ทนายแจม หั่นงบศาล ‘กันต์พงษ์’ งง กกต.-อสส.งบอบรมสูงลิ่ว คิดว่ากิจการอบรมแห่งชาติ

ปชน.รุมถล่มงบศาล ‘ทนายแจม’ ขอตัดงบหลักสูตร นธป. จวกโครงการเหมือนงานรวมญาติ มีแต่นามสกุลเดียว ฟาก ‘ไอซ์’ ตัดงบสำรวจความเห็น แค่เปิดคอมเมนต์ก็ไม่ต้องมาของบแล้ว ข้องใจ กกต.-อัยการของบอบรมอื้อ

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ปรับลด 7,824,398,500 บาท วาระที่ 2 เป็นวันที่สาม มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม

เวลา 17.30 น. เข้าสู่การพิจารณามาตรา 31 หน่วยงานของศาล โดย น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายถึงหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) ของศาลรัฐธรรมนูญว่า ใช้งบประมาณ 8.8 ล้านบาท แต่เมื่อไปดูในตัวโครงการ ชาวบ้านเรียกว่าเป็นหลักสูตรคอนเน็กชั่นหลักสูตรหนึ่งซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดิน เมื่อดูตัวโครงการไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้เลย แต่สิ่งที่ทำกลับไม่ใช่เรื่องของนิติธรรม แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติธรรมเสียมากกว่า บางโครงการไปปฎิบัติธรรมไกลถึงอินเดียและเนปาล สรุปว่าเป็นหลักสูตรเพื่อประชาธิปไตย หรือไปปฏิบัติธรรมกันแน่

น.ส.ศศินันท์อภิปรายว่า นอกจากนี้ ยังเป็นหลักสูตรอบรมมากถึง 30% โดยในปี 2567 โครงการนี้ใช้งบประมาณไปแล้ว 3.9 ล้านบาท เพื่อการศึกษาดูงานคิดเป็น 53% ของงบประมาณทั้งปี แต่ละที่ที่ไปใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการบรรยาย ส่วนเวลาที่เหลือเน้นปฏิบัติธรรม แล้วจะใช้เวลาในการสร้างความรู้ได้สักกี่ชั่วโมง

Advertisement

น.ส.ศศินันท์อภิปรายต่อว่า เมื่อไปดูรายชื่อของศิษย์เก่าโครงการนี้ไม่ต่างจากงานสังสรรค์รวมญาติเลย หลายๆ รุ่นนามสกุลเดียวกันหมด เปลี่ยนแค่ชื่อเท่านั้น พ่อเรียนเสร็จ แม่เรียนต่อ แล้วลูกเรียนต่อ ขณะที่กองทัพมีตลอด รวมไปถึงกลุ่มนักการเมือง ซึ่งสองในสามของรายชื่อเป็นคนสำคัญของรัฐบาลและเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ด้วย ที่สำคัญประธานศาลก็ยังจบหลักสูตรนี้ และสามในเก้าท่านก็เป็นตุลาการที่มาจากหลักสูตรเดียวกันด้วย ทั้งนี้ หลักสูตรระดับสูงเหล่านี้ไม่ควรมีอยู่ในองค์กร หรือหน่วยงานใดๆ ที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือและความเป็นกลาง ดังนั้น จึงอยากขอตัดลบงบประมาณโครงการนี้ทั้งหมด เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นกลางให้กับศาลได้ทำหน้าที่ตุลาการอย่างเป็นอิสระ

ด้าน น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม.อภิปรายว่า ศาลรัฐธรรมนูญของบประมาณโครงการสำรวจความเชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ วงเงิน 1 ล้านบาทผ่านทางออนไลน์ เพื่อสำรวจความเห็นประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไปตรวจสอบเฟซบุ๊กศาลรัฐธรรมนูญกลับปิดคอมเมนต์ ไม่ให้แสดงความคิดเห็นได้ แต่กลับมาของบ 1 ล้านบาท เพื่อสำรวจความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ เป็นการของบย้อนแย้งกับการกระทำหรือไม่ ทั้งนี้ การสำรวจความเห็นประชาชนไม่จำเป็นต้องของบแม้แต่บาทเดียว แค่เปิดคอมเมนต์ให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นก็ได้แล้ว

Advertisement

จากนั้นเวลา 18.40 น. เข้าสู่การอภิปรายมาตรา 32 หน่วยงานขององค์กรอิสระและอัยการ โดย นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาชน อภิปรายตั้งข้อสังเกตงบประมาณของ กกต.และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีงบอบรมรวมกันสูงถึง 425 ล้านบาท เป็นงบอบรมของ กกต. 256 ล้านบาท ใน 3 ด้านคือ ด้านการเลือกตั้ง ด้านสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย และด้านประชาธิปไตย ขณะที่อัยการสูงสุดมีงบอบรม 168 ล้านบาท ดูแล้วใช้งบอบรมมากเกินไป นำ 2 องค์กรมารวมกันเรียกว่าเป็นกิจการอบรมแห่งชาติ

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ขอตั้งข้อสังเกตการทำงานของ กกต.เรื่องการชี้มูลให้ใบเหลือง ใบแดงไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมาที่ประชาชนจับจ้องอยู่ ต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ใครทำผิดต้องได้รับโทษ

จากนั้นที่ประชุมให้ความเห็นชอบตามกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image