‘วีระ’ กมธ.เสียงข้างน้อย ห่วงงบขาดดุลสร้างวิกฤตการคลังในอนาคต แนะคุมเข้มรายจ่าย 3 ปี เผยล่าสุดยังไม่ได้คืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยอีก 1 ล้านล้าน
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ปรับลด 7,824,398,500 บาท โดยเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรานั้น
ต่อมา เวลา 10.00 น. นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ขอตัดลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ลง 1.7 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจัดงบแบบขาดดุล และกู้เงินชดเชยงบประมาณ ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปี สร้างความวิตกกังวลให้กับฐานะการเงินการคลังประเทศในอนาคต ขณะนี้เรามีหนี้สาธารณะ ณ เดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 11.54 ล้านล้านบาท
คาดว่า ภายในสิ้นปี 2568 จะทะลุ 12 ล้านล้านบาท อาจถึง 13 ล้านล้านบาท ในอีก 3-5 ปี ถ้ารัฐบาลยังจัดงบแบบขาดดุล และกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จะมีปัญหาการเงินการคลังภาครัฐหนักหนาสาหัส ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีรายจ่ายประจำอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 9 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย 1.5 แสนล้านบาท โดยรายจ่ายประจำไม่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นตลอด เงินทุกบาททุกสตางค์ล้วนเป็นเงินกู้ ที่ต้องหาเงินต้น ดอกเบี้ยมาใช้คืนในอนาคต
“นี่คือสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤตในอนาคต แม้อ้างว่า การดำเนินการต่างๆ อยู่ในกรอบวินัยการเงิน การคลัง ทำตามกฎหมาย ก็นำไปสู่หายนะได้ ถ้าทำอย่างไม่ระวังรอบคอบ ขณะนี้รัฐบาลมียอดค้างชำระเงินต้น ดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 จำนวน 1.04 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันไม่รู้มีเท่าใด เพราะไม่มีการเปิดเผย เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย สถานะการเงินรัฐบาลในปัจจุบัน และอนาคต หากไม่ยับยั้งจะเกิดวิกฤตการคลัง” นายวีระกล่าว
นายวีระ กล่าวต่อว่า ตนมีข้อเสนอคือ 1.การจัดทำงบรายจ่ายตั้งแต่ปี 2569 ต้องทำงบแบบไม่เพิ่มวงเงินรายจ่ายอีกแล้ว อย่างน้อย 3 ปี จนกว่าความเสี่ยงทางการคลังจะลดลง เข้าสู่การบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม 2.งบรายจ่ายปี 2569 ต้องหยุดสร้างภาระการคลังในอนาคต ให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อน และให้รัฐชดใช้คืนภายหลัง รวมถึงการเร่งชำระเงินต้น ดอกเบี้ยคงค้าง 1 ล้านล้านบาท จนกว่าเงินต้นจะลดลง ถ้าไม่ทำอาจประสบภาวะวิกฤตการคลังในอนาคต