“วีระ” ชี้ปัญหาการจัดสรรงบ รัฐบาลซ่อนยอดชำระหนี้คงค้างรัฐวิสาหกิจ เตือนโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ส่อเพิ่มหนี้ก้อนใหม่ ด้าน”จุลพันธ์” ยันให้รอรบ.แถลงนโยบาย
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ปรับลด 7,824,398,500 บาท วาระที่ 2 เป็นวันที่สาม โดยก่อนเข้าสู่วาระที่ประชุมได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่
ต่อมา เวลา 14.05 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 28 งบประมาณรายจ่ายของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด และมาตรา 29 งบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ โดย นายวีระ ธีระภัทรานนท์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่สงวนความเห็น อภิปรายว่า ตนขอตัดงบ 10% คิดเป็นประมาณ 3.4 พันล้านบาท ซึ่งในชั้น กมธ.มีการตัดทอนลงไปอย่างมหาศาลอยู่แล้ว แต่ที่ตนตัดเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วย งบดังกล่าวเดิมรัฐบาลเสนอมา 6.9 หมื่นล้านบาท ในชั้น กมธ.ตัดทอนไป 3.5 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 3.4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้เรามีรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 52 แห่ง ได้กำไร 35 แห่ง มีรายได้ประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท มีกำไร 2.4 แสนล้านบาท นำส่งให้รัฐบาล
ล่าสุด เมื่อปี 2566 ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท แม้รัฐวิสาหกิจบางแห่งจะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นสถาบันการเงิน แต่รัฐบาลมีภาระผูกพันต้องชดเชยรายได้ที่รัฐวิสาหกิจเสียไปเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ และยังตัดลดรายการที่จะต้องให้รัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง เป็นเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อโยกไปเป็นงบกลางสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายวีระกล่าวต่อว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ว่า อัตราส่วนระหว่างยอดค้างชำระที่สถาบันการเงินออกให้ก่อน อยู่ที่ 32% ปัจจุบันกรอบดังกล่าวเพดานในการชดใช้เงินจะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท สถานะของยอดคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 1.004 ล้านล้านบาท หมายความว่าไม่ทะลุเพดาน แต่จำนวนค่อนข้างเยอะ ซึ่งการดำเนินการขณะนี้งบรายจ่ายรัฐวิสาหกิจ ถ้าหากเราจะบริหารจัดการแบบนี้อนาคตอาจเป็นปัญหาได้ เพราะส่วนหนึ่งอยู่ในรายการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล 4.1 แสนล้านบาทมาแฝงไว้ในงบรายจ่ายรัฐวิสาหกิจที่จะต้องจ่ายคืน ทำให้เราไม่รู้สถานะหนี้สินและภาระค้างจ่ายของรัฐบาลอย่างแท้จริง ดังนั้น ในอนาคตอยากให้สมาชิกลองทบทวนดูในการจัดทำงบประมาณปีต่อๆ ไป
นอกเหนือจากการแยกให้ชัดเจนระหว่างการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ เป็นรายจ่ายที่ไม่สามารถเพิกถอนเปลี่ยนแปลงได้ กับรายจ่ายที่ต้องดำเนินการสำหรับการค้างจ่าย ที่ค่อนข้างยืดหยุ่น แต่บางครั้งเป็นการยืดหยุ่นแบบไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ หากในอนาคตสามารถแยกออกมาเป็นรายการให้ชัดเจนก็คงดี
“รายการชำระหนี้คงค้างของรัฐบาลที่มีต่อรัฐวิสาหกิจที่ให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งต่อไปในอนาคตรัฐบาลมีโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ยอดหนี้จะเพิ่มมาอีกก้อน เพราะต้องมีการชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป และต้องมีการตั้งกองทุน หรือจัดระบบให้รัฐวิสาหกิจใดออกเงินไปแทนก่อน เหมือนที่ทำกับสถาบันการเงินอยู่ในขณะนี้ มันจะมาอีหรอบเดียวกัน ถ้าเราใช้โอกาสนี้ขยายให้เกิดผลในทางปฏิบัติ” นายวีระกล่าว
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ชี้แจงว่า การปรับเปลี่ยนงบประมาณในครั้งนี้เป็นส่วนงบประมาณของธนาคารในกำกับของรัฐมาเป็นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งทางสถาบันการเงินของรัฐเป็นผู้เสนอมา เพื่อให้สามารถชะลอการชำระหนี้สินบางส่วน และนำไปดำเนินการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของภาครัฐได้ ขอยืนยันว่าไม่กระทบต่อความมั่นคง หรือเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ซึ่งยังมีความแข็งแกร่งเหมือนเดิมในระดับที่สูงมาก
นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของกระทรวงคมนาคมในส่วนกรุงเทพฯนั้น เป็นภารกิจที่ต้องรอการแถลงนโยบายของรัฐใหม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องพึ่งพาการชดเชย และการใช้เงินของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะกลไกนี้ต้องผ่าน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม และกองทุนต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกที่เราสามารถกำหนดได้ เพื่อลดภาระที่จะเกิดกับงบประมาณรัฐให้ได้มากที่สุด และสุดท้ายก็คงจะต้องนำเข้าสภาเพื่อถกเถียงและหาข้อสรุปร่วมกัน
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก 277 ไม่เห็นด้วย 152 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง