกล่าว หากเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลเศรษฐา กับรัฐบาลอิ๊งค์แล้ว ถือว่ารัฐบาลเศรษฐา กรุยทางให้ไปเยอะ
ประการแรก เมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้รับการโปรดเกล้าฯและถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้ว
ถือว่ารัฐบาลอิ๊งค์สามารถเดินหน้าได้ตามกฎหมาย
ประการสอง รัฐบาลเศรษฐา ได้จัดการเรื่องงบประมาณเอาไว้ให้แล้ว โดยวันที่ 3-5 กันยายน สภาจะโหวตงบประมาณปี’68 วาระ 2-3
ประการสาม รัฐบาลเศรษฐา กรุยทางบุคลากรเอาไว้ให้ เพราะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นพรรคเดิม กระทรวงเดิม ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเอาด้วย รัฐมนตรีเดินหน้าลุย อะไรต่อมิอะไรก็น่าจะไปได้
ประการสุดท้าย คือ ความเห็นของประชาชน ถ้าเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องแล้ว
ประชาชนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต่างเห็นด้วย
ที่เหลือก็เป็นการบริหารจัดการ ซึ่งเบื้องต้นดูจากปรากฏการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและภาคอีสาน
เมื่อ น.ส.แพทองธารโพสต์ข้อความห่วงใยประชาชน และออกไปเยี่ยมเยือนประชาชน
ปรากฏว่า รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดเศรษฐา ต่างบินลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
ถ้ารัฐมนตรีร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันนโยบายรัฐบาลอิ๊งค์ให้เหมือนกับการลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านสู้น้ำท่วมอย่างนี้
โอกาสจะได้เห็นผลงานของรัฐบาลเป็นรูปธรรมก็มีมาก
รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายออมาเป็นรูปธรรมได้ ประชาชนย่อมให้การยอมรับ
อะไรที่ประชาชนนิยม ราชการก็เต็มใจจะดำเนินการ
ข้าราชการช่วยทำให้ บรรดาอุปสรรคด้านกฎหมายที่ว่ายากก็จะมีคนช่วยกรอง
ขณะที่งบประมาณ และอำนาจตามกฎหมายมีอยู่แล้ว
ถ้าทำได้สำเร็จตามนี้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลสามารถเอาชนะอุปสรรค 4P ไปได้
ขอเป็นกำลังใจ
นฤตย์ เสกธีระ