ส.ส.รุมเขย่างบค่าอาหาร ที่เหลือทุกมื้อ ถูกชาวบ้านด่าตลอด ขณะที่ กมธ.แจง เล็งแก้ปัญหาให้ ส.ส.ใช้บัตรเติมเงิน วันละ 350 บาท
เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ปรับลด 7,824,398,500 บาท วาระที่ 2 เป็นวันที่สาม มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม
เวลา 17.00 น. เข้าสู่การพิจารณา มาตรา 30 หน่วยงานรัฐสภา ที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาปรับเพิ่มให้เป็น 4,000 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 3,626 ล้านบาท ทั้งนี้ นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ อภิปรายขอตัดงบ 0.01% เพื่อให้ได้สิทธิอภิปราย เพราะต้องการให้เพิ่มเงินของสภาเป็น 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีค่าดำเนินการทั้งในส่วนของกรรมาธิการคณะต่างๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้ นายพิเชษฐ์ ชี้แจงทันทีว่า สภารับมอบมาไม่ถึง 3 เดือน ต้องปรับปรุงทุกอย่างที่ใช้มา 5 ปี ยังไม่ได้ทำอะไร ดังนั้น ปีนี้ของบเพิ่ม เพราะต้องทำนุบำรุงจัดการสภา งบที่ได้มานิดหน่อยช่วงสภาชุดที่ 25 ไม่ได้ไปต่างประเทศ ทำให้ขยับงบได้ยาก กลุ่มมิตรภาพรัฐสภาปีนี้ต้องขยับ เนื่องจากปีที่ผ่านมาไม่มีเงิน กลุ่มมิตรภาพมาเยี่ยม แต่สภาเราไปไม่ได้ เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ได้งบน้อยมาก หลังถูกปฏิวัติหลายรอบ ถูกตัดตอน วันนี้มีประชาธิปไตยเบ่งบานก็พยายามจะสร้าง ส่วนรายละเอียดขอให้ กมธ.ชี้แจง
ขณะที่ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินท์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายให้ปรับลดงบของสำนักงานเลขาธิการสภา พร้อมกับหารือถึงการจัดที่จอดรถให้ ส.ส.ที่มีบางส่วนอยู่ใกล้ลิฟต์โดยสาร พบว่าที่จอดรถว่างตลอด ส่วน ส.ส.ที่มาเช้าต้องจอดรถไกล ดังนั้น ขอให้จัดระบบใหม่ ตรงไหนว่างให้จอด เคยเห็นคนทะเลาะกันเรื่องที่จอดรถหลายครั้ง มีคนที่มาเช้าจอดในช่องที่ไม่ใช่ของตนเองเพราะใกล้ลิฟต์ เมื่อเจ้าของช่องมาจอดแต่จอดไม่ได้ จึงจอดขวางและใส่เกียร์ไว้ ถือเป็นการใช้สิทธิจอดไม่ผิดแต่ต้องพิจารณา
“นอกจากนั้นในส่วนของค่าไปดูงานต่างประเทศขอให้ตัด ใครอยากไปให้ใช้เงินส่วนตัว และขอให้ยกเลิกค่าอาหารรับรอง ส.ส.และ กมธ. ผมไม่เดือดร้อน เพราะกินลาบ ก้อย จิ้มจุ่ม พวกผมเป็น ส.ส.จะเวียนกันไปซื้ออาหาร น้อยครั้งที่จะเข้าไปกิน ส่วนที่มีอาหารเหลือและให้เอากลับไปกิน ผมอาย ดังนั้น ขอให้ยกเลิกงบประมาณปีหน้าไป และควรพิจารณาจัดหาร้านอาหารต่างๆ มาตั้งเป็นตลาดเพื่อให้เลือกซื้อ” นายครูมานิตย์กล่าว
ทำให้ นายพิเชษฐ์ ชี้แจงว่า ตั้งแต่มีสภามาทุกอย่างมีเหตุและผล พัฒนามาเรื่อยๆ มาถึงวันนี้คิดว่าสิ่งที่คงอยู่พัฒนาต่อไป ช่วงที่ว่างเว้นจาก ส.ส. สภาเงียบเหงา หากเขามายึดก็เล็กลง หากมาจากเลือกตั้งก็เบ่งบาน ทุกอย่างมีเหตุมีผล
ด้าน นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า ประชาชนมักจะพูดว่า ส.ส.กินดีอยู่ดี เงินเดือนสูง แต่ค่าอาหารของ ส.ส.แต่ละปี ซึ่งเป็นค่าอาหารเลี้ยงรับรองในวันประชุม ตั้งแต่ปี 2566 และ 2567 ตั้งไว้ที่ปีละ 72 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายจริงไม่ถึง ปี 2566 ใช้แค่ 40 ล้านบาท และปี 2567 ใช้ไป 31 ล้านบาท ใช้ไม่หมด มีงบส่งคืนคลังทุกปี
นายกรุณพลกล่าวว่า ล่าสุดปีงบประมาณ 2568 ขอมา 72 ล้านบาทเหมือนเดิม แต่ กมธ.ตัดไป 15 ล้าน เหลือ 57 ล้านบาท ค่าอาหาร ส.ส.ในวันประชุมสภามี 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ถ้าวันใดประชุมสภาดึก ตั้งแต่เวลา 20.00-00.00 น. จะมีอาหารรอบดึกเพิ่มให้ ยิ่งถ้าประชุมเกิน 00.00 น. จะมีอาหารพิเศษเพิ่มหลังเที่ยงคืนให้อีก
“สรุปแล้วถ้าเป็นวันประชุมสภาปกติ ค่าอาหาร ส.ส.ต่อวันอยู่ที่ 5 แสนบาท ถ้าวันใดประชุมสภาเลิกดึก อยู่ที่ 7 แสนบาทต่อวัน เทียบกับค่าอาหารเจ้าหน้าที่จะได้เฉพาะมื้อเย็น เป็นอาหารกล่องอยู่ที่ 100 บาทต่อคน มี 930 คน หรือ 93,000 บาทต่อวัน แต่เท่าที่ดูจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานจริงๆ มีไม่ถึง 930 คน หาที่มาตัวเลข 930 คนไม่เจอ นอกจากนี้ ยังมีค่าอาหารรับรองการประชุมคณะกรรมาธิการตกปีละ 39 ล้านบาท ที่ผ่านมาประชาชนก่นด่าเรื่องอาหาร ส.ส.เต็มที่ ดังนั้น ถึงเวลาวางแผนเรื่องอาหาร ส.ส.ใหม่ ไม่ให้มีอาหารเหลือมากมาย เชื่อว่ามีวิธีจัดการให้อยู่ในงบประมาณอย่างเพียงพอ” นายกรุณพลกล่าว
ขณะที่ นายธเนศ เครือรัตน์ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า งบอาหาร ส.ส.ตกปีละ 72 ล้านบาท แต่ใช้จริงอยู่ที่ปีละ 30 ล้านบาท มีเหลือส่งคืนทุกปี ปีนี้ กมธ.ตั้งใจปรับลดค่าอาหาร ส.ส.ให้อยู่ที่ 40 ล้านบาทต่อปี แต่สุดท้ายปรับลดได้แค่ 15 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากต้องสำรองค่าอาหาร ส.ส.ไว้ในกรณีที่มีการประชุมสภาเพิ่มเติมในวันศุกร์ รวมถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าอาหาร ทราบว่าปีนี้จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาหลายครั้ง ทำให้ปรับลดได้แค่ 15 ล้านบาท
นายทรงยศ รามสูต กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า กมธ.ได้ทำข้อสังเกตแจ้งถึงวิธีลดค่าใช้จ่ายงบอาหาร ส.ส.ว่าควรเปลี่ยนเป็นวิธีใช้บัตรเติมเงิน มีวงเงินให้ ส.ส.ใช้วันละ 350 บาท นำไปซื้ออาหาร ถ้าใช้ไม่หมดก็ต้องจะคืนสภาในวันนั้น จะแก้ปัญหาลดค่าอาหาร ส.ส.ได้
หลังจาก ส.ส.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตราดังกล่าว